เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ขณะนี้งบประมาณต่างๆ กำลังลงไปสู่ชุมชนจนอาจจะสำลักกันแล้ว นอกจากที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยคนละ 1,500-3,000 บาท รอบแรก กำลังเตรียมรอบสอง ยังมีงบประมาณลงหมู่บ้าน 250,000 บาท และเตรียมรอบต่อไปอีก ยังกองทุนหมู่บ้านที่เติมลงไปหลายครั้ง ไม่รวมงบภัยแล้ง ภัยหนาว น้ำท่วม งบช่วยเหลือการเลิกทำนาไปปลูกอย่างอื่น รวมที่ผ่านกระทรวงต่างๆ และที่สำคัญวันนี้คือการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐโดยการนำของหอการค้าที่กำลังเสนอ 1,000 โครงการมูลค่า 8.3 หมื่นล้าน เห็นบอกว่า นี่เป็นเพียงล็อตแรก อีกมากคงตามมา ลงไปชุมชนจังหวัดต่างๆ มักพบคำถามเดียวกันว่า จะทำอะไรดี ด้วยเงื่อนไขของเวลาที่เร่งรัดให้ใช้จ่ายงบประมาณ และความไม่พร้อม ไม่มีแผนล่วงหน้า จังหวัดต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะทำอะไรที่ทำแล้ว กำลังทำอยู่ แม้ว่าจะซ้ำซ้อน เพราะนึกไม่ออกว่าจะทำอะไรใน “กรอบ” ที่รัฐบาลให้มา ที่เป็นเช่นนี้เพราะที่ผ่านมา ชุมชนไม่มี “แผนแม่บท” การพัฒนาตนเอง ไม่ได้ทำข้อมูลที่นำไปสู่การทำแผนแบบพึ่งพาตนเอง มีแต่ทำโครงการเพื่อของบประมาณจากรัฐ เมื่อไม่มีข้อมูลพื้นฐานโดยละเอียดของชุมชน ก็จะสรุปเอาแบบรีบด่วนว่า ควรทำอะไร ควรสร้างอะไร นึกไม่ออกก็เลยเกณฑ์คนไปตัดหญ้าริมถนนเพื่อให้งบประมาณหมดก็มี เพราะตัดได้ทุกเดือน ถ้าชุมชนมีข้อมูลแบบ “ฐานข้อมูลใหญ่ของชุมชน” (BCD : Big Community-Data) ก็วางแผนพัฒนาตนเองได้ เมื่อไม่มีจึงได้แต่เลียนแบบโครงการชุมชนอื่น หรือคิดเองง่ายๆ เพราะคนตัดสินใจมีส่วนได้เสีย งบประมาณที่ลงไปก็มีข้อดีในส่วนที่ไปเสริมไปเติมเต็ม ไปขยับขยายโครงการดีๆ ที่ทำกันอยู่ เช่น ที่จังหวัดนครพนม มีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์ 28 กลุ่ม มีพื้นที่ผลิตข้าวอยู่ 20,000 ไร่ ทำงานได้ดี ผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพดีไม่พอขายทั้งในและต่างประเทศ มีเครือข่ายนครพนม สกลนคร มุกดาหาร มีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน และอื่นๆ อีกหลายเครือข่าย หลายกลุ่มที่มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ก่อตัวเป็น “ฐานเจดีย์” คือระบบเศรษฐกิจของประเทศที่มั่นคงเพราะฐานรากที่มั่นคง แล้วกลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่แข็งแรงจะส่งเสริมอย่างไร รัฐบาลน่าจะถามมหาวิทยาลัยของรัฐที่ใช้งบประมาณแผ่นดินเงินภาษีอากรของราษฎรปีหนึ่งหลายแสนล้านว่า ลงไปทำอะไรเพื่อช่วยเหลือ “เศรษฐกิจฐานราก” บ้าง อย่างมหาวิทยาลัยที่มีเขียนไว้ในบรรทัดแรกๆ ของพรบ.ว่าเป็น “สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ได้ทำอะไรเพื่อท้องถิ่นบ้าง มีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง มหาวิทยาลัยราชมงคลและมหาวิทยาลัยที่อยู่ในภูมิภาค ในจังหวัดต่างๆ อีกทุกจังหวัดอีกกว่า 40 แห่ง ไม่ตั้งอยู่เองก็มีวิทยาเขต มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมไปทั่ว มีคำถามว่า สถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้มีบทบาทอะไรในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มหาวิทยาลัยไปช่วยอะไรชาวไร่ชาวนาบ้าง มีการเรียนการสอนเรื่องการบริหารจัดการ การผลิต การตลาด การแปรรูป วิชาการเหล่านี้ช่วยให้การเกษตรบ้านเมืองนี้เจริญพัฒนากว่านี้ได้อย่างไร ราคาข้าวตกต่ำที่ผ่านมามหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่ทำได้แค่ให้พื้นที่ชาวนาไปขายข้าวให้อาจารย์นักศึกษาหรือ ถ้าหากอาจารย์ยังสอนหนังสือ นักศึกษายังท่องหนังสือแบบโบราณเมื่อร้อยปีที่แล้ว เรียนจบก็สมัครงานที่ไหนไม่ได้ เพราะความรู้ความสามารถไม่พอ ไม่ตรงกับที่สังคมต้องการ แล้วเรายังส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาแบบนี้ด้วยงบประมาณมากมายมหาศาลทุกปีไปเพื่ออะไร ขณะที่รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ ทุ่มงบประมาณลงไปมากมาย จะไม่กลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปหรือ เพราะการแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาหนี้สิน การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนคงใช้เงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้ “ปัญญา” ซึ่งมากับ “คน” ที่มีความรู้ความสามารถ มีหลักคิดหลักการ มีปัญญา สถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นต้องทุบกำแพงห้องเรียนออก ไปสู่ชุมชน ไปเรียนรู้ในชุมชน เอาเรื่องชุมชนมาเรียน เรียนร่วมกับชุมชน พัฒนาร่วมกับชุมชน ไปเสริมไปเติมเต็มในส่วนที่ชุมชนยังไม่รู้ ไม่พร้อม แทบทุกมหาวิทยาลัยมีคณะหรือภาควิชาบริหารจัดการ เรียนหนังสือกันทั้งนั้น ไม่ได้เรียนรู้ว่า ชุมชนในจังหวัดที่ตนเองตั้งอยู่เขามีอะไรให้เรียน ให้ไปช่วยพัฒนา ไม่ว่าสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มต่างๆ ล้วนแต่ต้องการความช่วยเหลือทางวิชาการทั้งนั้น แต่ต้องเหมาะสม ไม่ใช่เอาอะไรที่แปลกปลอมไปยัดเยียดให้ มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นไม่มีฐานข้อมูลแบบ Big-Data จะพัฒนาได้อย่างไร คณะเกษตรเรียนเรื่องสหกรณ์ในห้องเรียน ในหนังสือ โดยไม่มีความรู้จริงจากประสบการณ์การลงไปคลุกคลีและช่วยเหลือสหกรณ์ต่างๆ สหกรณ์ 100 ปีจึงยังเป็นอยู่อย่างที่เห็น เรียนเรื่องวิหสาหกิจชุมชนในหนังสือ จึงไม่รู้ว่าวันนี้วิสาหกิจชุมชน 80,000 กลุ่มทำอะไรและมีปัญหาอะไร มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างไร รัฐบาลตั้งปณิธานการพัฒนาประเทศไปสู่ 4.0 ถ้าไม่มีรากฐานการศึกษาที่ดี ไม่มีพลังปัญญาในการขับเคลื่อน ประเทศไทยก็คงไปไม่ถึงไหนประเทศสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ แต่พัฒนาประเทศไปถึงไหนนานแล้ว เพราะเน้นพัฒนาการศึกษา พัฒนาคนมานานจนขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งของโลก ประเทศไทยโชคดีที่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก แต่โชคร้ายที่มีระบบการศึกษาที่ล้าหลัง