ทางเสือผ่าน/แสงไทย เค้าภูไทย ค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทต่อวันที่ว่าที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐนำเสนอนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่ว แม้แต่หลวงพ่อพะยอม กัลยาโน ก็ยังเอ่ยถึง ค่าแรงขั้นต่ำในรัฐบาลชุดนี้ ขึ้นเมื่อ จากวันละ 310 บาทเป็น 325 บาทเมื่อปลายปีที่แล้วยังผลให้อัตราเงินเฟ้อขยับ สินค้าอุปโภค บริโภคแพงตาม การที่ราคาสินค้าแพงตามค่าจ้างแรงงานก็เพราะค่าจ้างเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญตัวหนึ่ง นอกเหนือจากวัตถุดิบ ค่าเช่า พลังงานฯลฯ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งหลังสุดส่งผลกระทบรุนแรงไม่น้อยในหลายภาคส่วนการผลิต โดเฉพาะอุตสาหกรรมยางและน้ำมันปาล์ม เพราะสินค้าทั้งสองไม่สามารถขึ้นราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากราคาตกต่ำ มีการประเมินผลกระทบว่า หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด 41% เช่นนี้ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นต่อการยังชีพ ยกตัวอย่างอาหารปรุงสำเร็จเช่นข้าวแกง ก๋วยเตี่ยว จะต้องขึ้นไปถึงจาน/ชามละ + 10 บาทจากราคาปัจจุบัน อย่างจาน/ชามละ 35-40-50ก็จะเป็น 40-50-60 บาท การขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในช่วง 10 ปีมานี้ ในช่วงที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นเป็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทที่คงอัตรายาวนานที่สุด คือจาก พ.ศ. 2555 จนถึง 2559 รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงขึ้นเป็น 325 อัตรา 300บาทต่อวันมิได้หมายถึงเท่ากันทั้งประเทศ บางพื้นที่ที่อัตราค่าครองชีพสูงเช่นกรุงเทพฯ พัทยา ภููเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ ก็เป็น 308-330 บาทต่อวัน ค่าครองชีพนั้น บางทีก็วัดด้วยราคาข้าวแกง เป็น Kao Kaeng Index อย่างลพบุรี อาจจะจานละ 20-25บาท ปทุมธานีเมืองอุตสาหกรรมมีการจ้างงานมาก ก็อาจจะ 30-35 บาท ดัชนีข้าวแกงจึงถือเป็นตัวชี้วัดภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและภาวะเศรษฐกิจระดับฐานรากของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เมื่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำเปลี่ยนแปลง ดัชนีข้าวแกงก็แปรตาม เพราะต้นทุนผลิตข้าวแกงสูงขึ้น ไหนจะเนื้อสัตว์ น้ำมันปรุุงอาหาร กะทิ กะปิปรุงน้ำพริกแกง ฯลฯ เป็นห่วงโซ่ของการผลิต คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วมากกว่าสัดส่วนที่ขึ้นค่าแรง ค่าจ้าง อย่างอัตราที่สัญญาไว้ตอนหาเสียง 425 บาทนั้น จะขึ้นมาจาก 300 บาทถึง 41% แต่ราคาข้าวแกงกลับขึ้นไปกว่า 45% เพราะไม่ได้ขึ้นกันครั้งละ1-2 บาท หากแต่ใช้หลัก 5 หลัก 10 เป็นเกณฑ์บันไดราคา ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ช่วงใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ปีที่เริ่มใช้พ.ศ. 2555 นั้นอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปถึง 3.02% จนถึงปี 2559 จึงลงมาอยู่ที่ 0.19% ปี 2560 ปีแรกที่ปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทเป็น 310 บาท อัตราเงินเฟ้อขยับเป็น 0.66% ปี 2561 ขึ้นค่าแรงเป็น 325 บาท เงินเฟ้อขึ้นไปถึง 1.07% การขึ้นค่าแรงมิได้หมายความว่าลูกจ้างแรงงานจะได้รายได้เพิ่มขึ้นเหมือนกันทั้งหมด ทั้งประเทศ บางโรงงาน ห้างร้าน ขึ้นค่าจ้างตามประกาศของรัฐบาลก็จริง แต่กลับไปลดค่าใช้จ่ายกับลูกจ้างทางอ้อมแทน เช่นลดการทำงานล่วงเวลา ลดสวัสดิการ ด้านต่างๆ ที่ร้ายกว่านัันก็คือ ปิดโรงงาน หรือหันไปจ้างแรงานต่างด้าวเถื่อน ที่ไม่เกี่ยงค่าแรง ในด้านการลงทุน การขึ้นค่าแรงสูงๆ จะทำให้โรงงานหันมาใช้เครื่องจักรอัตโนมัติกันมากขึ้น แทนที่การจ้างคนทำงาน ในยุคอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เครื่องจักร เครื่องยนต์อัตโนมัติ ในรูปแบบของหุ่นยนต์ขณะนี้เข้าไปแทนที่แรงงานมนุุษย์ไปทั่วโลก นิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่ระเบียงเศรษฐิจตะวันออกหรือ EEC ที่กระจุกตัวการลงทุนถึง 50% เงินทุน 75% ของประเทศนั้น จะมีการใช้หุ่นยนต์กว่า 60% ของแรงงาน โดยมีการจ้างงานคนไทยราว 40% เท่านั้น อัตราเงินเฟ้อที่เติบโตตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปสกัดกั้น กนง.ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% มาเป็นเวลา 84 เดือนหรือ 7 ปี จนถึงธันวาคมศกที่แล้ว จึงได้ขึ้นเป็น 1.75% ดอกเบี้ยเป็นต้นทุนอีกตัวหนึ่ง ที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าค่าจ้างแรงงานและต้นทุนอื่นๆ มีเสียงเรียกร้องให้ใช้สวัสดิการรัฐ สวัสดิการสังคม สวัสดิการสุขภาพ การประกันราคาพืชผล ผลผลิตแทนการขึ้นค่าจ้าง แต่ดูเหมือนการช่วยหลือคนรากหญ้าด้านนี้จะไม่จูงใจ โดนใจคนมาลงคะแนนเสียงเท่ากับการให้เป็นตัวเงิน เม็ดเงินที่เห็นกันชัดๆ แต่มากเกินไป ทำไม่ได้แบบนี้ ถือว่าเข้าข่ายขายฝัน ฝันกลางวันแสกๆ