ตะเกียงเจ้าพายุ/ทวี สุรฤทธิกุล เช้านี้เราคงทราบผลเลือกตั้งกันคร่าวๆ แล้ว เนื่องจากว่าบทความนี้เขียนขึ้นล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้ง จึงไม่ขอไปพูดถึงว่าการเลือกตั้งจะมีผลออกมาอย่างไร แต่อยากจะให้ดูว่านักการเมืองเขาจะทำอะไรกันต่อไป โดยเปรียบเทียบกับที่พวกเขาเคยพูดไว้ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะไม่แตกต่างกับการเลือกตั้งที่เคยมีมาทุกครั้ง คือมักจะมีอะไรที่ผิดคาดไปในทางตรงกันข้าม อย่างที่เรียกว่า จากหน้ามือเป็นหลังมือ นั่นก็คือ ก่อนเลือกตั้งมีการตกลงหรือพูดคุยกันไว้อย่างหนึ่ง แต่พอเลือกตั้งเสร็จก็แปรเปลี่ยนคำพูดนั้นไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง โดยอาชีพของผู้เขียนที่สอนวิชารัฐศาสตร์ จึงไม่อาจจะหลีกเลี่ยงที่จะให้ความสนใจในความเคลื่อนไหวต่างๆ ทางการเมืองได้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน นอกจากที่ผู้เขียนจะได้รับเชิญไปให้ความคิดเห็นทางสื่อต่างๆ เพื่อวิเคราะห์การเลือกตั้งครั้งนี้ในแง่มุมต่างๆ แล้ว ผู้เขียนยังต้องคิดวิเคราะห์เพื่อประโยชน์ทางวิชาการที่ผู้เขียนสนใจ นั่นคือ สาระ ที่ได้จากการเฝ้าสังเกตการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งในบทความวันนี้จะพูดถึงเรื่อง สันดาน ของนักการเมืองไทย(ส่วนใหญ่)ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ เพื่อที่จะเอาชนะการเลือกตั้งก็จะทำไปได้ทุกท่า ในทำนองเดียวกันกับเพื่อที่จะให้ได้เป็นรัฐบาลก็จะไม่สนใจศีลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ตลอดหลายวันก่อนที่จะถึงวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม ผู้เขียนเฝ้าติดตาม คำมั่นสัญญา และ ท่าที ของบุคคลต่างในพรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่สื่อไปขอสัมภาษณ์บ้าง ให้มาดีเบต โต้คารม กันบ้าง พอจะจับใจความในภาพรวมได้ว่า นักการเมืองไทยยังคงมีอุดมการณ์ เพียงหนึ่งเดียวเหมือนกัน คือ อยากเป็นรัฐบาล ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นแม้จะมองเห็นว่าพรรคต่างๆ รุมตีพรรคคู่แข่ง ยื้อแย่งคะแนนนิยม ข่มขวัญคู่ต่อสู้ แต่ทั้งหมดทุกพรรคก็เพียงแค่สร้างภาพ ให้ดูดี เพื่อเอาใจกองเชียร์เป็นหลัก เริ่มจากพรรคพลังประชารัฐ ทันทีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคนี้ ก็ดูเหมือนจะมีคะแนน พุ่งกระฉูด แต่พอพลเอกประยุทธ์ดูไม่ค่อยทุ่มเท ไม่ขึงขังจริงจังกับการช่วยพรรคนี้หาเสียงเท่าไร คะแนนก็เลยไม่ พุ่งปรี๊ด อย่างที่หลายคนคาดหวัง แม้ในตอนท้ายจะโหมสร้างกระแสว่า แม้หวังตั้งสงบ จงมาคบพลเอกประยุทธ์ ก็ดูเหมือนเป็นการใช้ ความอ่อนแอ ออกมาอ้อนประชาชน ซึ่งดู ไม่แมน พอที่จะเป็นที่พึ่งในอนาคตได้ แต่ถ้านิสัย ขี้สงสาร ของคนไทยออกฤทธิ์ ร่วมกับความต้องการที่จะเห็นบ้านเมืองสงบราบคาบด้วยการควบคุมของกองทัพ คะแนนของพรรคนี้ก็อาจจะ ถล่มทลาย ได้ ส.ส.มาเป็นจำนนมากก็เป็นได้ พรรคต่อมาคือพรรคเพื่อไทย ที่ตามโพลล์ต่างๆ คาดการณ์ว่าจะได้ ส.ส.เข้ามาเป็นจำนวนมากที่สุด เพราะมีฐานคะแนนแข็งแรงในหลายๆ พื่นที่ แต่ด้วยท่าทีที่ ไม่เอาประยุทธ์ อย่างแข็งกร้าว รวมถึง ความกร่าง ของว่าที่ ส.ส.หลายคนในพรรคนี้ ที่จะทำให้ฐานะของรัฐบาลไม่มั่นคง อาจจะทำให้ กินแห้ว คือโดนพรรคอื่น เท ไม่อยากร่วมรัฐบาลด้วย จึงน่าจะเป็นพรรคที่มีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลน้อย เช่นเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่อาจจะเข้ามาเป็นอันดับสอง (หรืออาจจะได้ ส.ส.มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ) ที่มีคะแนนเสียงในตอนท้ายดีขึ้นจากการประกาศ ไม่เอาประยุทธ์ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เพราะทำให้แฟนคลับได้เห็นถึงความชัดเจนในจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ แต่พอมีผู้บริหารคนอื่นๆ ของพรรคออกมา อ้อล้อ พลิกลิ้นเป็นว่าอภิสิทธิ์พูดไปเพียงคนเดียว ก็ทำให้ชักจะไม่ค่อยแน่ใจว่าพรรคประชาธิปัตย์นี้จะเอาอะไรกันแน่ ซึ่งถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ก็จะต้องยอมรับในตัวนายกฯที่ชื่อประยุทธ์ แล้วคุณอภิสิทธิ์จะเอาหน้าไปไว้ไหน และพรรคประชาธิปัตย์จะอยู่กันต่อไปอย่างไร เราคงไม่อาจจะไม่พูดถึงพรรคการเมืองที่มาแรงอีกพรรคหนึ่งไปได้ นั่นคือพรรคอนาคตใหม่ ที่หลายคนคาดหวังว่าน่าจะได้ ส.ส.มามากพอสมควร และน่าจะเป็น ตัวแปรสำคัญ ในการจัดตั้งรัฐบาลของฝ่ายที่ไม่เอาลุงตู่ แต่นั่นแหละด้วยท่าทีอันแข็งกร้าวของพรรคการเมืองพรรคนี้ พรรคเหล่านั้นจึงต้อง คิดหนักมาก ในการที่จะขอความร่วมมือกับพรรคการเมืองพรรคนี้ เว้นแต่พรรคอนาคตใหม่จะ เปลี่ยนท่าที ซึ่งผู้เขียนว่าคงจะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ไม่ใช่เฉพาะแต่พรรคอนาคตใหม่ แต่คือพรรคการเมืองทุกพรรค หลังการเลือกตั้ง ทันทีที่เห็นจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคมีแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น รู้ว่าพรรคใดได้ ส.ส. มากน้อยเป็นลำดับต่างๆ ถ้ามีการไปสัมภาษณ์ผู้นำของแต่ละพรรคดังกล่าว เราจะได้เห็นท่าทีที่ อ่อนน้อม หรือ ลดความร้อนแรง ลงไปอย่างมาก แน่นอนว่าหลายคนคงจะตอบว่า ขอเวลาไปคุยกันในพรรคก่อน แต่นั่นแหละนั่นคือการส่งสัญญาณว่า เราจะเข้าร่วมรัฐบาลได้อย่างไรผู้นำของพรรคเหล่านี้เมื่อก่อนที่จะถึงวันลงคะแนนเสียง อาจจะพูดจา กราดเกรี้ยวขึงขัง แต่พอหลังเลือกตั้งแล้วเชื่อได้อย่างแน่นอนว่าจะ สงบนิ่งเหมือนแมวนอนหวด พลิกบทบาทจาก หน้ามือเป็นหลังมือ ไปเลยทีเดียว ผู้เขียนยังเชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เป็น ไฟต์บังคับ คือจำเป็นจะต้องทำให้มีรัฐบาล เกิดขึ้นให้ได้ เพียงแต่อาจจะมีความยุ่งยากและใช้เวลาในการจัดตั้งมากหน่อย หรืออาจจำเป็นที่จะต้องมีการใช้ อำนาจพิเศษ เพื่อ ขอร้อง ให้พรรคต่างๆ มารวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ อย่างที่ผู้เขียนเรียกว่า รัฐบาลในภาวะพิเศษ เพราะถ้าตั้งรัฐบาลไม่ได้ เราอาจจะได้รัฐบาลที่ไม่เพียงจะคิดสืบทอดอำนาจ แต่อาจจะได้ รัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ปกครองประเทศนี้ตลอดไป อาจจะมองโลกไม่สวย แต่อะไรก็เป็นไปได้ในการเมืองไทย