ทวี สุรฤทธิกุล รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นนักประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทรงมีพระราชปณิธานว่าจะต้องทำนุบำรุงประเทศชาติให้อยู่รอดปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองอย่างถึงที่สุด โดยที่ทางการเมืองการปกครองก็ทรงมีอุดมการณ์มุ่งหวังจะให้ประเทศไทยมีความเป็น “ศิวิไลซ์” (จากคำภาษาอังกฤษว่า Civilize ที่ราชบัณฑิตท่านแปลว่า อารยะ หรือความเจริญรุ่งเรือง) ด้วยการนำระบอบการปกครองของประเทศในยุโรปมาใช้กับประเทศไทย เพียงแต่ว่าทรงเก็บซ่อนพระราชประสงค์นี้ไว้ภายใน แต่ก็ได้พยายามปรับปรุงบ้านเมืองให้มีความพร้อม โดยเฉพาะในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางที่เป็นชนชั้นปกครอง และในส่วนของราษฎรนั้นก็ทรงเตรียมการด้วยระบบการศึกษา ที่ทรงปรารถนาให้ประชาชนคนไทยมีความรู้อย่างทั่วถึง “ความศิวิไลซ์ก็จะบังเกิดขึ้นได้โดยง่าย” ดังที่ได้เล่ามาแล้วว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 กระแสความนิยมตะวันตกได้เกิดขึ้นโดยทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางเท่านั้น แต่ยังมีราษฎรทั่วไปที่ให้ความสนใจและ “ใฝ่รู้” ในเรื่องเหล่านี้อยู่ด้วย ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งมีชื่อว่า “เทียนวรรณ” (เป็นชาวบ้านบางขุนเทียน จังหวัดพระนคร ชื่อจริงว่า เทียน วัณณาโภ เกิด 2385 ตาย 2458) ได้ศึกษาวิชากฎหมายด้วยตนเอง หลังจากบวชเรียนแล้วใน พ.ศ. 2411 ได้ลงเรือของฝรั่งที่มาค้าขายกับไทยท่องเที่ยวไปในหลายๆ ประเทศอยู่หลายปี จากนั้นก็กลับมาเขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของบ้านเมืองในทำนองอยากจะให้มีความเจริญตามแบบประเทศเหล่านั้น รวมถึงประเทศญี่ปุ่นที่เทียนวรรณบอกว่าตั้งแต่ที่เปลี่ยนมาเป็นฝรั่งเพียง 6๐ ปีก็เจริญรุ่งเรืองเท่าฝรั่งแล้ว (เข้าใจว่าจะเป็นญี่ปุ่นในสมัยจักรพรรดิเมจิซึ่งทรงพัฒนาประเทศเนื่องจากถูกฝรั่งบีบบังคับให้เปิดประเทศและค้าขาย ถ้าใครดูหนังฝรั่งเรื่อง The Last Samurai ที่ทอม ครูซ เล่นเป็นซามูไรฝรั่งก็จะได้เห็นบรรยากาศของญี่ปุ่นในยุคนั้น) ใน พ.ศ. 2425 เทียนวรรณถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นตราพระราชสีห์ ซึ่งเท่ากับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกโบยและจำคุกอยู่ 17 ปี ระหว่างนั้นก็ยังคงเขียนเรื่องราวต่างๆ ออกมาเผยแพร่อยู่เป็นระยะ จนได้รับอิสรภาพใน พ.ศ. 2442 เมื่ออกมาแล้วได้มาตั้งหนังสือพิมพ์รายปักษ์ชื่อ “ตุลวิภาคพจนกิจ” (ที่ผู้เขียนขอแปลว่า “เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับควายุติธรรม” จนถึง พ.ศ. 2449 และใน พ.ศ. 2451 ก็มาออกหนังสือพิมพ์รายเดือนอีกฉบับหนึ่งชื่อ “ศิริพจนภาค” (น่าจะแปลได้ว่า “เรื่องเกี่ยวกับสิ่งดีๆ ต่างๆ”) โดยมีเนื้อหาวิภาควิจารณ์ความล้าหลังทางสังคมและวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ของคนไทย รวมถึงเสนอแนะให้มีการปรับปรุงพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน โดยเขียนในแนวของผู้ที่รักและปรารถนาดีต่อชาติ จึงมีนักวิชาการให้ข้อสรุปว่า เทียนวรรณคือนักคิดแนวชาตินิยมคนแรกๆ ของไทย ทางด้านการเมืองการปกครองนั้น เทียนวรรณได้เสนอความคิดไว้ในข้อเขียนเรื่อง “ว่าด้วยความฝันละเมอแต่ไม่ใช่นอนหลับ” ว่า “จะตั้งปาลิเมนต์ อนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนแก่รัฐบาลได้ ในข้อที่มีคุณและโทษทางความเจริญและไม่เจริญนั้นๆ ได้ ตามเวลาที่กำหนดอนุญาตไว้ ในความฝันที่เราฝันมานี้ ในชั้นต้นจะโหวตเลือกผู้มีสติปัญญาเป็นขั้นแรกคราวแรกที่เริ่มจัด ให้ประจำการในกระทรวงทุกอย่างไปก่อน กว่าจะได้ดำเนินการให้เป็นปรกติเรียบร้อยได้” ขอย้อนไปกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางเกี่ยวกับความคิดในอันที่จะให้มีการ “ปรับปรุงบ้านเมือง” ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนก่อนๆ ว่า ในกลุ่ม “สยามหนุ่ม” ที่นำโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็มีแนวคิดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบรัฐสภา(ที่เทียนวรรณใช้คำศัพท์มาจากภาษาอังกฤษว่า “ปาลิเมนต์” – Parliament) อยู่ด้วยเช่นกัน นี่นก็คือกรณีที่มีคณะบุคคลอันประกอบด้วยเจ้านายและข้าราชการจำนวนหนึ่งที่รับราชการอยู่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถวาย คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ที่เรียกสั้นๆ ว่า “คำกราบบังคมทูล ร.ศ. 1๐3” ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2427 ในปีที่รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์มาได้ 16 ปี สาระสำคัญของคำกราบถวายบังคมฉบับนี้มีอยู่ 3 ข้อ คือ 1. ภัยอันตรายจะมาถึงบ้านเมือง เนื่องจากการปกครองในขณะนั้น 2. การที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตราย ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงบำรุงรักษาบ้านเมืองแนวเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นได้ทำ ตามแนวการปกครองของประเทศในยุโรป 3. การที่จะจัดการตามข้อ 2. ให้สำเร็จ ต้องลงมือจัดให้เป็นจริงทุกประการ ผู้ลงนามเป็นคนแรกในหนังสือกราบบังคมทูลฉบับนี้ก็คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวร์วรฤทธิ์ (เดิมชื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานทุนให้ไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ เป็นรุ่นแรก ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการอีกจำนวนหนึ่ง จากนั้นคนเหล่สนี้ก้ได้ออกไปรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ทั้งในและนอกประเทศ เป็น “พระราชพลังของแผ่นดิน” ที่สำคัญมาตั้งแต่ยุคแรกๆ นั้น นักประวัติศาสตร์จึงเชื่อว่าคำกราบบังคมทูลดังกล่าว พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 “น่าจะทรงรู้เห็นเป็นใจ” อยู่ไม่มากก็น้อย มิฉนั้นบุคคลเหล่านี้ก็คงจะไม่กล้าถวายคำกราบบังคมทูลในเรื่อง “คอขาดบาดตาย” ดังกล่าว ด้วยต้องเกรงในพระราชอาญาถึงขั้นกบฏและล้มล้างการปกครอง ความละเอียดเรื่องนี้ขอยกไปกล่าวในฉบับต่อไป สวัสดีปีใหม่ด้วยครับ