ทวี สุรฤทธิกุล มุมมองที่ผิดนำมาซึ่งการแก้ปัญหาที่ผิด ผู้เขียนไม่อยากจะกล่าวถึงการ แถลงข่าวŽ ของท่านผู้บัญชาการทหารบกเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ผ่านมาเท่าใดนัก แต่พอนึกถึงเหตุการณ์ วัยรุ่นเดือดŽ ในคราวเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ก็อดที่จะเป็นห่วงบ้านเมืองไม่ได้ โดยเฉพาะ การปะทะกันทางความคิดŽ ของ คนรุ่นเก่าŽ กับ คนรุ่นใหม่Ž ซึ่งต้องแยกเรื่องของ ความรักอนาคตŽ ออกจาก ความสงบเรียบร้อยŽ การโค่นล้มเผด็จการทหารโดยขบวนการนิสิตนักศึกษา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ใช้ชื่อของนายทหารยุคนั้นมารณรงค์อย่างดุเดือด โค่นล้ม 3 ทรราช ถนอม ณรงค์ ประภาสŽ ซึ่งใช้เวลาเพียง 5 วันในการรณรงค์ เริ่มจากการชุมนุมที่ลานโพธิ์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2516 แล้วสิ้นสุดลงด้วยการจลาจลในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนทำให้ 3 ทรราชŽ ต้องระเห็จไปนอกประเทศ ก็เป็นเพราะทหารประเมิน พลังของคนรุ่นใหม่Ž ต่ำจนเกินไป ด้วยคิดว่าคนเหล่านี้จะกลัวทหาร แถมยังดูแคลนว่าพวกเขาถูกปลุกปั่นยุยง ทำให้ต้องมานึกเทียบเคียงกับปรากฏการณ์ อนาคตใหม่ฟีเวอร์Ž ที่ได้ปลุกกระแสคนรุ่นใหม่ให้ตื่นตัวอย่าง น่าตกใจŽ โดยเฉพาะความตื่นตัวของคนกลุ่มนี้ถ้าถูกขัดขวาง หรือมีใครทำให้พวกเขาผิดหวัง อาจจะนำไปสู่ การลุกฮือŽ ที่เราไม่อยากจะมองไปถึงผล อันน่ากลัวŽ เช่นที่เคยมีมา เพราะทหารในยุคนั้นที่น่ากลัวกว่ายุคนี้มากก็ยังเอาไม่อยู่ อีกทั้ง อาวุธŽ ของคนยุคนี้ที่จะใช้ต่อสู้กับทหารก็ ร้ายแรงŽ ยิ่งกว่า ภายใต้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย ที่ได้ชื่อว่า ปรมาณูแห่งข่าวสารŽ ถ้าเราจะมองการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ให้เห็นที่ภาพที่กว้างที่สุด จะพบว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับ เผด็จการทหารŽ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านคนรุ่นใหม่ไปจับประเด็นที่ การโค่นล้มสถาบันŽ แม้คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งจะมีแนวคิดที่จะโค่นล้มสถาบัน แต่ก็มีจำนวนน้อยกว่าคนที่เกลียดชังเผด็จการทหาร หากผู้ปกครองมีความสามารถในการคิดคำนวณ(โดยอย่าไปเอาเยี่ยง กกต.ที่คิดเลขไม่เป็น อ่านรัฐธรรมนูญไม่เข้าใจ) ย่อมจะคำนวณได้ว่า พลังต่อต้านด้านใด พุ่งแรงŽ กว่ากัน ใน พ.ศ. 2516 ผู้เขียนมีอายุ 14 ปี แม้จะเกิดมาในยุคของเผด็จการทหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ก็ไม่ทราบเรื่องราวในความ เลวร้ายŽ ต่างๆ ของทหารมากนัก เพราะวัยเด็กเป็นวัยแห่งความสนุกสนาน จนเมื่อเกิดการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นขึ้นในปี 2515 แล้วที่โรงเรียนพากันไม่ใส่ชุดนักเรียนที่ทำจากผ้าใยสังเคราะห์ของญี่ปุ่น โดยหันมาใส่ผ้าฝ้ายสีตุ่นๆ ยับๆ ทำให้พวกเรา วัยรุ่นŽ รู้สึกหัวใจพองโต เหมือนได้สร้าง วีรกรรมŽ ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งนี่ก็คือ อารมณ์ของวัยรุ่นŽ ที่อยากเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงอยากสร้างเกียรติประวัติ แสดงตัวตนŽ กระทั่งเป็น ฮีโรŽ นั่นเอง ดังนั้นพอเกิดการชุมนุมขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนก็คงจะเหมือนกับวัยรุ่นอีกหลายหมื่นคน ที่ไปนั่ง ชุมนุมฟังผู้นำนักศึกษาปราศัยหน้าเวทีที่สนามฟุตบอลในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยิ่งได้ฟังการชำแหละความชั่วร้ายของเผด็จการทหาร ที่แสดงออกมาทั้งในการพูด การแสดงละคร และการร้องเพลง ยิ่งทำให้พวกเรา อินŽ คือ เคลิ้มคล้อยŽ ไปไกล นี่ก็คือพลังของการ กล่อมเกลาŽ ที่ไม่ใช่เพราะพวกเราโง่หรือไม่ประสาต่อโลก แต่พวกเราก็มีความคิดที่อยากจะเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง ไม่อยากให้มีคนชั่วมาปกครองประเทศ และที่สำคัญพวกเราอยากร่วมรับผิดชอบในการดูแลประเทศด้วยบ้าง เพราะนี่คือชีวิตของพวกเราที่จะต้องอยู่ต่อไป ถ้าจะถามว่าเยาวชนในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 มีความเกลียดชังสถาบันหรือไม่ ก็คงตอบได้ว่ามีอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อมีขบวนการคอมมิวนิสต์เข้าแทรกแซงภายหลังหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งทำให้ทหาร ล็อคเป้าŽ ได้ แล้วเคลื่อนขบวน ขวาพิฆาตซ้ายŽ ออกมาต่อสู้ จนสามารถยึดอำนาจได้ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่นั่นก็ไม่ใช่แนวทางในการ สร้างความสงบŽ เพราะหลังจากนั้นรัฐบาลก็ได้ใช้ ฆ้อนเหล็กŽ ไล่ทุบคนที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สร้างความร้าวฉานมากยิ่งขึ้น ที่สุดทหารนั่นเองก็ต้องมาไล่รัฐบาลที่ตนตั้งออกไป จนกระทั่งได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ผู้นำจะเป็นทหารคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่ด้วยการ จับทางŽ ที่ถูก จึงได้ใช้ แผนการุณยเทพŽ สร้างความไว้วางใจระหว่างกัน บ้านเมืองก็สงบเรียบร้อยดีขึ้น เพราะฉะนั้น การสร้างวาทกรรม คนรุ่นใหม่(บางคน)คิดล้มล้างสถาบันŽ จึงน่าจะไปผิดทาง เพราะแทนที่จะช่วยทำให้คนที่รับผิดชอบเรื่องการประกาศผลเลือกตั้ง รีบทำให้ทุกอย่างเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีความชัดเจน แต่กลับกลบเรื่องสำคัญที่คนทั้งหลายต้องการและเรียกร้องกระหึ่มอยู่นั้น ด้วยวาทกรรมที่ควรเป็นเรื่องที่จะต้องให้กฎหมายจัดการไป อย่าลืมว่าแม้นายธนาธรหรือนายปิยะบุตรจะถูกจับเข้าคุกไป คนที่ยังอยากเห็นระบอบรัฐสภาดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วยประชาชน(ไม่ใช่ด้วยกองทัพ)ก็ยังคงจะต่อสู้และเรียกร้องอยู่ ซึ่งเรื่องของการประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคมนั้น น่าจะเป็น ฟางอีกเส้นหนึ่งŽ ที่ก่อกระแสของการต่อสู้ดังกล่าว ทราบว่าท่านผู้บัญชาการทหารบกจะเกษียณอายุราชการในปีหน้า แม้ว่าท่านอาจจะได้รับตำแหน่งในรัฐบาลต่อไปที่ใหญ่โต แต่ก็ไม่มีตำแหน่งใดที่สามารถสั่งการให้กำลังพลหลายแสนคนออกไปใช้อาวุธได้อย่างถูกต้องด้วยอำนาจตามกฎหมาย เหมือนกับที่ท่านอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เว้นแต่ว่าท่านจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งถ้าพ้นจากทั้งสองตำแหน่งนี้แล้ว ท่านก็คือประชาชนธรรมดาเท่านั้น ถึงตอนนั้นท่านอาจจะนึกออกว่า ประชาชนต้องการอะไรŽ