ทีมข่าวคิดลึก วันนี้ต้องยอมรับว่าทุกกลุ่มทุกฝ่าย ต่างพากันมองไปข้างหน้า ชนิดที่เรียกว่า "ข้ามช็อต" ผ่านพ้น 7 สิงหาวันลงประชามติกันไปแล้วเพราะไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ในแง่มุมไหน ก็ย่อมมีความชัดเจนว่า"คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" ที่มี "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. จะไม่ลุกจากเก้าอี้อย่างแน่นอน แม้จะมีการปฏิบัติการกดดันชนิดที่เรียกว่ารอบทิศรอบทางก็ตามที ! ทั้ง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม"พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์" เองที่ในห้วงเวลานี้ ก็ดูเหมือนว่าจะรับศึกหนักไม่แพ้ "น้องรัก" อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ เช่นกัน เนื่องจากปฏิบัติการ"เขย่าคสช." นั้นไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้นหากแต่หลายต่อหลายครั้งยังจงใจกระแทกไปยัง พล.อ.ประวิตร ด้วยเช่นกัน ! เมื่อ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ต่างเป็นทั้ง"จุดแข็ง"และ"จุดอ่อน" เสมือนเป้าโจมตีเพราะอยู่ในที่โล่งไม่ต่างกัน อีกทั้งยังต่างเป็น "อำนาจ" ที่ค้ำยันซึ่งกันและกันอย่างแจ่มชัด จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกการเคลื่อนไหวจากฟากฝ่าย"การเมือง"ทั้งจากพรรคเพื่อไทยและ "บางส่วน" ของพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อทั้งคู่อย่างที่เห็น ! โดยเฉพาะการที่"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะอ้างว่าเป็นการแสดงจุดยืน"ส่วนตัว"ว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติก็ตาม แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "สัญญาณ"จาก "หัวหน้ามาร์ค" เช่นนี้ทำให้"มีผล" ต่อการตัดสินใจของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ส่วน ที่สนับ สนุนแนวคิดของหัวหน้าพรรคไม่น้อย แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่า"กปปส."ของ "ลุงกำนัน"สุเทพ เทือกสุบรรณประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.)ได้พยายามที่จะ "แชร์สัดส่วน" ดึงสมาชิกพรรคบางส่วนที่หนุน กปปส.ให้พากันลงมติ "รับร่างฯ" มาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม อย่างไรก็ดีวันนี้ คสช.และ"แม่น้ำ" ทุกสายในมือ จะพยายามให้ความสำคัญและโฟกัสไปยัง "กลุ่มพลังเงียบ" ผู้คนในสังคมที่ยังไม่ตัดสินใจ หรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆหากแต่เฝ้าติดตามทุกความเป็นไปในบ้านเมืองอย่างเงียบๆ รวบรวมข้อมูล ก่อน "ตัดสินใจ" ว่าจะรับหรือไม่รับร่างฯ ในวันที่ 7 สิงหาคม นี้ แต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัด ควบคู่ไปกับการออกมา"แสดงท่าที"จากฝ่ายการเมือง ซึ่งถือว่า "มีผล"ต่อการออกเสียงโหวตนั้น ได้ทำให้คสช. ต้องหาทางแก้โจทย์ข้อยาก ว่าจะหาทาง "ดึง" กลุ่มคนที่อยู่ในข่ายพลังเงียบได้อย่างไร โดยทำคู่ขนานไปพร้อมกับการ"กระชับพื้นที่"กลุ่มการเมือง กลุ่มบุคคลต่างๆในพื้นที่ทั่วประเทศ ที่เตรียมสร้างสถานการณ์ อย่างไรก็ดีด้วยสถานการณ์ที่คสช.กำลังเผชิญหน้าอยู่ในเวลานี้คือแรงกดดันจาก "ในประเทศ" ที่เคลื่อนไหวตอบโต้ ประกาศท่าทีปฏิเสธทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคสช.เองอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นการใช้ยุทธวิธีของคสช. นอกจากจะกระชับพื้นที่ "กลุ่มการเมือง" ในภาคเหนือและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บางส่วนที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีความเชื่อมโยงกับ "ขั้วอำนาจทักษิณ"ทั้ง คสช.และรัฐบาลได้เลือกที่ชู"ความเชื่อมั่น" ผ่านนโยบายประชารัฐ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจกับประชาชน รวมทั้งยังต้องทำให้เห็นว่าไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ก็ตามแต่ "ความเชื่อมั่น" และ "เสถียรภาพ"ของรัฐบาลยังคงอยู่ เพราะคสช.รู้ดีว่า วันนี้ ทั้งเรื่องประชามติและการชูธงการเลือกตั้งในปี 2560 นั้นยังอยู่ในมุมโฟกัสของ "นักลงทุน" และนานาประเทศ โดยมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน !