เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com มหาวิหารนอเตรอดาม สำคัญและยิ่งใหญ่แค่ไหน เห็นได้จากปฏิกิริยาจากทั่วโลกหลังเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ที่รู้สึกเสียดายเสียใจไปกับเหตุการณ์นี้ จนถึงกับหลั่งน้ำตาและพากันไปสวดมนต์ขณะที่ไฟกำลังไหม้ และผู้นำจากทั่วโลกส่งสารแสดงความเสียใจ คงเป็นเพราะมหาวิหารแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของกรุงปารีส แต่เป็นส่วนหนึ่งของรากเหง้าชาวฝรั่งเศส ชาวยุโรป และเกี่ยวโยงไปถึงมนุษยชาติ นอเตรอดามสะท้อนความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรม เป็นถิ่นกำเนิดของมหาวิทยาลัยปารีส มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ เป็นมหาวิหารที่บอกเล่าว่า เมื่อ 850 ปีก่อน ผู้คนคิดอะไร และทำอย่างไรถึงได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ที่วันนี้คงไม่มีใครสามารถเลียนแบบถึงความอลังการงานสร้างนี้ได้อีก ความจริง วิหารโกธิคที่ใหญ่โต สวยงามไม่แพ้นอเตรอดาม ที่สร้างขึ้นในยุคไล่เลี่ยกันก็มีหลายแห่ง ทั้งที่ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ และที่อื่นๆ แต่ไม่มีที่ไหนที่ผู้คนจะจดจำและนับเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ได้เท่านอเตรอดาม เคยมีคนเรียกยุคกลางของยุโรป (ระหว่างศตวรรษที่ 5 ถึง 15) ว่ายุคมืด แต่คงไม่จริง เพราะพิจารณาแค่สถาปัตยกรรมในยุคนี้ที่มหาวิหาร ปราสาทราชวัง อารามนักพรตนักบวช ก็จะพบความยิ่งใหญ่ที่ยุคต่อมาที่อ้างว่าเป็นยุคสว่างทางปัญญาก็ยังไม่อาจเทียบได้ นอกจากนอเตรอดาม แล้ว ลองไปพิจารณามหาวิหารอย่างชาตร์และแรงส์ ที่เกิดก่อนนอเตรอดาม และที่เมืองอื่นๆ ในฝรั่งเศส อันเป็นที่เริ่มต้นสถาปัตยกรรมโกธิค ที่แพร่หลายไปทั่วยุโรป อย่างวิหารแห่งยอร์คในอังกฤษ, ที่เมืองบูร์โกสและเซบีญาในสเปน, เมืองโคโลญในเยอรมัน, เมืองฟลอเรนซ์ เมืองมิลาน ในอิตาลี, เซนต์สตีเฟ่นที่กรุงเวียนนาในออสเตรีย เป็นต้น ใครเคยไปเยี่ยมชมมหาวิหารนอเตรอดาม คงจำภาพโดดเด่นของสถาปัตยกรรมโกธิคที่ยอดเยี่ยมแห่งนี้ที่มีลักษณะร่วมกับมหาวิหารอื่นๆ มีโถงกลางกว้างใหญ่ เพดานสูงโค้งสัน หน้าต่างใหญ่ทำด้วยกระจกสีสวยงามตระการตา หลังคาด้านนอกมียอดแหลม ประตูทางเข้าโค้ง มีรูปสลักรูปปั้นเล็กใหญ่เต็มไปหมดรอบวิหาร ไปเยี่ยมชมมหาวิหารแห่งนี้ จะได้ฟังหินทุกก้อน ประตูหน้าต่างทุกบาน เสาทุกต้น และรูปปั้นรูปสลักทั้งหลายบอกเล่าประวัติศาสตร์ของอารยธรรมตะวันตกได้เป็นอย่างดี มหาวิทยาลัยปารีสหรือซอร์บอนน์ถือกำเนิดที่มหาวิหารนอทเตรอดามแห่งนี้ ที่ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่เป็นที่สองรองจากที่โบโลญาในอิตาลี ซอร์บอนน์ตั้งอยู่ในย่านละติน ไม่ไกลจากนอเตรอดาม เดิมที การศึกษาในยุโรปจัดกันที่บ้านหรือที่วัด ที่อารามนักพรตนักบวช ต่อมาจึงขยับไปที่โบสถ์วิหารต่างๆ และที่นี่เองที่เกิด “มหาวิทยาลัย” ขึ้นมา เดิมที “มหาวิทยาลัย” ที่เกิดในโบสถ์วิหารเหล่านี้ทำหน้าที่ผลิตครู เป็นโรงเรียนฝึกหัดครู เวลาสอบเขาจะเชิญชาวบ้าน ประชาชนทั่วไปมาซักถาม ถ้านักศึกษาตอบได้ก็สอบผ่าน เพราะครูต้องทำหน้าที่ไปตอบคำถามชีวิตของประชาชน ไม่ใช่ไปสอนอ่านเขียน แต่สอนวิธีคิด การแก้ปัญหาชีวิต และสอนอาชีพ ต่อมาก็เกิดมีคนที่เป็นหัวหน้า จัดการศึกษา เป็น “ครูใหญ่” จึงเกิดการศึกษาในระดับปริญญาโท ที่เรียกกันจนถึงทุกวันนี้ว่า “licentia” ซึ่งแปลว่า “ใบอนุญาต” (license) คือเป็นประกาศนิยบัตรให้จัดการศึกษาได้ ต่อมาเกิดมีคนที่มีแนวคิดทฤษฎีใหม่ มีลูกศิษย์ลูกหา บรรดาปราชญ์ทั่วยุโรปก็นัดกันมาร่วมประเมิน หรือ “สอบ” นักคิดหน้าใหม่คนนี้ ว่ามีเนื้อหาสาระและตรรกะเป็นอย่างไร สมัยนั้นยุโรปเป็น “คริสตศาสนจักร” (Christiandom) ประชาคมคล้ายอียูทุกวันนี้ ที่สานต่ออำนาจของจักรวรรดิ์โรมัน ที่ล่มสลายไปตั้งแต่ศวตรรษที่ 4 ทั่วยุโรปใช้ภาษากลาง คือ ภาษาละติน บรรดานักศึกษาจะเดินทางไปตามสำนักต่างๆ เพื่อไปเรียนรู้กับเจ้าสำนัก การที่บรรดานักปราชญ์นัดไป “สอบ” ก็เพื่อจะได้ดูว่า คนคนนั้นมีแนวคิดทฤษฎีอะไร น่าเชื่อถือหรือไม่ แม้อาจไม่เห็นด้วย แต่ถ้าหากมี “ตรรกะภายใน” (internal logic) ก็จะร่วมกันยกย่องให้เป็น “Doctor” ซึ่งภาษาละตินแปลว่า “ผู้สอน” หรือครู ไม่ได้แปลว่าหมอ เป็นการรับรองว่า บัดนี้ได้เป็น “เจ้าสำนัก” ใหม่แล้ว นั่นคือการจัดการศึกษาถึงระดับปริญญาเอกที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ทำให้เกิดแนวคิดทฤษฎีใหม่ ไปสู่การปฏิวัติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากเทวสิทธิ์ไปสู่สิทธิมนุษยชน จากสมบูรณาญาสิทธิราชไปสู่ประชาธิปไตย นำไปสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม (Renaissance) ยุคเกิดใหม่ทางปัญญาที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาญาณที่หว่านไว้ตั้งแต่ยุคกรีก ด้วยดิน ปุ๋ย แห่งยุคกลาง และมีคนรดน้ำดูแลให้เกิดใหม่และเติบโต มหาวิหารนอเตรอดาม ที่กำเนิดของมหาวิทยาลัยของปารีส เป็นที่วางรากฐานทางปัญญาให้บ้านเมือง จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ใครๆ ยอมให้ล่มสลายไปไม่ได้ ระดมทุนกันบูรณะปฏิสังขรณ์ เพียงวันเดียวได้เงินเกือบสองหมื่นล้านบาทแล้ว มีใครสังเกตไหมว่า หน้ามหาวิหารแห่งนี้ มีรูปปั้นของจักรพรรดิชาร์ลเลอมาญ หรือชาร์ลมหาราช ที่นับได้ว่าเป็นจักรพรรดิองค์แรกและยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 9 เป็น “ชาวฟรัง” บรรพบุรุษของชาวฝรั่งเศส ทรงม้าหน้ามหาวิหาร ด้วยความหมายแห่งความยิ่งใหญ่คู่กับนอเตรอดาม