เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com โรงเรียนเปิด พ่อแม่หวังสูงมากว่า โรงเรียนจะอบรมสั่งสอนลูกให้เป็นคนเก่งคนดี ส่วนใหญ่ให้ความคาดหวังที่สูงเกินไป เพราะในความเป็นจริง งานวิจัยได้คำตอบว่า โรงเรียนมีอิทธิพลต่อพัฒนาการชีวิตของเด็กเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นที่บ้านและในสังคมใหญ่ ปัญหาเด็กเยาวชนบ้านเราเรื่องใหญ่มาก เด็กติดเกมเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย อันดับต้นๆ ของโลก ติดยา ติดเหล้า ติดเอดส์ และเกิดความรุนแรง ตีกันฆ่ากันตามถนนบนรถเมล์ แม้ขณะที่สวมชุดนักเรียน บ้านและสังคมใหญ่ คือที่ “บ่มเพาะ” ปัญหาและความรุนแรง ถ้าหาก “เบ้าหลอม” เองมีปัญหา ผลผลิตออกมาก็บิดเบี้ยว สะท้อนปัญหาครอบครัวและสังคมใหญ่ได้เป็นอย่างดี ปัญหาทุกอย่างพัวพันกันหมด ไม่ว่าปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สิน ครอบครัวดิ้นรนปากกัดตีนถีบ มีเวลาให้ลูกน้อย ปล่อยให้จอใหญ่จอเล็กเลี้ยงลูกแทน ซึ่งไม่ใช่การเรียนรู้ แต่คือการเสพความสนุกจนติด ปัญหาการศึกษาของพ่อแม่ คุณภาพการศึกษาไทย และโอกาสในการเรียนรู้ต่อเนื่องเพื่อปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงสังคม เหล่านี้ต้องชี้ไปที่ระบบโครงสร้างสังคมที่มีปัญหา ไม่ให้โอกาสคนจน คนส่วนใหญ่ของประเทศ ความเหลื่อมล้ำที่ไม่มีทีท่าว่าจะแก้ได้ ปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน เรื่องหลักการที่น่าจะทำได้ในครอบครัว ไม่ว่ายากดีมีจน คือ เรื่องวินัยชีวิต ที่มีรากฐานจาก “การเคารพตนเองและเคารพผู้อื่น” มีงานวิจัยทั่วโลกยืนยันว่า ถ้าเด็กเรียนรู้วินัยชีวิตและรู้จักเคารพ เริ่มที่บ้านจากตัวอย่างของพ่อแม่ และจากการอบรมสั่งสอน พวกเขาจะเติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมกับคุณค่าดีงามนี้เมื่อจะต้องออกไปเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง จะประสบความสำเร็จและมีความสุข เพราะหัวใจของเรื่อง คือ พวกเขาจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ซึ่งงานวิจัย ๗๕ ปีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยืนยันว่า คนที่อายุยืนอย่างมีความสุข คือ คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น งานวิจัยต่างๆ ทางจิตวิทยาพบว่า ถ้าเด็กเคารพพ่อแม่ เด็กก็จะเคารพตนเองด้วย การเคารพ “ทางบวก” ที่มาจาก “ข้างใน” ตัวเด็ก ไม่ใช่เพราะถูกบังคับ หรือกลัวการลงโทษ เด็กที่ไม่เคารพตนเองมีแนวโน้มที่จะติดเหล้า ติดยา ติดแซกซ์ ทำร้ายคนอื่น จะไม่สนใจใครทั้งสิ้น เพราะแม้แต่ตัวเองก็ยังไม่เคารพ เพราะหากเคารพตนเอง เด็กจะไม่ทำสิ่งที่เลวร้าย จะตัดสินใจได้ดี เลือกและทำในสิ่งที่ดี ที่มีประโยชน์ต่อตนเองและต่อผู้อื่น วินัยชีวิตเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน การจัดการเวลา การกินการอยู่ ที่พ่อแม่ไม่ปล่อยให้ลูกทำอะไรตามใจชอบ เวลาเล่น เวลาเรียน เวลาช่วยงานบ้านแม้เล็กน้อยก็มีความหมาย ไปนอนกี่โมง ไม่ใช่ให้ดูทีวีเล่นเกมดึกดื่นเที่ยงคืน วินัยมาจากการฝึกฝนตั้งแต่เล็กๆ ถ้าฝึกให้ลูกทานข้าวเองเมื่อมีความพร้อมทางร่างกาย ให้นั่งอยู่กับที่ที่โต๊ะ ไม่ใช่จับใส่รถเข็นออกไปเดินเล่น ไปวิ่งเล่น ไปไล่ป้อนกลางถนนหรือที่สาธารณะ เรียนรู้การมีจิตอาสา การช่วยเหลือคนอื่น การวางแผนระยะยาว การใช้เงิน การออม แม้วันละเล็กน้อยก็เป็นการฝึกฝนการมีวินัยในการใช้จ่าย ให้เห็นคุณค่าของเงิน พ่อแม่ที่มีความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับเด็ก จะพูดคุยอธิบายเหตุผลต่างๆ กับลูกได้ดี ใช้วิธีบวกมากกว่าลบ ไม่ดุด่า ลงโทษ หรือเอาใจจนเสียเด็ก หรือปล่อยให้ร้องไห้จนเหนื่อยและหยุดเอง ปล่อยให้นอนเกลือกกลิ้งในห้างเพราะอยากใด้ของเล่น หรือวิ่งไล่กันในห้าง ในวัด หวีดร้อง ส่งเสียงดังหนวกหูชาวบ้านในที่สาธารณะ พ่อแม่จำนวนมากไม่ว่าอะไรเลย พ่อแม่ที่ปล่อยให้ลูกทำสิ่งเหล่านี้ สะท้อนความไม่เคารพคนอื่น ไม่อธิบายให้ลูกฟังว่า สิ่งที่ทำนั้นรบกวนชาวบ้านอย่างไร ละเมิดสิทธิคนอื่นอย่างไร มีหน้าที่ต่อคนอื่น ต่อส่วนรวมอย่างไร ยังมีพ่อแม่อีกหลายคนที่ไม่สอนลูกให้เข้าคิว ไม่แย่งคนอื่นเข้าลิฟท์ ซื้อตั๋ว ซื้อของ เพราะไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิ” ถ้าไม่มีวินัยที่บ้าน ก็จะไม่มีวินัยในที่สาธารณะหรือที่ไหน จะไม่เคารพกฎจราจร ไม่เคารพกฎหมาย กลายเป็นปัญหาสังคมโลกแตกเพราะขาดวินัย ไม่เคารพคนอื่น ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ในสังคมใหญ่ ประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลานมา 80 กว่าปี สะท้อนให้เห็นถึงระดับ “วินัย” ของคนและ “ความไม่เป็นธรรม” ของระบบโครงสร้างได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดการเอาเปรียบ การผูกขาด ไม่เคารพสิทธิของคนอื่นที่ควรได้โอกาสและส่วนแบ่งที่เป็นธรรมในสังคม กฎหมายต่างๆ ที่ออกมาก็ล้วนแต่เพื่อการรักษาอำนาจรัฐมากกว่าการรับรองสิทธิของประชาชนแบบในสังคมประชาธิปไตย ที่เมืองไทยยังเป็นเหมือนบอนไซ ไม้ในกระถาง ลูกหลานเกิดมาในครอบครัวที่ไม่สอนให้เคารพตนเองเคารพคนอื่น ในสังคมที่รัฐเรียกร้องให้คนเคารพกฎหมาย เคารพอำนาจรัฐ แต่รัฐไม่เคารพประชาชน ไม่เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของประชาชน ปล่อยให้มีระบบโครงสร้างที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม บ้านเมืองถึงได้สับสนวุ่นวายและไม่เป็นประชาธิปไตย (จริงๆ)