ทวี สุรฤทธิกุล คำกราบบังคมทูล ร.ศ.103คล้าย “แมกนาคาร์ตา” แมกนาคาร์ตา (Magna Carta) คือคำกราบบังคมทูลของขุนนางอังกฤษที่ถวายแต่พระเจ้าจอห์น กษัตริย์แห่งอังกฤษในยุคนั้น เมื่อ คริสตศักราช1215 (พ.ศ. 1758) หรือเมื่อกว่า800 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากขุนนางอังกฤษกลุ่มนี้มีความไม่พอใจต่อวิธีการในการปกครองหรือการบริหารราชการแผ่นดิน ที่กษัตริย์ทรงเอาแต่พระทัย “ไม่เห็นเงาหัว” ประชาชน เช่น เรียกเก็บภาษีเอาตามอำเภอใจ ความอยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย และการถูกกดขี่ข่มเหงขูดรีด ที่สุดขุนนางกลุ่มนี้ “ทนไม่ไหว” จึงยื่น “โนติส” บังคับให้พระเจ้าจอห์นลงนาม(ซึ่งคนอังกฤษเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “จอห์นผู้เสียแผ่นดิน” เนื่องจากมีความขัดแย้งกับศาสนาจักรที่กรุงโรม ถูกขับออกจาก “อาณาจักรของพระเจ้า” ต่อมาเมื่อคิดจะขอการยอมรับจากศาสนจักรอีกครั้งก็จำต้องจ่ายเงินจำนวนมากเป็นค่าปรับ พร้อมทั้งต้องยกดินแดนบางส่วนให้แก่ศาสนจักรนั้นด้วย) แมกนาคาร์ตาที่มีผู้แปลเป็นไทยว่า “มหากฎบัตร” (ภาษาลาติน Magna แปลว่า ใหญ่หรือมหา Carta แปลว่าแผ่นกระดาษหรือบัตร) แต่เดิมเรียกว่า “ข้อบังคับของเหล่าขุนนาง” มี 63 มาตรา สาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 39 ที่เขียนไว้ว่า “ไม่มีเสรีชนใดอาจถูกจับหรือถูกจำคุก หรือถูกยึดสิทธิหรือทรัพย์สิน หรือถูกประกาศว่าเป็นบุคคลภายนอกหรือถูกเนรเทศ หรือถูกริบฐานะของตนในทางอื่นใด ทั้งเราจะไม่ใช้กำลังกับเขา หรือสั่งให้ผู้อื่นทำเช่นนั้น เว้นแต่มีการพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายจากผู้เทียบเท่ากับเขาหรือโดยกฎหมายของประเทศ” รวมถึงวลีอันโด่งดังที่ว่า “No taxation without representation” ที่แปลว่า “มิอาจเก็บภาษีโดยปราศจากผู้ที่เป็นตัวแทน” โดยนักรัฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับแมกนาคาร์ตานี้ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก” แมกนาคาร์ตานี้มีความสำคัญต่อการเมืองการปกครองของประเทศอังกฤษในยุคแรกๆ และต่อระบอบประชาธิปไตยของโลกในเวลาต่อมาเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือหลักการของ “เสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียม” รวมถึงการปกครองโดยกฎหมายที่เรียกว่า “นิติรัฐ” และการเมืองในระบบรัฐสภาที่กำหนดให้มี “ผู้แทนราษฎร” นั้นด้วย ทำให้อังกฤษได้เป็นแม่แบบของระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐสภาที่มั่นคงแข็งแกร่งมาจนถึงทุกวันนี้ และส่งผลต่อระบอบประชาธิปไตยในประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคเริ่มต้น ดังเช่นที่รัฐธรรมนูญฉบับแรก(และฉบับเดียว)ของสหรัฐอเมริกาได้นำหลักการทั้งหลายในแมกนาคาร์ตามากำหนดเป็นสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่วันประกาศเอกราชใน ค.ศ. 1776 นั้นแล้ว รวมถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1789 ที่ได้นำหลักการแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมมาสร้างระบอบสาธารณรัฐแทนระบอบกษัตริย์ และที่มีความสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งก็คือได้ถูกนำมาเป็นเนื้อหาของปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้งใน ค.ศ. 1948นั้นด้วย มีผู้เทียบเคียงว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยก็เกิดขึ้นในยุคใกล้ๆ กัน คือ “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง” ที่นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าน่าจะสลักไว้ราว พ.ศ. 1835 หรือ ค.ศ. 1292 แสดงถึงวิวัฒนาการด้านแนวคิดการเมืองการปกครองที่มีความโดดเด่นได้เกิดขึ้นไล่เรี่ยกันทั้งในโลกตะวันตก(ยุโรป)และตะวันออก(เอเซีย) แต่ในกรณีของไทยนั้นจะมีลักษณะเป็นการสถาปนาระบอบกษัตริย์ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณแบบ “พ่อปกครองลูก” ในขณะที่ของฝรั่งจะเป็นเรื่องของการลดทอนอำนาจกษัตริย์ไปสู่ระบอบรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช “ปราชญ์รัตนโกสินทร์” ผู้ล่วงลับ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยอย่างยิ่งท่านหนึ่ง ได้วิเคราะห์การเมืองการปกครองในสมัยพ่อขุนรามคำแหงตามที่เขียนไว้ในศิลาจารึกนั้นว่า “มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่พอควร” เรื่องแรกคือ “เสรีภาพ” อย่างในข้อความที่ว่า “เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า” การค้าขายและการเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นไปโดยสะดวก ไม่มีการเก็บภาษีผ่านทางคือ “จกอบ” นั้น เรื่องต่อมาคือ “ความยุติธรรม” อย่างในข้อความที่ว่า “ที่ปากปตูมีกดึงอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวเถิงพ่อขุนบ่ไร้ ไปลั่นกดึงอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึงชม” นั่นคือมีระบบที่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ใต้ปกครอง มีช่องทางให้ร้องเรียนคือ “ลั่นกระดึง” แล้วพ่อขุนก็จะพิจารณาให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งคือดูแลเรื่องการให้ความยุติธรรมนี้ด้วยพระองค์เอง หรืออาจจะรวมถึงที่มี “ลูกขุน” คือข้าราชการในยุคนั้นช่วยสนองเบื้องพระยุคลบาทร่วมในการให้ความยุติธรรมด้วย ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังให้ข้อสังเกตอีกว่า คำว่า “ไพร่” ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงนั้นหมายถึง “ประชาชนทั่วไป” หรือ “เสรีชน” คือคนที่มีที่อยู่หลักแหล่งและอาชีพแน่นอน ไม่เป็นทาส ไม่ใช่เชลย สามารถทำมาหากินได้โดยอิสระ และไม่อยู่ใต้บังคับหรือสังกัดเจ้าขุนมูลนายใดๆ ต่างกับคำว่าไพร่ในสมัยอยุธยาที่มีการแบ่งชนชั้นหรือนำระบบศักดินามาใช้ ทำให้ไพร่ในสมัยอยุธยามีฐานะเป็นประชาชนในระดับล่างที่ต้องมีสังกัดเจ้าขุนมูลนาย อันเป็นการจัดระบบไพร่เพื่อการศึกสงครามและกะเกณฑ์ไปใช้แรงงานในยุคนั้น ผู้เขียนออกนอกเรื่องไปบ้างเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ไม่ใช่แนวคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แต่มีมาแล้วหลายร้อยปี ทั้งในภูมิภาคยุโรปและเอเซีย ซึ่งคณะผู้คำถวายคำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103น่าจะมีความรู้เชื่อมโยงไปในประวัติศาสตร์เหล่านี้อยู่พอควร ฉบับหน้าได้อ่านคำกราบบังคมทูลฯนี้แน่นอน