ทวี สุรฤทธิกุล คนรุ่นใหม่ในวันนี้ “อยากมีตัวตน” “ความอยากมีตัวตน” ไม่ใช่ความอยากดังอยากเด่น หรืออยากทำอะไรบ้าๆ บอๆ เพียงแต่คนรุ่นใหม่อยากให้คนอื่นเห็นว่าตนเอง “มีความสำคัญ” รวมถึงให้ยอมรับในความสามารถของพวกเขา และ “แบ่งพื้นที่” ให้เขาได้แสดงความสามารถต่างๆ เพื่อแสดงว่าคนอื่นๆ ได้เห็นความสำคัญของพวกเขานั้นแล้ว อันเป็นลักษณะของการเปลี่ยนผ่านจาก “วัยเด็ก” สู่ “วัยผู้ใหญ่” ในทางกายภาพ ที่หมายถึงการเติบโตทางร่างกาย คนเราจะเริ่มเป็นวัยรุ่นในช่วงอายุสิบปีเศษๆ โดยผู้หญิงจะเติบโตมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเร็วกว่าผู้ชาย จนอายุประมาณ 20 เศษๆ ก็จะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จากนั้นร่างกายก็จะเสื่อมโทรมเข้าสู่วัยชรา จนกระทั่งต้องตายไป แต่ในทางจิตใจที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด นอกจากที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยนั้นแล้ว แต่ที่มีอิทธิพลมากกว่าก็คือ “สภาพสังคมวัฒนธรรมที่โอบล้อม” เช่น ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม การเลี้ยงดู การศึกษาอบรม และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งในสมัยก่อน สภาพสังคมวัฒนธรรมที่โอบล้อมที่แยกออกจากกันได้ อาจจะทำให้ผู้คนในแต่ละประเทศมีความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกัน แต่ในสมัยใหม่ที่เราเรียก “โลกไร้พรมแดน” หรือ “โลกาภิวัตน์” ได้ทำให้ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนทั่วโลกดู “กลมกลืน” จนกระทั่ง “ไหลไปตามกัน” นั่นก็คือการไหลท่วมของ “สภาพสังคมวัฒนธรรมแบบสากล” ได้แก่ สังคมแบบเสรีนิยม เศรษฐกิจแบบทุนนิยม และการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่แผ่กระจายไปทั่วโลกตั้งแต่ทศวรรษปี 1990 นั้น ในประเทศไทย ความคิดของรุ่นใหม่ในช่วง พ.ศ. 2500 – 2519 ยังเป็นไปในแนวตามกระแสของ “สงครามเย็น” ที่เป็นการต่อสู้กันระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “คอมมิวนิสต์” กระทั่งได้เกิดเหตุการวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่นักศึกษาและปัญญาชนโค่นล้มเผด็จการทหารได้ โดยอ้างว่าประชาธิปไตยได้ชนะเผด็จการแล้ว แต่ว่าอีก 3 ปีต่อมาในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทหารก็ทำรัฐประหารยึดอำนาจคืน โดยอ้างหน้าที่ในการรักษาประเทศไทยให้พ้นภัยคอมมิวนิสต์ จากนั้นพลังของรุ่นใหม่ในทางการเมืองก็ “ซา” ลงไป กระทั่งก่อตัวขึ้นใหม่เพื่อขับไล่เผด็จการทหารกลุ่ม รสช.ในเดือนพฤษภาคม 2535 จากคนเดือนตุลามาสู่ชนชั้นกลางเพื่อปฏิรูปการเมือง จนกระทั่งได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ที่ถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก นับว่าเป็นการผสมผสานความคิดของคนรุ่นใหม่ของคนเดือนตุลาใน พ.ศ. 2516 – 2519 เข้ากับคนรุ่นใหม่ในยุคหลังทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533) ที่เป็นยุคของ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ที่ได้เข้ามาแทนที่ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ซึ่งเป็นแนวความคิดแบบที่คนในปัจจุบันนี้เรียกว่า “ประชาธิปไตยเก่า” ทั้งสองแบบ คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันเติบโตมาในช่วงทศวรรษปี 1990 แล้วเริ่มมีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมมาในช่วงหลัง ค.ศ. 2000 หรือที่เรียกว่า “พวกมิลเลนเนียม” มองประชาธิปไตยไปในแนวของการ “สร้างความสำเร็จ” คือการลงมือทำด้วยตัวของพวกเขาเอง คนกลุ่มนี้มีแนวคิดที่ “ต้านสิ่งเก่า” เริ่มจากสังคมเก่าที่ถูกชี้นำโดย “พ่อ-แม่-ครู-อาจารย์” ซึ่งในสังคมไทยคนเก่าๆ กลุ่มนี้ยังคงมีอำนาจอยู่มาก แม้ว่าคนรุ่นใหม่ต้องจำยอมรับสภาพที่ถูกบ่มเพาะมาในสภาพสังคมและวัฒนธรรมแบบเก่า แต่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์กลับทำให้เขามีความคิดที่ “อยากทำเอง” มากกว่าที่จะ “เชื่อฟังและทำตาม” อย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งได้ส่งผลถึง “สถาบันเก่าๆ” เป็นต้นว่า ระบบราชการ และลัทธิเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งก็ถูกมองว่า “ขัดขวาง” ความเป็นตัวตนของคนรุ่นใหม่ ดังที่เราได้เห็นในการต่อสู้ทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมานั้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องย้อนกลับไปในช่วงเวลาหลัง 14 ตุลาคม 2516 ในยุคของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ถือกำเนิดมาจาก “ปัญญาชน” ล้วนๆ ที่พัฒนาขึ้นสู่ชนชั้นกลางที่เข้าไปมีอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นจำนวนมาก โดยที่ยังไม่ได้ละทิ้งอุดมการณ์ที่จะ “เปลี่ยนแปลงประเทศไทย” บางคนไปได้ดีกับฝ่ายสถาบันเก่า เช่น เข้าไปเป็นราชการ หรือในกลุ่มการเมืองแบบเก่าๆ แต่บางคนก็ได้ไปเข้าด้วยกับกลุ่มปัญญาชนสมัยใหม่ ที่มีแนวคิดล้มล้างระบอบเก่า แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นนั้นก็คือไปเข้าด้วยกับกลุ่ม “ทุนนิยมอกหัก” ที่ไต่เต้าขึ้นมามีอำนาจจากการแอบอิงข้าราชการและนักการเมืองในระบอบเดิม โดยอาศัยฐานประชาชนที่เลือกตั้งนักการเมืองกลุ่มนี้เข้ามาใน พ.ศ. 2544 แล้วด้วยนโยบายที่ยกระดับ “ความสำคัญ” ให้กับชนชั้นรากหญ้าในชนบท ได้ทำให้คนในชนบทหันมานิยมชมชื่นจนกระทั่ง “ลุ่มหลงคลั่งไคล้” นักการเมืองจำพวกใหม่นี้มาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว ไม่เพียงแต่คนกลุ่มมิลเลนเนียมเท่านั้นที่อยากมีตัวตน แต่คนในชนบทที่เคยถูกระบอบเก่ากดหัวใช้ประโยชน์ เมื่อมีคนให้ความสำคัญเห็นหัวยกย่องพวกเขาขึ้นมา พวกเขาก็กล้าที่จะแสดงออกในการต่อต้านระบอบเก่า ดังที่เกิดเป็น “สงครามสีต่างๆ” ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งก็คือสงครามระหว่าง “ความคิดเก่า” กับ “ความคิดใหม่” นั่นเอง ผลการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็น “ภาพบนน้ำ” ที่ทำให้เห็นถึงการแสดงตัวตนของคนรุ่นใหม่ในกลุ่มมิลเลนเนียม ที่น่าคิดว่าอาจจะมาแทนที่ “ระบอบทุนนิยมอกหัก” (หรือที่ฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า “ทุนนิยมสามานย์”) ที่มีแนวคิดในการโค่นล้ม “สถาบันเก่าๆ” ซึ่งนักสังเกตการณ์ทางการเมืองเก่าๆ บางคนอาจจะมองว่า คนทั้งสองกลุ่มกำลัง “ประสานประโยชน์” หรือเดินหน้าไปในหนทางเดียวกัน แต่สำหรับผู้เขียนที่แม้จะเกิดมาถูกหล่อหลอมมาในสังคมวัฒนธรรมแบบเก่าๆ และเคยต่อสู้กับพวกทุนนิยมอกหักมาแล้ว กลับมองไปอีกแนวหนึ่งว่า นี่อาจจะกำลังเข้าสู่ยุคสมัยของคนรุ่นใหม่จริงๆ โดยที่คนรุ่นเก่าได้แต่อกสั่นขวัญแขวน เว้นแต่ว่าคนและสถาบันในระบอบเก่าต้องมีการปรับตัว