เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์มีพื้นที่ไม่ถึง 50 ไร่ มีแผนขยายไปที่รังสิตตั้งแต่เมื่อประมาณปี 2500 แต่เพราะเป็น “ธรรมศาสตร์” จึงต้องเถียงกันนานเกือบ 30 ปี ปล่อยให้เกษตรศาสตร์ไปที่กำแพงแสน ศิลปากรไปที่นครปฐมก่อนทั้งๆ ที่วางแผนทีหลังตั้งนาน เมื่อประมาณปี 2525 ผมอยู่ในคณะทำงานที่มี อาจารย์ประภาส อวยชัย อธิการบดีเป็นประธาน ได้รับมอบหมายจากสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ไปสำรวจพื้นที่ที่รังสิต ซึ่งเคยมี 2,000 ไร่ ให้เอไอทีเช่าไปส่วนหนึ่ง ให้ดูว่าจะวางแผนวางแปลนอย่างไร เมื่อมีการนำเสนอในสภามหาวิทยาลัยก็ได้รับการท้วงติงว่า มีแผนกายภาพชัดเจนดี แต่แผนวิชาการจะเอาอย่างไร เพราะมีสองแนวทางที่เถียงกันนานแล้ว ถ้าจะขยายไปรังสิตและเป็นมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ มีคณะวิทยาศาสตร์ต่างๆ ด้วย ควรมีแนวทางอย่างไร ทางหนึ่งอยากให้ธรรมศาสตร์คงเอกลักษณ์มหาวิทยาลัย “เพื่อประชาชน” ถ้าจะมีคณะแพทย์ฯ ก็ควรผลิต “หมอตีนเปล่า” ออกไปรักษาประชาชน คนชายขอบ ถ้ามีคณะสถาปัตย์ ฯ วิศวะฯ ก็ให้ตอบสนองคนยากคนจน คนชนบท คนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่ทำอะไรเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทางที่สองก็คือจัดการอุดมศึกษาแบบกระแสหลักเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป อย่างไรเสีย “วิญญาณ” ธรรมศาสตร์ก็ยังอยู่ ซึ่งที่สุดแนวทางนี้ก็ผ่านการรับรองของสภามหาวิทยาลัย ขยายไปรังสิตในลักษณะที่ไม่ได้แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น ส่วน “วิญญาณ” ธรรมศาสตร์ยังอยู่หรือไม่ หรือถูกกลืนหายไป ก็ดูได้เอง เมื่อประมาณกว่า 25 ปีที่แล้ว ผมเป็นกรรมการสภาวิทยาลัยครูที่กำลังเปลี่ยนจาก “วิทยาลัยครู” เป็น “สถาบันราชภัฏ” โดยมีพ.ร.บ.เดียวสำหรับ 40 แห่งทั่วประเทศ ในการประชุมซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน วันหนึ่งมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.สถาบันราชภัฏ ผมได้ยกมือทักท้วงว่า ข้อความในมาตราแรกๆ ที่บอกว่า “เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” นั้นหายไป ขอเสนอให้นำกลับมา เพราะผมถือว่าเป็นหัวใจและเป้าหมายหลักของสถาบันอุดมศึกษา 40 แห่งนี้ ที่สุดก็ได้ “หัวใจ” ดังกล่าวกลับคืนมา “มาตรา 7 ให้สถาบันราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู” นั่นคือพ.ร.บ.สถาบันราชภัฏ 2538 ซึ่งเป็นฐานให้พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ 2547 ที่ได้ขยายความออกไปอีกว่า “มาตรา 7 ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยาเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการการบํารุงรักษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทําการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบํารุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู” มาตราอื่นๆ ที่ตามมามีรายละเอียดของแนวปฏิบัติอย่างชัดเจน แต่ก็มีคำถามมาจนถึงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ว่า ในทางปฏิบัติ ได้มีการดำเนินการตามพ.ร.บ.นี้มากน้อยเพียงใด ผมเล่าเรื่องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีคำขวัญสวยงามว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” และเล่าเรื่อง “วิทยาลัยครู” ที่ขอเป็น “สถาบันราชภัฏ” และขอเป็น “มหาวิทยาลัย” แต่ประเด็นคือ ไม่ว่าจะมีคำขวัญอะไร มีชื่อใหม่ว่าอะไร ได้ทำตามพันธกิจนั้นหรือไม่ เพียงใด เพื่อตั้งคำถามให้กับกระทรวงอุดมศึกษาฯ ใหม่นี้ว่า มีหน่วยงานที่ว่าด้วยนโยบาย จะมีแนวทางที่เปิดกว้างให้มีการจัดการศึกษาที่หลากหลายได้จริงหรือ หรือยังคิดว่าตัดเสื้อโหลใส่ทั้งแผ่นดินง่ายดีต่อการควบคุม ยังคิดถึงการจัดอุดมศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำแบบเดิมๆ คือ ให้ทุน ไม่ใช่จัดด้วยแนวคิดใหม่ ที่ต้องไปหาประชาชน ไปเรียนรู้กับพวกเขา และพัฒนาร่วมกับพวกเขาด้วย โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ คนจน เกษตรกร ไม่ใช่ไปหาแต่บริษัท โรงงาน เพื่อพัฒนาแรงงาน หรือไม่ก็พอใจจัดการเรียนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเหมือนเดิม เพราะถ้าไม่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือ mindset กระทรวงนี้ก็คงเป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้น ยังคิดว่าหน่วยงานราชการมีหน้าที่ควบคุม กำกับ อ้างมาตรฐานและเหตุผลร้อยแปด โดยไม่ดูว่า ประเทศที่พัฒนาเขาไม่มีกระทรวงอุดมศึกษาด้วยซ้ำ ถ้ามีเขาก็ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน ไม่ใช่ควบคุม เพิ่มชื่อวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าไปในกระทรวงอุดมศึกษา ก็น่าตื่นเต้น เพราะเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลง เป็นพลังขับเคลื่อนสังคม แต่ก็น่าเป็นห่วงว่า จะถูกครอบงำจาก “สกอ.” ที่ยังมีแนวคิดโบราณที่เน้นการควบคุมหรือไม่ แม้ว่าองค์กรจะยุบไป แต่คนเก่าคนเดิมก็ยังอยู่และคงคิดเหมือนเดิม