พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ชุมชนไทยในอเมริกานั้นมีวิถีแห่งการเติบโตและขยายตัวมานานหลายทศวรรษ โดยที่การเติบโตและการขยายตัวดังกล่าวหมายถึงสองส่วน ส่วนแรก คือ ส่วนปริมาณหรือจำนวนของประชากร ส่วนที่สองคือ ส่วนการแพร่ขยายวัฒนธรรมและกิจกรรมที่แสดงถึงความเป็นไทย ในส่วนแรกนั้น การมีคนไทยมาปักหลักทำมาหากินหรือศึกษาเล่าเรียนในอเมริกาได้ก่อให้เกิดการแตกเหล่าแตกกออกไปมากขึ้น การมีครอบครัว มีคู่ครองเป็นสาเหตุการเพิ่มขึ้นของประชากรคนไทยที่นี่ ซึ่งก็เหมือนกับประชากรเชื้อชาติอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในอเมริกา ในที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นพันธุ์อเมริกันไปในไม่กี่แค่ชั่วอายุคน ดังนั้น การที่รัฐไทยและหน่วยงานเอกชนบางแห่งมัวแต่พะวงในเรื่องการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยในอเมริกา ผมคิดว่า แม้ไม่เสียเวลาเปล่าแต่ก็ไม่ต่างอะไรกับการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเหมือนเอาก้อนหินไปถมทะเล เว้นแต่เพียงการลงทุนดังกล่าวกระทำลงไปในนามของการท่องเที่ยวหรือเพื่อการโปรโมทธุรกิจการท่องเที่ยวของเมืองไทยเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาผลลัพธ์ที่ออกมาก็แทบจะมองไม่เห็นสำหรับการสร้างความน่าสนใจต่อนักท่องเที่ยวอเมริกัน พวกเขารู้จักไต้หวันมากกว่าไทยแลนด์ ส่วนที่สอง ได้แก่ ส่วนของการขยายตัวของวัฒนธรรมไทย ซึ่งว่าที่จริงแล้วมีการขยายตัวอยู่ในวงจำกัดมาก คือ อยู่แค่ในชุมชนไทยเท่านั้น ไม่ต่างอะไรจากการ “ชงเองกินเอง”มาแต่ไหนแต่ไร เช่น แนวคิดให้วัดไทยเป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งผลสุดท้ายทำให้เกิดการขยายตัวของวัดไทยมากขึ้น แต่การขยายตัวดังกล่าวกลับก่อให้เกิดปัญหาหนึ่งตามมา คือ ปัญหาคุณภาพของพระสงฆ์ที่จะเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณของชุมชนที่เซ็ตกันขึ้นมานั้น ประเด็นสำคัญที่ถูกละเลย คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัดไทยกับชุมชนอเมริกันหรือกับชุมชนอื่นๆ เป็นไปค่อนข้างไร้ประสิทธิภาพจากข้อจำกัดด้านศักยภาพของพระสงฆ์ที่ไปอยู่ที่นั่น ที่อยู่ในกรอบแคบๆ เพียงแค่ชุมชนไทยและกลุ่มคนไทยเพียงไม่กี่คน เชิงประจักษ์จึงพบว่า วัดไทยในอเมริกามีจำนวนมาก และมีอยู่ทั่วไป ทว่าวัดไทยและพระสงฆ์ไทยเหล่านั้นส่วนมาก ไม่ได้เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของคนอเมริกันที่สนใจพุทธศาสนาจริงๆ ซึ่งก็คือความรู้เชิงวิชาการพุทธศาสนาและความรู้เชิงการปฏิบัติ การโปรโมทเรียกร้องให้คนไทยในอเมริกาเข้าวัด จึงทำได้แค่ขั้นพิธีกรรมหรือกิจกรรมงานบุญประเพณีเท่านั้น เช่น งานทำบุญปีใหม่ งานสงกรานต์ งานลอยกระทง เป็นต้น แบบเดียวกับที่กระทำกันในเมืองไทย เป็นการกระทำไปเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของคนไทยในชุมชนไทยเท่านั้น สารัตถะคำสอนในพุทธศาสนาที่แท้จริงกลับไม่ได้รับการนำมาถ่ายทอดต่อคนไทยและคนอเมริกันที่นี่ ให้สมกับบทบาทการเป็นพระธรรมทูตต่างแดน ใช่...บางวัดทำได้แต่หากเทียบสัดส่วนจำนวนวัดไทยในอเมริกาแล้วยังถือว่าน้อยมาก ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการสื่อสารแบบไร้พรมแดน ประชาชนทั่วโลกมีการติดต่อถึงกันอย่างสะดวกง่ายดาย ทำให้การแสวงหาความในเรื่องต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกง่ายดายมากขึ้น เช่น ความรู้ทางด้านพุทธศาสนาที่คนอเมริกันไม่จำเป็นต้องพึ่งพระสงฆ์ในอเมริกาอย่างเดียวก็ได้ แต่พวกเขาสามารถแสวงหาความรู้จากต้นขั้วที่ไหนในประเทศใดๆ ในโลกก็ตามได้ การอาศัยวัฒนธรรมและประเพณีเป็นเครื่องมือแสดงสถานะของความเป็นวัดหรือเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไทย นอกจากเป็นโลกทัศน์ที่แคบแล้ว ยังเป็นการจำกัดบริเวณของชุมชนไทยและวัฒนธรรมไทยให้อยู่แต่ในวงแคบๆ เฉพาะคนไทยด้วยกันเองเท่านั้นอีกด้วย ดังกรณีตัวอย่างสัญลักษณ์ตัวแทนของชุมชนไทย คือ วัด !!! ผมจึงไม่ติดใจว่า สถานที่ตั้งของวัด รูปแบบของวัดในอเมริกาจะเป็นแบบใด เช่น จะมีลักษณะเป็นวัดอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ก็ตาม แต่หากสามารถทำการเผยแผ่พุทธศาสนาต่อคนอเมริกันหรือใครๆ ก็ตามที่นี่ได้ พระสงฆ์ที่อยู่ในวัดนั้นๆ ก็ได้ชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่พระธรรมทูตอย่างสมฐานะ นอกจากนี้ ผลพวงของโลกาภิวัตน์ไม่ได้ส่งผลต่อวัดและพระสงฆ์ไทยในอเมริกาในแง่ของการค้นคว้าหาความรู้และในแง่การปฏิบัติด้านพุทธศาสนาของคนอเมริกันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ส่งผลต่อชุมชนไทยในอเมริกาโดยรวมด้วย กล่าวคือ ส่งผลให้การพยายามนำเสนอ (ขาย) วัฒนธรรมของคนในชุมชนไทยด้อยประสิทธิภาพลง หมายถึงวัฒนธรรมไทยในอเมริกาขายได้ยากมากขึ้น ขณะที่ผู้เสนอขายเองก็ไม่ได้ปรับปรุงวิธีการนำเสนอเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแต่อย่างใด วิธีการที่ใช้กันมาเมื่อ 10 หรือ 20 ปีที่แล้วใช้กันมาอย่างไรปัจจุบันก็คงใช้อย่างนั้น ไม่แปลกที่การจัดงานโปรโมทวัฒนธรรมไทยในอเมริกายังอยู่ภายใต้กรอบความคิดแบบเดิมๆ ส่วนใหญ่จำกัดอยู่แค่ชุมชนไทยด้วยกันเองมากกว่าการมีส่วนร่วมด้วยของชุมชนอเมริกัน ภาพที่เห็นไปว่าฝรั่งเข้าร่วมนั้น ฝรั่งเหล่านั้นเป็น “เขยฝรั่ง” มากกว่าคนอเมริกันที่สนใจวัฒนธรรมไทยโดยทั่วไปหรืออย่างเป็นการเป็นงาน(วิชาการ) แม้ถึงทุกวันนี้มีแต่การตั้งรับ ไม่มีการรุก กลายเป็นการจัดงานวัฒนธรรมรูทีนด้วยความคิดเพียงว่า “เมื่อมีคนไทยที่ไหนก็มีวัฒนธรรมไทยที่นั่น” ซึ่งกรอบความคิดนี้ไม่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลในยุคโลกาภิวัตน์ที่คนมีทางเลือกในการเสพวัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น อีกนัยหนึ่ง การสื่อสารที่ย่อโลกให้เล็กลง ได้บั่นทอนความสำคัญของ (สินค้า) วัฒนธรรมไทยในอเมริกาลงอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่ด้านศาสนาอย่างเดียว หากครอบคลุมไปถึงวัฒนธรรมทุกแขนง ทั้งๆ ที่โดยเนื้อหาแล้ววัฒนธรรมไทยยังมีคุณค่าเชิงพาณิชย์อยู่มาก ปัญหากลับอยู่ที่วิสัยทัศน์และการบริหารจัดการ อย่างน้อยสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความคิดและการปฏิบัติที่ล้าหลังของชุมชนไทยในอเมริกา คือ การขึ้นตรงหรือยอมซูฮกต่อรัฐราชการไทยซึ่งก็คือ สถานทูต สถานกงสุลไทยในอเมริกา มากกว่าการขึ้นตรงกับบุคคลและหน่วยงานอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ก่อนหน้าที่การสื่อสารไร้พรมแดนจะมีอิทธิพลต่อชาวโลกมากมายเช่นปัจจุบัน ชุมชนไทยในอเมริกาถูกคาดหวังในฐานะตัวแทนด้านวัฒนธรรมของประเทศไทยอยู่มาก ชุมชนไทยในอเมริกาเองก็มีผู้ตั้งตนเองเป็นครูทางด้านวัฒนธรรมไทย อบรมสั่งสอนและพาทั้งเยาวชนและคนไทยทั่วไปในอเมริกาไปท่องเที่ยวเมืองไทยจนกลายเป็นธุรกิจประจำปี แต่เมื่อการสื่อสารไร้พรมแดนโดยเฉพาะโซเชียลมีเดียแพร่ระบาดไปทั่วโลกก็พลอยทำให้วิธีการทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมทำนองนี้พลอยซบเซาไปด้วย ทั้งคนไทยและคนอเมริกันเองก็มีช่องทางในการเลือกเสพวัฒนธรรมไทยที่หลากหลายมากขึ้น ทางเลือกในด้านการเสพและแสวงหาประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมไทยจึงไม่ถูกผูกขาดกับผู้นำชุมชนคนใดคนหนึ่งหรือแม้กระทั่งกับรัฐราชการของไทยอีกต่อไป ดังเช่น กรณีของบทบาทของหน่วยงานรัฐราชการอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอเมริกา ที่น่าถูกจับตามองว่าอยู่ระหว่างกึ่งกลางของความจำเป็นต้องคงไว้กับความไม่จำเป็นต้องคงไว้ กล่าวคือมีหรือไม่มีสำนักงานททท.ก็ค่าเท่ากัน นอกเหนือไปจากหน่วยงานอย่าง ททท.แล้วหน่วยงานรัฐราชการหน่วยงานอื่นก็เช่นเดียวกัน ภายในวงเล็บว่าหากรัฐไทยต้องการประหยัดงบประมาณ เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐราชการไทยในต่างแดนโดยเฉพาะในอเมริกาแทบไม่เคยได้รับการประเมินปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์หรือกระบวนทัศน์ของโลกเอาเลย น่าสังเกตว่า ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองของคนไทยหลายปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้รัฐราชการไทยในอเมริกาด้อยความสำคัญลงไปมาก รัฐราชการเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นตัวแทนอำนาจรัฐบาลไทยในต่างแดน เมื่อเกิดขั้วทางการเมืองขึ้น คนไทยบางกลุ่มจึงเลิกคิดว่าหน่วยงานรัฐราชการเหล่านี้จะสามารถพึ่งพาอาศัยอะไรได้มากไปกว่าการเป็นหน่วยงานสำหรับ “ช้างเหยียบนาพระยาเหยียบเมือง”ทั้งหลายเท่านั้น ขณะเดียวกันภาพลักษณ์และศักยภาพของตัวแทนชุมชนไทย ได้แก่ ผู้นำของสมาคมไทย (เช่น เรียกกันว่า นายกสมาคมไทย เป็นต้น) ในรัฐหรือเมืองต่างๆ ก็เสื่อมมนต์ขลังลง บุคคลและสมาคมไม่สามารถปรับตนและนำพาตนเองเข้าสู่กระบวนทัศน์ร่วมสมัยได้ เคยปฏิบัติเมื่อ 10 ปี 20 ปีที่แล้วอย่างไรทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้น เช่น ยังคงมีการจัดงานบอลล์ งานรื่นเริง เต้นรำสุนทราภรณ์ เพื่อหาเงินเข้าสมาคมหรือกิจการสาธารณกุศล โดยไม่มีการประเมินหรือตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วผลที่สังคมได้รับเป็นอย่างไร คุ้มค่าหรือไม่ ควรมีวิธีการช่วยเหลือสังคมอย่างไรถึงจะดีที่สุดเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือควรช่วยเหลือคนไทยในชุมชนไทยในอเมริกาที่กำลังเดือดร้อนก่อนดีไหม เป็นต้น หากในความเป็นจริงแล้วการจัดงานหรือกิจกรรมส่วนรวมส่วนใหญ่ของสมาคมคนไทยหลายแห่งกลับเน้นไปที่การตอบสนองต่อระบบและวัฒนธรรมการทำงานของหน่วยงานรัฐราชการในเมืองไทยเพื่อหน้าตาทางสังคมเสียมากกว่านั่นเอง กรณีตัวอย่างที่สำคัญ คือ “วัด” สิ่งที่เห็นโดยทั่วไป ลักษณะของวัดไทยในอเมริกาได้แก่ การนำกรอบความคิดรูปแบบของวัดในเมืองไทยส่วนใหญ่มาใช้ปฏิบัติ นั่นคือ การมุ่งสร้างศาสนวัตถุเป็นประเด็นหลัก การเผยแผ่ศาสนธรรมเป็นเรื่องรอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหากว่าชาวพุทธไทยจะคิดเช่นนี้ เพราะศาสนวัตถุเป็นของเห็นได้ง่าย โดยเฉพาะชุมชนไทยในอเมริกาที่อยู่ท่ามกลางสังคมส่วนใหญ่คือสังคมและวัฒนธรรมอเมริกัน ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วก็เป็นชุมชนที่ไม่ได้หยั่งลึกด้านวัฒนธรรมอะไรมากมาย กิจกรรมที่จัดขึ้นในชุมชน อย่างเช่น กิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรมจึงเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อ “การรำลึกถึงความหลัง” ในเมืองไทยของพวกเขามากกว่าอย่างอื่น ดูได้จากกิจกรรมสันทนาการหรือกิจกรรมบันเทิงที่นิยมจัดกันอยู่บ่อยครั้ง และวัดเองก็ได้กลายเป็นสถานที่หนึ่งในการจัดกิจกรรมบันเทิงที่ว่านี้