เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ระยะนี้มีผู้พูดคำว่า “ความจริง” กันมาก “ความจริง คือ ความจริง” (หวย 30 ล้าน) “นายกรัฐมนตรีแห่งความเป็นจริง” ที่ประกาศว่า “เราต้องเอาชนะความเกลียดด้วยความจริงและความรัก” (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) และ การอ้างหนังสือ “ข้าพเจ้าทดลองความจริง” เรื่อง “บาป 7 ประการ” หนึ่งในนั้นคือ “เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ” ของท่านมหาตมะ คานธี (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) “ความจริง ความดี ความงาม” คือ รากฐานของสังคมไม่ว่าในอารยธรรมตะวันตก หรือ ตะวันออก เป็นคุณธรรม 3 ประการ มาตรฐานของคุณภาพชีวิตที่ดี ที่เราพูดกันว่า “ถูกต้อง-ดี-งาม” มหาตมะ คานธี เป็นหนึ่งใน “บุคคลแห่งศตวรรษที่ 20” ที่ชาวอินเดียยกย่องเป็นบิดาแห่งชาติ ชื่อของท่านเป็นเครื่องหมายของคนดีมีคุณธรรม คนซื่อ คนจริงใจ คนเรียบง่าย ผู้นำที่ยึดหลักอหิงสา การต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรง สู้ด้วยหัวใจ ความอดทน ยืนหยัดในความถูกต้อง ไม่ร่วมมือกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ปกติคนตะวันออกไม่เขียนอัตชีวประวัติ ท่านเขียน แต่ไม่ได้ต้องการอวดอ้าง ด้วยมั่นใจในวิถีปฏิบัติของตน และต้องการให้ชีวิตของท่านเป็นบทเรียนให้พี่น้องชาวอินเดีย อย่างที่ท่านสอนนักการเมืองอินเดีย โดยเล่าเรื่องจากมหาภารตะ เมื่ออรชุนจะออกรบก็เกิดความลังเล เพราะต้องออกไปรบกับพี่น้อง พระกฤษณะทรงแปลงเป็นสารถีรถม้าของอรชุน ได้พูดกับอรชุนเป็นเวลานาน สอนว่า อย่าได้คิดแต่ว่าจะชนะถึงรบ แต่ให้ไปรบเพราะเป็นหน้าที่ อรชุนตัดสินใจออกรบ คำพูด-คำสอนของพระกฤษณะนั้นคือ “ภควัตคีตา” มหาคัมภีร์ของฮินดู มหาตมะ คานธีสอนนักการมืองอินเดียว่า อย่าได้คิดทำอะไรเพียงเพราะจะชนะ จะได้ แต่ให้ทำเพราะเป็นหน้าที่ ที่เพราะเป็นสิ่งที่ “ถูกต้อง-ดี-งาม” ท่านสอนว่า การแสวงหาสัจธรรมแห่งชีวิตต้องกระทำโดยการเรียนไม่รู้จบ และต้องทำงานเพื่อรับใช้สังคม เพราะนั่นคือการพัฒนาตนไปสู่ความสมบูรณ์ คือการบรรลุธรรม การค้นพบตัวเอง (self-realization) โลกยกย่องมหาตมะ คานธีไม่ใช่เพราะท่านได้มีส่วนสำคัญในการเรียกร้องเอกราชของอินเดียและชัยชนะเหนืออังกฤษเท่านั้น แต่เป็นเพราะชัยชนะเหนือ “ตัวเอง” ของท่าน นั่นคือที่มาของบารมีที่ยิ่งใหญ่ ที่รวมพลังแผ่นดินอินเดียเข้าด้วยกันจนสามารถได้เอกราชคืนมา นั่นคือที่มาของ “อหิงสา” และ “สัตยาเคราะห์” หรือ “พลังแห่งสัจจะ” (truth force) อันเป็นการขัดขืนแบบนิ่งเฉย (passive resistance) การอดอาหารเป็นวิธีการหรือเครื่องมือสำคัญของอหิงสา ท่านสอนว่า “การอดอาหารจะช่วยกำจัดกิเลสราคะของสัตว์ที่มีในตัวเราได้ก็ต่อเมื่อเราอดอาหารพร้อมด้วยการตั้งปณิธานอันแนวแน่ว่า เราจะควบคุมตัวเราเองให้ได้” ผู้ที่อดอาหารแต่ยังเต็มไปด้วยความโกรธ เกลียด เคียดแค้นในใจ ย่อมไม่ได้อานิสงค์ของการอดนั้น “ผู้มีร่างกาย เมื่อเว้นอาหาร คือสิ่งที่รู้สึกด้วยอินทรีย์แล้ว อารมณ์ทั้งหลายย่อมจืดจางลง แต่ความหื่นกระหายนั้นยังมีอยู่ แต่เมื่อประสบปรมัตถธรรม ความหื่นกระหายจึงจะดับสนิท” มหาตมะ คานธี เห็นว่า “อารยธรรมตะวันตกผิดกับอารยธรรมตะวันออก เพราะอารยธรรมของชาวตะวันตกตั้งอยู่บนฐานของการใช้กำลัง” หลักอหิงสาเป็นปรัชญาที่มีความซับซ้อน เป็นอะไรที่มากไปกว่าการไม่ใช้ความรุนแรง เพราะการไม่ใช้ความรุนแรงบางครั้งอาจจะสร้างความรุนแรงมากกว่าการใช้ความรุนแรงโดยตรงเสียอีก ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ควรไปอ่านหนังสือ “ข้าพเจ้าทดลองความจริง” ให้จบอย่างตั้งใจ หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกโดย “คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา” ซึ่งผมมีส่วนในการก่อตั้งร่วมกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และผู้นำศาสนาพุทธ-คริสต์อีกจำนวนหนึ่ง ตีพิมพ์เมื่อปี 2525 โอกาส 200 ปีรัตนโกสินทร์ เป็นหนังสือขนาด 8 หน้ายก หนา 713 หน้า ที่อาจารย์กรุณา และอาจารย์เรืองอุไร กุศลาศัย ได้แปลด้วยภาษาที่งดงาม (พิมพ์อีกเมื่อปี 2010 โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง ซื้อได้ทางซีเอ็ด) อาจารย์กรุณาไปเรียนที่อินเดียจนแตกฉานทั้งภาษาบาลี สันสกฤต ฮินดี และอังกฤษ ได้ไปศึกษาที่ศานตินิเกตัน สถาบันอันลือชื่อของรพินทรนาท ฐากูร ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่-คุรุเทพ ที่ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ซึ่งท่านก็ได้รู้จัก รวมทั้งได้พบท่านบัณฑิตยวาหะราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ท่านติดคุกที่อินดีย 4 ปี เพราะไทยประกาศสงครามกับพันธมิตร ถูกส่งกลับเมืองไทยทางเรือมาถึงสิงคโปร์ เดินเท้าจากสิงคโปร์กลับเมืองไทย ติดคุกในข้อคอมมิวนิสต์ในยุคเผด็จการครองเมือง 10 ปี ท่านใช้เวลาในคุกแปล “ข้าพเจ้าทดลองความจริง” “มหาภารตะ” และ “คีตาญชลี” ของรพินทรนาท ฐากูรและเล่มอื่นๆ อาจารย์กรุณาเป็นผู้ใหญ่ที่ผมโชคดีที่ได้รู้จักและเคารพนับถือมาก ท่านอ้างอิงคำสอนของมหาตมะ คานธีใน “ข้าพเจ้าทดลองความจริง” เพื่อ “สอน” แบบเตือนและให้กำลังใจผมว่า “การที่จะให้คนส่วนใหญ่ลงมือทำอะไรสักอย่างนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่ต้องการจะปฏิรูปสังคมจะมีความกระตือรือร้นมากเป็นพิเศษ แต่สังคมเองจะไม่รู้สึกมีความกระตือรือร้นเช่นนั้นเลย สิ่งที่ผู้ปฏิรูปสังคมจะได้รับตอบแทนจากสังคมก็คือ การขัดขวาง ความชิงชัง และแม้แต่การประหัตประหารอย่างเอาเป็นเอาตาย” (หน้า 323) ท่านมหาตมะคานธีถูกยิงถึงแก่อสัญกรรมเมื่ออายุ 78 ปี ปีนี้นับเป็นปีที่ 150 แห่งชาตะกาลของท่าน ขอร่วมรำลึกถึง “มหาตมะ” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีจิตใจที่ยิ่งใหญ่” ผู้นำอหิงสาของมนุษยชาติผู้นี้