เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com การประดิษฐ์ประดอยพานไหว้ครูให้ดูทันสมัยก็คงไม่มีปัญหา ถ้าสะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของเด็กนักเรียน คำถามคือ ทำไมต้องเอาเรื่องการเมืองมายุ่งกับการไหว้ครู ไม่มีโอกาสอื่นๆ อีกหรือที่จะแสดงออกทางการเมือง เพื่อแสดงว่ารักประชาธิปไตย ถ้าไม่เห็นด้วยกับการไหว้ครู เพราะเป็นการครอบงำของประเพณีที่แบ่งชนชั้น สังคมอุปถัมภ์ ประเทศอื่นเขาไม่เห็นไหว้กันแบบนี้ ในโรงเรียนที่ครูนักเรียนมีแนวคิดทางการเมืองแบบนี้ก็เลิกไปเลยไม่ดีกว่าหรือ การยอมจัดประเพณีก็เหมือนกับยังยอมก้มหัวให้สังคมศักดินาชนชั้น อย่างที่นักการเมืองบางคนยุยง การไหว้ครูเป็นประเพณีไทยที่สืบทอดกันมานาน ไม่ทราบว่าไปขัดแย้งกับ “ประชาธิปไตย” ตรงไหน ขนาดสังคมอเมริกันที่ว่าเป็นประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังยกย่องให้ “ความกตัญญูรู้คุณ” หรือ “การสำนึกบุญคุณคน” เป็นคุณสมบัติที่พึงปรารถนาข้อแรกของคนที่จะอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุข คำว่า “ขอบคุณ” เป็นคำง่ายๆ และมีคุณค่าความหมายมากในชีวิตของผู้คน ที่ไม่ได้เกิดมาเอง เติบโตเอง แต่เป็นมาด้วยความเมตตาของผู้อื่น ที่ตนเป็นอยู่และจะเป็นไปก็ยังต้องอาศัยคนอื่น ครูบาอาจารย์ตามประเพณีไม่ได้หมายถึงแต่เพียงบุคคล แต่หมายถึง “จิตวิญญาณครู” (spirit) หรือว่า “วิญญาณ” (soul) ของครูที่ถ่ายทอดสืบทอดส่งต่อกันมาแต่โบราณกาล จากรุ่นสู่รุ่น ครูบาอาจารย์ในอดีตไม่ได้ถ่ายทอดแต่วิชาความรู้ในความหมายวันนี้ที่แยกส่วน แต่ถ่ายทอด “วิชชา” อันเป็นที่มาของทั้งศาสตร์และศิลป์ พร้อมจิตวิญญาณของตัวครูเอง ในวัฒนธรรมจีน บางสำนัก เจ้าสำนักถ่ายทอดทุกอย่างให้ศิษย์แล้วก็ตาย เพราะให้ “หมด” ทุกอย่างทั้ง “พลังชีวิต” ของตนเอง ศิษย์จึงไม่ได้รับเพียงแต่ “ความรู้” แต่รับพลังชีวิต รับจิตวิญญาณของครู สังคมเปลี่ยนไป สังคมไทยรับเอาระบบการศึกษาแบบตะวันตกเต็มตัว มาพร้อมกับวิธีคิดวิธีปฏิบัติทั้งหมด ระบบคุณค่าเปลี่ยน ความสัมพันธ์ครูนักเรียนก็เปลี่ยนไป ในนามเสรีนิยมประชาธิปไตยภายใต้ระบบ“ทุนนิยม” ที่อะไรๆ กลายเป็นเรื่องธุรกิจ เป็นผลประโยชน์ เป็นการลงทุนเพื่ออำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง การเคารพนับถือครูวันนี้ไม่เหมือนในอดีตแล้ว จึงไม่แปลกที่ประเพณีการไหว้ครูจะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อะไร ส่วนใหญ่ทำไปเพียงเพราะ “เป็นประเพณี” เท่านั้น แล้วจะแปลกอะไรที่พานไหว้ครูจะเพี้ยนไปด้วย เพราะไม่ได้สะท้อนความรู้สึกนึกคิด ความกตัญญูรู้คุณ ความสัมพันธ์แบบ “ครู-ศิษย์” ในอดีต ที่เชื่อมโยงกันด้วยความรักและผูกพันกันทั้งชีวิตและจิตวิญญาณจริงๆ การสืบทอดประเพณีการไหว้ครู ถ้าไม่เข้าใจ ไม่ซาบซึ้งจริงๆ ทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ทำให้สนุกสนาน ใช้เป็นโอกาสล้อเล่นล่อเลียน หรือแสดงออกแบบเสียดสีทางการเมืองเท่านั้น ครูมวยใหญ่บางท่านวิจารณ์การไหว้ครูของนักมวยบางคนบางค่ายที่เปลี่ยนท่าไหว้ครูจากพระรามแผลงศรมาเป็นท่ายิงปืนกลกับปาระเบิดใส่คู่ต่อสู้ เป็นการทำลายคุณค่าความหมายของการไหว้ครู ซึ่งผูกไว้กับความเชื่อและตำนาน สนุกสนานอย่างไรก็ไม่ควรทำลายหรือก้าวล่วงคุณค่าความหมายเดิม จากพานข้าวตอก ดอกมะเขือ ดอกเข็ม และหญ้าแพรก ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งไปเป็นพานสัญลักษณ์เสียดสีการเมือง รูปโลโก้พรรคและนักการเมืองอย่างชัดเจน ไม่รู้ว่าเป็นการไหว้ครูหรือไหว้นักการเมืองกันแน่ คงไม่มีใครไปว่านิสิตนักศึกษาจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ที่ล้อเลียนการเมืองในงานฟุตบอลประเพณี ทำกันมานานจนเป็น “ประเพณี” ถ้าหากนักเรียนอยากมีประเพณีที่ล้อการเมืองก็มีมากมายหลายวิธีหลายโอกาส ครูเองถ้ามีวิญญาณครูจริง (ไม่ใช่หัวคะแนน) ก็แนะนำเด็กให้พัฒนาตนเองเป็นเด็กแห่งสังคมประชาธิปไตยได้หลายวิธี แนะนำครูและนักการเมืองที่อยากเห็นเด็กนักเรียนคนรุ่นใหม่เป็น “ประชาธิปไตย” ให้ไปศึกษาชีวิตและผลงานของ “ครูชบ ยอดแก้ว” ที่ถึงแก่กรรมไปหลายปีก่อน ท่านเป็นครูในอุดมคติที่เคารพศักดิ์ศรีของเด็ก เห็นศักยภาพและพลังสร้างสรรค์ภายในของเด็ก ได้ริเริ่มทำกลุ่มออมทรัพย์นักเรียน ครูชบเคารพกติกาของโรงเรียนที่ร่วมกันร่างขึ้นทั้งครูและนักเรียน ไม่ใช่ครูที่ใช้อำนาจแบบผู้อุปถัมภ์ เป็นครูที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ทำให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง โดยทำ “กลุ่มสัจจะออมทรัพย์” ไม่ใช่เพื่อเงิน แต่ “เพื่อพัฒนาครบวงจรชีวิต” โดยมีจุดมุ่งหมายพื่อปลูกฝังคนให้มีนิสัย 7 ประการ 1. เพื่อให้เกิดนิสัยพึ่งตนเอง มีความเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ตัว 2. เพื่อให้เกิดวินัยในตนเอง มุ่งมั่นการทำงานให้สำเร็จ 3. เพื่อให้เกิดนิสัยขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์ ประหยัด และอดทน 4. เพื่อให้เกิดนิสัยรู้จักคิด วิจารณ์และตัดสินใจอย่างมีหตุผล 5. เพื่อให้เกิดขันติธรรมต่อการวิจารณ์ รู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล หรือหมู่เหล่า 6. เพื่อให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักยกย่องผู้อื่น 7. เพื่อให้เกิดนิสัยทำงานกับผู้อื่นได้ โดยรู้จักเป็นผู้ให้ ผู้รับ ผู้นำ และเป็นผู้ตามที่ดี ครูชบตายไปแล้ว ใครๆ ก็จดจำคุณงามความดีและสิ่งที่ท่านได้ทำเพื่อสังคมไทย เพื่อเด็กไทย ลูกศิษย์ยังกราบไหว้รูปของท่านด้วยความกตัญญูรู้คุณอย่างสนิทใจ ไม่มีใครเรียกท่านและครูดีๆ เป็น “อี” เป็น “ไอ้” เหมือนที่เรียกนักการเมืองบางคน นักเรียนอยากบูชานักการเมืองหรือบูชาครูก็ดูเอาเอง