ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ เพิ่งกลับจากประเทศญี่ปุ่น ด้วยมีโอกาสติดตามไปกับทีมงานผลิตสารคดีชุด “130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-ญี่ปุ่น” โดย บริษัท ไทย ดอคคิวเมนทารี่ จำกัด ทำให้ได้สัมผัสเรียนรู้อะไรมากมาย มีเรื่องราวที่คล้ายหรือเกี่ยวเนื่องถึงไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศหมู่เกาะเช่นเดียวกันกับ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีเกาะอยู่ราว 6,800 เกาะ จึงเป็นประเทศที่มีความหลากหลายมาก เกาะตอนเหนือสุด คือ ฮอกไกโด มี “ชนเผ่าไอนุ” ชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของญี่ปุ่น และเกาะทางตะวันออกของประเทศรัสเซีย รูปร่างหน้าตาการแต่งกายจะต่างกับชาวญี่ปุ่นโดยทั่วไป ลักษณะออกไปทางมองโกลอยด์ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์จัดให้เป็นกลุ่ม “ออสตราลอยด์ตอนเหนือ” ปรากฏหลักฐานว่าชาวไอนุเคยทำการค้าขายกับประเทศไทย โดยมี “โอ่งโบราณ” เป็นประจักษ์พยาน รวมถึงของเล่นสำหรับเด็กๆ ที่คล้ายกัน นั่นคือการละเล่นเดินกะลาโดยใช้เปลือกหอยแทนกะลา สิ่งที่เจ็บปวดสำหรับชาวไอนุ คือ ครั้งหนึ่งเคยถูกกีดกันจากชาวญี่ปุ่น ถูกจำกัดเรื่องที่อยู่อาศัยและสิทธิต่างๆ กระทั่งต้องออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ยอมรับชาวไอนุเป็นชาวญี่ปุ่นด้วย กระทั่งในที่สุด รัฐบาลญี่ปุ่นจึงให้การยอมรับว่าชาวไอนุเป็นชนพื้นเมืองญี่ปุ่นที่มีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นของตัวเอง ในปี พ.ศ.2551 (ค.ศ.2008) ปัจจุบันคาดการกันว่ามีชาวไอนุอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นประมาณ 25,000-200,000 คน และในรัสเซีย 100-1,000 คน อีกหมู่เกาะหนึ่งที่น่าสนใจคือ “โอกินาวา” หรือ “อาณาจักรริวกิว” (หมู่เกาะนันเซโชโตะ) ในอดีต ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะคิวชู มีเกาะรวมกันกว่า 70 เกาะ อยู่ห่างจากไต้หวันเพียง 200 กิโลเมตร โอกินาวา เคยปกครองตนเอง เปิดรับชาวต่างชาติมานานนับเป็นร้อยๆ ปี ก่อนจะถูกรวบรวมกลายเป็นประเทศญี่ปุ่นในปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศจีนยุคราชวงศ์หมิงเรียกหมู่เกาะแห่งนี้ว่า “หลิวจิ่ว” แต่ญี่ปุ่นออกเสียงเป็น “ริวกิว” โดย “ริวกิว” หรือ “โอกินาวา” มีภูมิประเทศตั้งอยู่บนแนวกึ่งเขตร้อน อุณหภูมิเฉลี่ย 23 องศาเซลเซียส มีหมู่เกาะรอบนอกที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง และเป็นที่มาของการถูกตั้งเป็นข้อสังเกตว่า คนพื้นเมืองดั้งเดิมที่นี่มีสายเลือด “มลายู” อยู่ด้วย เช่น เกาะอิริโอะโมเตะ เป็นเกาะใหญ่แห่งหนึ่งที่มีลักษณะต่างจากเกาะอื่นๆ ของญี่ปุ่น มีกลิ่นอายแบบ “นิวกินี” หรือ เกาะอิชิงากิ มี “เรือแคนนูขุด” สีสันสดใส ที่ทำให้ถูกมองว่ามีความเป็น “โพลินีเซีย” มากกว่าความเป็นญี่ปุ่น รวมถึง เกาะฮาเตรุมะ ทางตอนใต้สุด เป็นแผ่นดินผืนสุดท้ายของญี่ปุ่น พ้นจากนี้ไปก็คือ ประเทศฟิลิปปินส์ ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ช่วงหลังนี้มีความพยายามจากนักวิชาการหลายสำนัก ลงมือศึกษาวิจัยเอกสารต่างชาติที่กล่าวถึงประเทศไทย นั่นหมายรวมถึงเอกสารจีน ริวกิว และญี่ปุ่น โดยเอกสารของริวกิว สะท้อนว่า พ่อค้าริวกิวเดินเรือไปทำการค้าที่ปัตตานีตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2033 (ค.ศ.1490) และได้บันทึกการเดินเรือไว้ ส่วนญี่ปุ่นมีการติดต่อทางการค้าและการทูตกับปัตตานีในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 เอกสารเหล่านี้นี่เองที่ฉายภาพให้เห็น “ชาวจีนและชุมชนจีนในปัตตานี” ดังในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ปัตตานี ในคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 จากบันทึกของ จีน ริวกิว และญี่ปุ่น” โดย อ.ปิยดา ชลวร ซึ่งสะท้อนบทบาทของ “จีนอ” หรือ “คนจีน” ที่มีบทบาททางการค้าในปัตตานีเป็นอย่างมาก ในฐานะ “คนกลาง” ในการติดต่อค้าขาย “ช่วงศตวรรษที่ 16-17 มีชาวจีนจากฮกเกี้ยนและกวางตุ้งเป็นจำนวนมาก เข้ามาในปัตตานี บ้างก็มาทำการค้าเป็นครั้งคราว บ้างก็มาตั้งรกรากจนได้ยศตำแหน่งในราชสำนัก เช่น ดาโต๊ะ และ เซรีนารา ชาวจีนเหล่านี้ทำการค้ากับพ่อค้าชาติอื่นที่เข้ามาในปัตตานี โดยนำสินค้าจากจีน เช่น ผ้าไหมและเครื่องถ้วยมาขาย ด้วยความที่สินค้าจีนเป็นที่ต้องการมากในขณะนั้น พ่อค้าชาวยุโรปจึงเข้ามาซื้อสินค้าจีนในปัตตานี ทำให้การค้าปัตตานีรุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงปี 1550-1630 ปัตตานีขณะนั้นเป็นที่รู้จักของชาวฮอลันดาในฐานะประตูสู่จีนและญี่ปุ่น” (“ประวัติศาสตร์ปัตตานี ในคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 จากบันทึกของ จีน ริวกิว และญี่ปุ่น”, น.94) ในข้อเท็จจริงแล้ว ชุมชนชาวจีนยุคนั้นปรากฏอยู่แล้วหลายที่ เช่น เวียดนาม กัมพูชา อยุธยา สงขลา ปัตตานี ไปจนถึงเมืองท่าในแถบหมู่เกาะ เช่น สุมาตรา ชวา บอร์เนียว และ ฟิลิปปินส์ แต่ไม่มีเอกสารระบุชัดเจนว่า ชาวจีนเริ่มเข้ามาที่ปัตตานีเมื่อไร เพียงมีหลักฐานว่า การค้าระหว่างริวกิวกับปัตตานีในช่วงปี 1498-1543 ทำให้ทราบว่าน่าจะมี “ชุมชนชาวจีน” ในปัตตานี เกิดขึ้นแล้ว “และน่าจะกลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นเมื่อชาวจีนชื่อ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม เข้ามาในปัตตานีช่วงทศวรรษ 1570” อ.ปิยดา ชลวร ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า โดยปกติแล้วเรื่องราวเกี่ยวกับชาวจีนที่ไปตั้งรกรากในต่างแดนมักไม่ค่อยได้รับการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์เท่าใดนัก ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ไทย หรือประวัติศาสตร์ปัตตานี ฮิกายัต ปัตตานี แทบไม่ได้พูดถึงชาวจีนเลย มีเพียงตอนที่กัปตันชาวจีนถวายลูกปืนทำด้วยหินแด่กษัตริย์ปัตตานี อันเป็นจุดกำเนิดของการหล่อปืนพญาตานี คนหล่อปืนที่บันทึกใน ฮิกายัต ก็ไม่ใช่ชาวจีนเหมือนที่พงศาวดารเมืองปัตตานีฉบับของไทยบอก แต่เป็นคนมาจาก “เมืองรุม” หรืออาณาจักรออตโตมัน สะท้อนให้เห็นว่า ผู้แต่ง ฮิกายัต เน้นความสัมพันธ์กับดินแดนแถบตะวันออกกลางมากกว่าจะพูดถึงความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งการเล่าเรื่องเช่นนี้น่าจะมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความชอบธรรมของผู้ปกครองที่รับศาสนาอิสลามเข้ามา ตำนานของรัฐมลายูอื่นๆ ก็มักจะพูดถึงความสัมพันธ์กับประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางเช่นกัน “พงศาวดารจีนเองก็ไม่ค่อยพูดถึงคนจีนเหล่านี้เท่าใดนัก เพราะทางการจีนมองว่าพวกเขาเป็นพวกทรยศประเทศ อย่างไรก็ตาม ตงซี หยังเข่า หมิงสื่อ และเอกสารท้องถิ่นของจีนหลายฉบับพูดถึงชาวจีน (หรือในสายตาของทางการจีนคือโจรสลัด” ในปัตตานี” (น.96) อย่างไรก็ตาม แอนโทนี รีด (Anthony Reid) นักวิชาการชาวนิวซีแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สันนิษฐานว่า ประชากรของปัตตานีในคริสต์ศตวรรษที่ 17 น่าจะอยู่ระหว่าง 20,000-50,000 คน จำนวนพอๆ กับยะไข่ เวียงจันทน์ และพนมเปญ จำนวนคนจีนในสมัยนั้นจึงน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 5,000 คน วันเน็คบอกว่า “ในเมืองและนอกเมืองปัตตานี รวมทั้งอาณาเขตโดยรอบมีคนอาศัยอยู่ 10,000 คนขึ้นไป หนึ่งในสามเป็นคนมลายูหรือมุสลิม หนึ่งในสามเป็นคนจีน รวมทั้งพวกลูกครึ่ง อีกหนึ่งในสามเป็นคนสยาม” ทั้งนี้ มีเรื่องราวเกี่ยวกับชาวจีนที่มาตั้งรกรากในปัตตานีอีกมากมายที่น่าสนใจ เช่น เรื่องของชาวจีนชื่อ “หลินหยิ่นหลิน” และ “หลี่กุ้ย” ในบันทึกของญี่ปุ่นที่บอกว่า เป็นตัวแทนการค้าและการทูตของกษัตริย์ปัตตานี ติดต่อกับ โชกุนโทกุกาวะ อิเอยะสึ หรือกระทั่งการที่คนจีนมีตำแหน่งเป็น “หน่าเต๋อ” หรือ “ดาโต๊ะ” ซึ่งเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีหรือขุนนางในปัตตานีและรัฐมลายูอื่นๆ ผู้เขียนเพียงยกเรื่องราวจากยุคริวกิว ญี่ปุ่น จีน ปาตานี (ปัตตานี) ไทย เพื่อสะท้อนบทบาทของชาวจีนในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้มีประชากร “มลายูจีนอ” และ/หรือ “ชาวไทยเชื้อสายจีน” อยู่เป็นจำนวนมาก และกลายเป็นพลังสำคัญที่ร่วมพัฒนาพื้นที่ทั้งเชิงสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ รวมกับชาวมลายูทั้งมวล ไว้ตอนหน้ามาติดตามดูกันว่าบทบาทของชาวจีนที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้น เป็นเช่นใด