เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com นักพูดนักแสดงโวหารย้ายจากเวทีหาเสียงตามชุมชนเข้าไปในสภา ประชันกันด้วยฝีปากวาทะศิลป์หลากหลายรูปแบบและสีสัน ตั้งแต่ชวนขบขันไปถึงหมั่นไส้ น่าฟังบ้างน่าเบื่อบ้าง พูดเก่งไม่ได้หมายถึงพูดดีเสมอไป จึงมี “ศรีธนญชัย” เป็นยี่ห้อคนที่เก่งกาจด้านโวหาร ที่พูดแบบฉลาดแต่หลอกและโกง อยากเสนอกรอบเกณฑ์ให้นำมาพิจารณาการพูดที่ดี ไม่ว่าจะที่ไหน ในสภาหรือนอกสภา บนเวทีทางการหรือพูดจาประสาชาวบ้าน ก็คงมีหลักการคล้ายกันว่า อะไรที่คนเห็นว่าพูดดีที่อยากฟัง และอะไรที่ไม่ดีที่ไม่อยากได้ยิน เริ่มจากการพูดอย่างไรที่คนไม่อยากฟัง (แต่ก็เอากับเขาด้วยเหมือนกันในบางครั้ง) ที่เรียกกันว่า “บาป 7 ประการของการพูดที่ไม่ดี” รวมทั้งการเขียนไม่ดี การแชร์เรื่องไม่ดีในโซเชียลมีเดีย 1.นินทา (gossip) การพูดถึงคนอื่นในด้านที่ไม่ดี เรื่องดีๆ ไม่เล่า กลับไปเอาแต่เรื่องร้าย ข้อบกพร่อง ของคนอื่นมาเล่าให้เพื่อนฟัง คนที่นินทาคนอื่น ก็มักจะถูกนินทาลับหลังเช่นเดียวกัน 2.ตัดสิน (judge) ชอบว่าคนอื่น ตัดสินคนอื่น ทำตัวเป็นผู้พิพากษา ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้ดีไปกว่าเขาประเภท “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” บางคนเห็นฝุ่นในตาเพื่อน แต่ไม่เห็นก้อนหินในตาตน 3.มองลบ (negativity) เห็นอะไรเป็นปัญหาไปหมดแม้แต่โอกาส น้ำเกือบเต็มแก้วก็บอกว่า ไม่เห็นเต็มเลย ยังพร่องอยู่ มองไม่เห็นด้านดีๆ ด้านบวกของคน สถานการณ์และทุกสิ่งรอบตัว 4.ขี้บ่น (complain) บ่นได้ทุกเรื่อง ใกล้ตัว ไกลตัว การบ้าน การเมือง เรื่องคน ดินฟ้าอากาศ คนขี้บ่นมักไม่รู้ว่าตนเป็นคนน่าเบื่อ น่าจะบันทึกเสียงไว้แล้วเอามาฟังเพื่อนับว่า วันหนึ่งบ่นได้กี่เรื่อง 5.แก้ตัว (excuses) มีข้ออ้าง ข้อแก้ตัวเสมอ หรือโทษคนอื่น เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น เลี่ยงบาลี เอาสีข้างเข้าถู มีลักษณะการพูดจาคล้ายศรีธนญชัยมากที่สุด แบบรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี 6.ขี้โม้ โอ้อวด โกหก (lying) การพูดความจริงครึ่งเดียวเป็นการโกหก การพูดจาเกินเลยก็เป็นการโกหก โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ใส่สีตีไข่ บางคนโกหกจนเชื่อว่าสิ่งที่ตนโกหกนั้นเป็นความจริง แบบนี้ก็ศรีธนญชัยเช่นเดียวกัน ฉลาดแต่โกง แนบเนียนจบจับไม่ได้ และผู้คนก็มักหลงเชื่อเสียด้วย 7.เชื่อมั่นยืนยันหัวชนฝา (dogmatism) ไม่ยอมฟังเหตุผลคนอื่น สับสนระหว่างข้อเท็จจริงกับความเห็น (facts and opinions) ชอบเอาความคิด ความเห็น ความปรารถนามาเป็นเหตุผลและหลักฐานความจริงแบบหัวชนฝา ใจแคบ ปิดกั้นไม่รับฟังเหตุผลของคนอื่น คนที่พูดจาแบบข้างต้นไม่น่าจะเป็นคนที่มีความสุขนัก น่าจะเป็นคนเครียด ยิ้มหัวไม่เป็น บูดทั้งวัน ความดันน่าจะสูง เบาหวานอาจตามมา พร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บที่มาจากความคิดร้ายๆ ภายในตน การพูดจาที่ดี ย่อมมาจากจิตใจที่ดี ลองพิจารณา “บุญ 4 ประการ” ของการพูดดีที่คนอยากฟัง การพูดที่แสดงออกถึงความดีที่มาจากข้างในตัวผู้พูด 1.ความจริงใจ ตรงไปตรงมา (honesty) ไม่อ้อมค้อม ไม่หลอกล่อ หรือมีข้ออ้างต่างๆ นานาแบบศรีธนญชัย เป็นการพูดที่คนฟังมักจะรู้สึกได้ เพราะเหตุผลที่ไม่ข้ดแย้งกัน แต่ก็ควรรรู้กาละเทศะด้วย 2.เป็นตัวของตัวเอง (authenticity) แสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริง ไม่เสแสร้ง ซื่อสัตย์ต่อหลักคิดหลักการของตนเอง ไม่ถูกกำหนดจากภายนอก หรือไปลอกเลียนคนอื่น เอาขี้ปากคนอื่นมาพูด 3.ความสัตย์ซื่อถือคุณธรรม (integrity) ปากกับใจตรงกัน ทำสิ่งที่ตนพูด พูดสิ่งที่ตนทำ ไม่หลอกตัวเอง ไม่หลอกคนอื่น ไม่โกหก ไม่พูดความจริงครึ่งเดียวหรือเกินจริง 4.รักและปรารถนาดี (love) พูดจาด้วย “พรหมวิหารสี่” คือการพูดดีที่พึงปรารถนา มาจากจิตใจที่เมตตาและปรารถนาดีต่อผู้อื่น ไม่ว่าดีกว่าหรือด้อยกว่าตน เหล่านี้ปรับจากที่ได้ฟังคุณ Julian Treasure พูดใน Ted Talk ซึ่งมีคนคลิกฟังกว่า 21 ล้านครั้ง นับเป็นการพูด Ted Talk ที่มีคนสนใจเข้าไปฟังมากที่สุดคลิปหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บาป 7 ประการและบุญ 4 ประการ เป็นข้อคิดที่สะท้อนชีวิตจริงของคนเรา คนคลิกไปดูคงอยากรู้ว่าตนอยู่ในประเภทไหน ในวัฒนธรรมไทย คำว่า “ศรีธนญชัย” กลายเป็นคำที่แสดงออกถึงการพูดจาที่ไม่ตรงไปตรงมา หาทางหลบเลี่ยง แก้ตัวด้วยเหตุผลที่ชวนเชื่อ ดูเหมือนจริง แต่ที่แท้ลวง คล้ายกับพวก “โซฟิสท์” ในสังคมกรีกโบราณ เป็นความฉลาดแบบขี้โกง เอาเปรียบผู้อื่น ศรีธนญชัยใน “สยาม” หรือ เซียงเมี่ยงใน “ล้านนา-ล้านช้าง” เป็นนิทานพื้นบ้านที่เล่าสืบต่อกันมานาน ด้านหนึ่งก็เป็นความสนุกสนานที่สะท้อนให้เห็นว่า คนฉลาดมากทำให้คนโง่หรือฉลาดน้อยกว่าน่าขบขัน คนฉลาดหลอกคนโง่แบบศรีธนญชัย เล่นคำ เล่นสำนวนโวหาร เล่นมุกตลก แต่ตลบแตลง อีกด้านหนึ่งก็น่าคิดว่า นิทานนี้มีผลต่อทัศนคติ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยในอดีตถึงปัจจุบันหรือไม่ ทำให้คนนิยมชมชอบคนฉลาดแบบ “โกงกินบ้านเมืองก็ได้ ขอให้พัฒนาประเทศก็พอ” เรื่องศรีธนญชัยแพร่หลาย เป็นหนังสืออ่าน หนังสือการ์ตูน เป็นหนังเป็นละคร สะท้อนให้เห็น “ความนิยม” และการรับได้ของคนไทย ที่ชอบคนหัวไว ใจกล้า วาจาแหลมคม แม้จะขี้โกง ความจริง เรื่องราวของศรีธนญชัยที่ดีๆ ก็มี แต่ถูกกลบด้วยเรื่องที่อดีตเณรน้อยเจ้าปัญญาคนนี้ไปหลอกสมภารบ้าง หลอกเจ้านายบ้าง หลอกพ่อค้าวาณิชบ้าง สะใจคนยากคนจน คนไม่มีอำนาจในสังคม เป็นความฝันของคนทุกข์คนยาก คนขาดโอกาส ที่ได้โอกาส “แก้แค้น” ด้วยนิทานและจินตนาการ คนไทยคุ้นเคยกับอิกคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญาญี่ปุ่น ที่ฉลาดหลักแหลม แต่มีคุณธรรม แต่ก็ชอบศรีธนญชัยเพราะเป็นตัวแทนของคนที่อ่อนแอกว่า ที่สู้กับคนที่มีอำนาจมากกว่าตรงๆ ไม่ได้ ต้องสู้ด้วยเล่ห์ด้วยกลอุบาย แม้ว่าจะไม่ถูกต้องก็ตาม ติดตามการเมืองไทยจะเห็นศรีธนญชัยทั้งในและนอกสภา ที่สะท้อนความสับสนของสังคมไทยในเรื่องคุณค่า ความถูกต้องดีงาม ได้ไม่น้อย