เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com เดนมาร์ก ประเทศที่คนมีความสุขที่สุดในโลก (World Happiness Report) ได้รับการประเมินให้เป็นประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยได้ 90 จาก 100 คะแนน ในขณะที่ไทยได้อันดับที่ 101 และได้ 35 คะแนน ร่วงจากอันดับที่ 76 และจากที่เคยได้ 38 คะแนน สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงให้การส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงโคนม และอุตสาหกรรมนมในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2503 ที่ได้เสด็จเยือนเดนมาร์ก และได้ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2505 ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี นอกจากนี้ พระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องการบริหารจัดการในรูปแบบสหกรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่โดดเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งของเดนมาร์ก ไม่เพียงแต่ในเรื่องโคนม แต่ในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการผลิต การบริโภคในชีวิตประจำวัน แต่ดูเหมือนว่าสหกรณ์เป็นเรื่องบ้านเราทำได้ผลน้อย แม้ว่าจะตั้งกันมาถึง 100 ปีแล้วก็ตาม ไม่ว่าที่เดนมาร์กหรือเมืองไทย เรื่องความโปร่งใส การไม่โกงกิน ไม่มีคอร์รัปชั่นมีรากฐานสำคัญอยู่ที่คุณภาพของคน การมีวินัย มีคุณธรรม และขึ้นอยู่กับความรู้ การศึกษาของประชาชน ขึ้นอยู่กับระบบโครงสร้างที่โปร่งใส การกระจายอำนาจ ประชาชนมีส่วนร่วม ถ้าวิเคราะห์ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง นั่นก็คือหลัก 3 ประการ ความพอประมาณ (คน) มีเหตุมีผล (ความรู้) มีภูมิคุ้มกัน (ปัญญา-ระบบ) สังคมไทยน่าจะเรียนรู้จากเดนมาร์ก ซึ่งเป็นโมเดลสำคัญให้ประเทศยุโรปตะวันออกหลังปี 1989 เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังลง ระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย วันนี้การเกษตรยังเป็นภาคการค้าขายที่สำคัญที่สุดของเดนมาร์ก มีการส่งออกถึงสองในสามของผลผลิตการเกษตร นับเป็นร้อยละ 30 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของประเทศนี้ ภาคการเกษตรมีความสำคัญยิ่งต่อการจ้างงาน เดนมาร์กไม่มีการทำนารวม ไม่ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์รวม เน้นการผลิตเอง แปรรูปเองและร่วมกันขายเป็นสำคัญ ซึ่งนั่นคือบทบาทของสหกรณ์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1882 หรือ 135 ปีมาแล้ว ซึ่งเกษตรกรรวมตัวกันส่งออกเนยและเบคอนไปอังกฤษ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีแต่พ่อค้าคนกลางที่ทำและได้กำไรมากมาย จากนั้นในปี 1897 มีการตั้งสหกรณ์โรงฆ่าสัตว์ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการดำเนินการโดยเอกชน สหกรณ์ที่เกี่ยวกับสุกรและนมเป็นสองประเด็นที่ยิ่งใหญ่มากของเกษตรกรชาวเดนมาร์ก เพราะเกือบทั้งหมดอยู่ในมือของพวกเขา สมาชิกสหกรณ์ต้องขายผลผลิตให้สหกรณ์เท่านั้น และไม่เคยปรากฎว่ามีสหกรณ์ไหนล้ม เพราะถ้าหากอ่อนแอก็จะไปรวมกับสหกรณ์อื่น วันนี้ทั้งประเทศจึงมีเพียง 2 สหกรณ์นมและ 5 สหกรณ์โรงฆ่าสัตว์ที่ดำเนินการครอบคลุมทั้งประเทศ นอกจากเรื่องการเลี้ยงโคนม เลี้ยงสุกร สหกรณ์ยังเป็นเจ้าของกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น ประมาณครึ่งหนึ่งของกิจการอาหารสัตว์ ปุ๋ย และการขายธัญพืช และยังเป็นผู้ดำเนินการหลักในเรื่องหนังสัตว์และพันธุ์พืช นอกจากภาคเกษตร สหกรณ์ยังดำเนินการเรื่อง “ร้านค้าปลีก” ซึ่งมีอยู่ในชุมชนทั่วไป ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนครอบงำไปทั่วอย่างบ้านเรา ยังมีเรื่องสหกรณ์พลังงานลม ซึ่งเราคุ้นเคยกับกังหันลม มีเรื่องบ้าน ที่อยู่อาศัยก็เป็นสหกรณ์ในหลายๆ รูปแบบ เรื่องแปลกแต่จริง คือ ที่ประเทศเดนมาร์กไม่มีกฎหมายสหกรณ์ เพราะเขาถือว่า มีรัฐธรรมนูญที่ให้เสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นสมาคมก็พอแล้ว มีกฎหมายอื่นๆ ที่กลุ่มก็ต้องปฏิบัติตาม กฎหมายเรื่องการเงิน เรื่องภาษี เรื่องแรงงาน เรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ อย่างไรก็ดี แต่ละสหกรณ์ก็มี “ธรรมนูญ” ของตน หรือระเบียบที่ร่างขึ้นมาตามกรอบที่ทำกันทั่วไป จึงไม่แปลกที่ไม่มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ไม่มีหน่วยงานราชการไปส่งเสริมสนับสนุนหรือไปควบคุมกำกับ แต่ที่เข้มแข็งได้ขนาดนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาทันที เดนมาร์กมีพัฒนาการด้านการศึกษาของประชาชนที่เป็นโมเดลให้ทั่วโลกมาแล้ว คือ การศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษาตลอดชีวิต เดนมาร์ก เป็นต้นแบบของ “โรงเรียนชาวบ้าน” (Folk High School) “โรงเรียนเพื่อชีวิต” (School for Life) ” ซึ่งไม่สนใจเรื่องประกาศนิยบัตรใบปริญญา แต่ให้เรียนรู้แบบบูรณาการในการดำเนินชีวิต การตัดสินใจ การพึ่งตนเอง การมีส่วนร่วมในชุมชนและสังคม และการทำการเกษตร ด้วยเหตุนี้ สหกรณ์ชาวนาเดนมาร์กจึงมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในงานการเมือง การกำหนดนโยบาย การออกฎหมายที่มีความสำคัญต่อเกษตรกร อย่างเรื่องภาษี เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสวัสดิการสังคม เรื่องกฎเกณฑ์การค้าในประชาคมยุโรป บุคคลที่ชาวเดนมาร์กรำลึกถึงในฐานะ “บิดา” ของ “การศึกษาชาวบ้าน” คือ N. F. S. Grundtvig (1783-1872) ผู้นำทางศาสนา สังคม การเมือง นักคิดนักปฏิบัติที่ได้วางรากฐานการศึกษาผู้ใหญ่ ที่เรียนรู้โดย “เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง” เรียนแล้วช่วยตนเองได้ ช่วยผู้อื่นได้ พึ่งตนเองได้และมีความสุข ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่ชาวนายากจน เพราะโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม มีปัญหาที่ระบบโครงสร้าง สิทธิเสรีภาพ ความโปร่งใส ความเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมในสังคมล้วนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน อันดับที่ 101 สะท้อนความเป็นจริงนี้