พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ คงต้องยอมรับครับว่าโซเชียลมีเดียอย่าง “ไลน์” (LINE) เป็นนวัตกรรมยอดฮิต ในสังคมข้อมูลข่าวสารยุคปัจจุบันที่แพร่หลายทั่วโลก เพราะประสิทธิภาพในแง่ของความสะดวกรวดเร็ว ง่ายและที่สำคัญ คือ มันฟรี !!! ไม่มีค่าใช้จ่ายจากการโทรผ่านระบบนี้ จากที่เมื่อก่อน หากต้องการโทรศัพท์ไปเมืองไทย ต้องวิ่งหาซื้อบัตรโทรศัพท์ตามร้านสะดวกซื้อ (ตลาด) ของคนเอเซียหรือตลาดเอเซียกันแทบเป็นแทบตาย เวลานี้ พวกเราคนไทยในอเมริกาสามารถโทรติดต่อเมืองไทยได้ปุ๊ปปั๊บเลย เครื่อง(มือถือ)ใครเครื่องมันตราบที่มีแอพลิเคชั่นการสื่อสารยี่ห้อนี้อยู่ในเครื่อง ยกเว้นบางคนจะไม่ชอบใช้มัน เหมือนเช่นเพื่อนอเมริกันของผมบางคนที่วอชิงตันดี.ซี.ที่ทำงานใกล้ชิดกับสมาชิดคองเกรสบางคน เขามีข้ออ้างเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลที่สื่อสารกันว่า มันอาจไม่ปลอดภัย กล่าวคือ อาจมี “บุคคลที่สาม”ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าถึงได้ แม้อเมริกาจะไม่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้ระบบ “ซิงเกิลเกตเวย์”ก็ตาม แต่โดยลึกๆแล้ว คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยก็เชื่อเหมือนเพื่อนของผมที่ดี.ซี.เชื่อว่า ข้อมูลข่าวสารที่พวกเขาส่งไปมาหากันมีโอกาสถูกแฮ็คได้ตลอดเวลา ทั้งจากเอกชนและรัฐบาล ทั้งโดยปัจเจกและโดยหน่วยงานของทั้งสองฝ่าย หน่วยงานของรัฐบาลนั้น เชื่อกันว่าสามารถทำได้อยู่แล้วและทำกันอย่างปกติ โดยเฉพาะกรณีการสืบสวนสอบสวนเชิงอาชญากรรม เชิงความมั่นคงของเจ้าหน้าที่ ลึกไปกว่านั้นมันคือการล้วงข้อมูลส่วนตัวของปัจเจกบุคคลอเมริกันที่มีการตั้งคำถามและเป็นประเด็นโต้งแย้ง (Debate) ในสังคมอเมริกันติดต่อกันมานานหลายปี โดยเฉพาะการกระทำของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น หากมองจากประเด็นนี้ การพยายามขอข้อมูลของรัฐบาลอเมริกันจากบริษัทเอกชนผู้กุมข้อมูลผู้ใช้โซเซียลมีเดีย ไว้จำนวนมาก อย่างเช่น ไลน์ เฟซบุ๊ค จึงเป็นประเด็นหางแถวคือเป็นเรื่องที่ไม่สลักสำคัญอะไรเลย ในเมื่อทางการอเมริกัน สามารถเข้าถึง “ข้อมูลส่วนตัว”ของผู้ใช้โซชียลมีเดียอยู่แล้ว หากพวกเขาต้องการที่จะเข้าไปตรวจสอบสอดส่องดูอย่างมีเหตุมีผล แม้โดยไม่มีกุญแจจากเจ้าของบ้านก็ตาม แต่พวกเขาสามารถพังประตูเข้าไปได้ หรือถึงไม่มีเหตุมีผลพวกเขาก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ เป็นประจำ(วัน) อยู่แล้ว ก็หน่วยงานความมั่นคงของอเมริกันทั้งหลายนั่นแหละครับ ไล่ตั้งแต่ตำรวจท้องที่ถึงกระทั่งหน่วยงานกลางของรัฐบาลกลางอย่างเอฟบีไอ ซีไอเอ ความหมายก็คือข้อมูลในโซเซียลมีเดียที่เราคิดว่า เราสื่อสารกับเพื่อนแบบสองต่อสองโดยไม่มีบุคคลที่สามรับรู้นั้น “ไม่จริง” ไม่จริงเพราะข้อมูลผ่านไลน์ ผ่านเฟซบุ๊ค สามารถ track down หรือเข้าถึงได้หมดโดยผู้ที่ต้องการเข้าถึง (โดยเฉพาะในงานสืบสวนสอบสวนตามกฎหมายอเมริกันที่ทั้งได้และไม่ได้ใบเบิกทางจากศาล-เหมือนใบอนุญาตขอค้นสถานที่เอกชน) แม้ว่าเจ้าของหรือผู้ดำเนินการให้บริการโซเชียลมีเดีย (เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ค) จะไม่อนุญาตให้เข้าถึงก็ตาม โดยนัยนี้สิ่งทีปาวๆ กันว่า รัฐบาลอเมริกันขอความร่วมมือบริษัทโซเชียมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ ให้ส่งกุญแจไขตู้เซฟข้อมูลของผู้ใช้โซเชียลฯ แล้วโดนปฏิเสธ เช่น ข่าว มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์กแห่งเฟซบุ๊คปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือให้กุญแจกับรัฐบาลอเมริกันก็เป็นความจริงเพียงบางส่วน เพราะอย่างไรเสียเจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกันก็สามารถเข้าถึงข้อมูลในโซเซียลดีเดียทุกประเภทอยู่แล้ว หากพวกเขาต้องการที่จะเข้าไปดู (ในนามเหตุผลของผู้มีอำนาจในการใช้กฎหมาย เช่น เพื่อความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น) มิน่า จนถึงบัดนี้ที่การใช้ไลน์บูมมานานหลายปี เพื่อนผมที่วอชิงตันดี.ซี.ก็ยังใช้การติดต่อด้วยอีเมลแบบเก่าอยู่ (ซึ่งก็มีความสุ่มเสี่ยงเช่นกัน) บางครั้งธุรกิจล็อบบี้ก็มีอะไรเชิงการช่วงชิงความฉับไวของข่าวสารอยู่มากเหมือนกัน นัก ล็อบบี้ยีสต์ที่ดี.ซี.จำนวนหนึ่งจึงไม่นำโซเชียลมีเดียเข้าบ้าน คือ ปฏิเสธที่จะใช้โซเซียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจของพวกเขา แม้โลกการสื่อสารออนไลน์จะวิวัฒนาการไปในเรื่องนี้มากมายเพียงใดก็ตาม พวกเขาเคยพูดกับผมถึงขนาดว่า “โซเชียลมีเดีย" เป็นเครื่องเล่นที่อันตรายและหาสาระไม่ได้ มีประโยชน์น้อยนิด แต่จงใช้สติ ที่เขียนมานี้ ไม่ได้มีเจตนาจะสนับสนุน “ซิงเกิลเกตเวย์”ของรัฐบาลไทยยุคนี้หรอกนะครับ เพราะซิงเกิลเกตเวย์ นั้นเป็นการใช้อำนาจของทางการข่มขืนบังคับ (Force) ทางไหลข้อมูลให้ผ่านช่องการตรวจสอบโดยรัฐอย่างเป็นทางการ แน่จริงถ้ามีความสามารถที่แท้จริง รัฐหรือหน่วยงานของรัฐไทยก็ตรวจสอบ (track down) เอาเองสิครับ (เพราะแน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยสามารถใช้เหตุผลในการขอมีอำนาจตรวจสอบได้อยู่แล้ว เช่น เพื่อความมั่นคง เป็นต้น) ในเมืองไทยนั้น “ความบูม”ของโซเชียลมีเดียทุกประเภท เป็นดัชนีบอกถึงความไหลบ่าท่วมท้นของข้อมูลจากสารทิศ (ทั่วโลก) ได้เป็นอย่างดี ความแตกต่างส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการใช้สื่อโซเชียลมีเดียระหว่างเมืองไทยกับอเมริกานั้นน่าจะอยู่ที่ความจริงจังเชิงธุรกิจ การใช้โซเซียลมีเดียในอเมริกามีความเข้มข้นจริงจังเชิงธุรกิจมากการใช้สื่อฯ ในเมืองไทยที่ส่วนหนึ่งออกไปในทางบันเทิง ( เช่น ตามสำนวนไทยแสลงร่วมสมัย : “เม้าท์มอย”) ดังเช่น ไลน์กลุ่ม(เพื่อน) เป็นต้น เอาสาระแบบธุรกิจสไตล์อเมริกันได้ยาก ว่าไปแล้วการใช้ไลน์แบบไทยๆ ก็น่าจะตรงกับความหมายของคำว่า Social Media เสียด้วยซ้ำ เป็น Social หรือ Societyแบบไทยๆ ไม่ใช่ Business เพราะให้ทั้งความบันเทิงรื่นรมย์ระคนปนเศร้าปะปนกัน มิต่างจากรูปแบบของละครไทย ตัวอย่างของความบันเทิงรื่นรมย์ ก็อย่างเช่น การได้มีโอกาสเจอะเจอเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียน สมัยประถมหรือมัธยมในไลน์กลุ่ม อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน ชนิดที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็จะเป็นไปได้อย่างไร เพื่อนๆ ทุกคนสามารถกลับไปเข้าชั้นเรียนได้เหมือนอดีต เพียงแต่มันมีความเศร้าลึกๆ ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นก็คือ หลายคน จำชื่อ จำหน้าตาของเพื่อนไม่ค่อยจะได้ แม้จะส่งภาพเมื่อครั้งยังสวมเครื่องแบบนักเรียนไปให้ซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ตาม ถ้าเวลาผ่านไปไม่กี่ปีก็อาจจะยังจำได้ แต่ถ้าผ่านไปนานๆ เช่น ยี่สิบสามสิบปีขึ้นไปก็อาจนึกไม่ออก จำไม่ได้ เกิดภาวะเศร้าซึมขึ้น ในท่ามกลางกระแสความยินดีดังกล่าว พิจารณาอีกที ก็สมควรแล้วที่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ หรือญาณระลึกชาติได้ ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับใครก็ตาม หากต้องบำเพ็ญเพียรอย่างเต็มที่ ถึงขั้น เพราะเอาแค่ “ไลน์ระลึกชาติ”นี่ก็แทบไม่ไหวแล้ว...