เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com เข้าพรรษา 90 วัน ออมเงินวันละ 1 บาทได้ 90 บาท ถ้าออม 1 ล้านคนก็จะได้ 90 ล้านบาท ถ้าออมวันละ 10 บาท 1 ล้านคนจะได้ 900 ล้านบาท ถ้าออม 2 ล้านคน จะได้ 1,800 ล้านบาท ไม่ใช่ความฝันที่เลื่อนลอย เพราะมีหลายประเทศทำเช่นนี้มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ใช่ในเทศกาลเข้าพรรษา แต่เทศกาล “มหาพรต” หรือ “Lent” 40 วันก่อนวันปาสกา หรือ Easter วันที่ชาวคริสต์เชื่อว่าพระเยซูทรงกลับคืนชีพ เมื่อก่อนนี้ ชาวคริสต์ โดยเฉพาะคาทอลิกจะอดอาหารบางมื้อและบางวันในเทศกาลนี้พื่อพลีความอยากอาหารเป็นกุศลแก่ตนและคนอื่น มีบาทหลวงชาวเยอรมันท่านหนึ่งเสนอว่า ทำไมเราไม่ออมเงินที่ได้จากการอดต่างๆ แล้วนำมารวมกันเพื่อไปช่วยเหลือคนยากคนจน คนขาดโอกาสในประเทศของเราและประเทศอื่นๆ เช่น ถ้าออมทุกวันๆ ละ 10 บาท จบเทศกาล 40 วันก็จะได้ 400 บาท ถ้าคาทอลิกทั้งประเทศ สมมุตว่าประมาณ 10 ล้านคนร่วมกันออม ก็จะได้ 4,000 ล้านบาท ศาสนจักรคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ในเยอรมนีเห็นด้วย เริ่มจัดระบบ ตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยตรง ทำการรณรงค์อย่างจริงจัง เพื่อให้คนอดและออมเงินระหว่างเทศกาลมหาพรต ซึ่งจะได้บุญสำหรับตนเอง และได้ช่วยเหลือคนอื่นด้วย การออมไม่ใช่เพียงแต่หยอดเงินลงกระปุกวันละ 10 บาท แต่ถ้าตั้งใจว่าจะงดดื่มเบียร์ ดื่มไวน์หรือเหล้าตลอดเทศกาลนี้ เงินที่ได้จากการอดเครื่องดื่มเหล่านี้ก็นำไปหยอดกระปุกด้วย บางคนไม่รับประทานอาหารเย็นวันศุกร์ ก็จะนำเงินที่ควรจ่ายเป็นค่าอาหารไปหยอดกระปุก บางคนเคยไปดูหนังสัปดาห์ละครั้ง ก็ไม่ไปดูตลอดเทศกาล ก็นำเงินค่าตั๋วหนังไปหยอดกระปุก ประเทศเยอรมนีเริ่มโครงการนี้ จากนั้นประเทศอื่นๆ ก็ทำด้วยจนกระทั่งทำกันทั่วโลกในประเทศที่มีชาวคริสต์อยู่ โดยเฉพาะศาสนจักรคาทอลิก รวมทั้งประเทศไทย แม้ว่าจะมีคาทอลิกอยู่เพียงประมาณ 400,000 คน และโปรเตสแตนท์จำนวนใกล้เคียงกัน การรณรงค์ระหว่างเทศกาลมหาพรตทุกปีจะมีการเลือกหัวข้อหนึ่งเพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันทั้งประเทศ เช่น เมื่อปี 2534 ประเทศเยอรมนีได้เลือกหัวข้อ “สตรีไทย” เพื่อการเรียนรู้และรณรงค์ระหว่างเทศกาลมหาพรต เพื่อปรับทัศนคติของคนเยอรมันต่อสตรีไทย ที่มีภาพพจน์ไม่ดี เพราะหลายปีก่อนมีจำนวนมากที่ไปทำงานบริการทางเพศ องค์กรที่รับผิดชอบเรื่องนี่จะส่งข้อมูล เอกสาร กล่องออมสิน และสื่อต่างๆ ไปยังวัดโบสถ์ โรงเรียน ชุมชนคาทอลิกทั่วประเทศเพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ว่า ผู้หญิงไทยมีบทบาทอะไรจริงๆ ในสังคมไทย และได้ขอให้ผมจัดกลุ่มนักดนตรีและนักฟ้อนรำไปร่วมงานรณรงค์ในปีนั้น ทุกปี ศาสนจักรเยอรมันจะรวบรวมเงินออมเงินบริจาคระหว่างเทศกาลมหาพรตได้ประมาณสามสี่พันล้านบาท รัฐบาลเยอรมันจะสมทบให้อีกเท่าตัว องค์กรนี้ก็จะนำเงินไปช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ผ่านหน่วยงานเอกชนต่างๆ ร่วมทั้งในประเทศไทยตั้งแต่ 50 ปีมาแล้ว ลดลงและเลิกไปเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อประเทศไทยกำลังกลายเป็น “เสือตัวใหม่” เข้าใจว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เมื่อประมาณปี 2523-2524 ผมได้ประสานผู้นำศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องบทบาทของศาสนากับการพัฒนา และได้นำเสนอประสบการณ์การรณรงค์และการออมระหว่างเทศกาลมหาพรต มีพระภิกษุหลายรูปที่ได้นำไปประยุกต์ใช้ในวัดของท่านระหว่างเข้าพรรษา ที่จำได้ คือ พระครูสาครสังวรกิจ เจ้าอาวาสวัดยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ท่านแจกกระบอกไม้ไผ่วันเข้าพรรษา ญาติโยมนำไปหยอดกระบอกวันละกี่บาทก็ได้ วันออกพรรษาก็นำกระบอกมาร่วมทอดกระฐินสามัคคีที่วัด มีการผ่ากระบอก นับเงินได้เป็นแสน สมัยนั้นนับว่ามาก ท่านบอกว่าไม่ได้ทำเป็นระบบแบบฝรั่ง เพียงแต่แจกกระบอกไม้ไผ่แล้วแนะนำให้ญาติโยมออมเท่าที่อยากออม เพื่อนำเงินมาร่วมทำบุญ ท่านบอกว่าได้แนะนำให้ชาวบ้านงดเหล้า งดซื้อหวย งดอาหารเครื่องดื่มที่ไม่จำเป็น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าลดได้บ้างก็ถือว่าดีแล้ว แต่ก็มีพระภิกษุอีกหลายรูปที่เข้าร่วมโครงการเสวนาระหว่างศาสนาเพื่อการพัฒนาที่ได้นำโครงการนี้ไปประยุกต์ในวัดของท่านที่เชียงใหม่ ที่นครราชสีมา ที่บุรีรัมย์ ที่สุรินทร์ เป็นต้น อาจารย์เคลื่อน นาลาด ที่บุรีรัมย์ได้ช่วยเจ้าอาวาสบ้านบัว ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดด้วยทำโครงการนี้ ตอนแรกๆ ชาวบ้านก็แย้งว่า คงทำไม่ได้เพราะชาวบ้านยากจนไม่มีเงิน อาจารย์เคลื่อนจึงไปหาข้อมูลและนำมาเสนอต่อที่ประชุมว่า ร้านเหล้าเขาบอกว่า ขายได้เดือนหนึ่งกว่า 50.000 บาท คนขายหวยบอกว่าเดือนหนึ่งขายหวยได้กว่า 3-4 หมื่นบาท อาจารย์เคลื่อนบอกว่า ไม่ต้องเลิกเหล้าเลิกหวยก็ได้ เพราะพระเทศน์ทุกวันชาวบ้านก็ยังไม่เห็นเลิก ท่านเพียงขอให้เจียดสัก 10 เปอร์เซนต์มาออมระหว่างเข้าพรรษาจะได้ไหม บ้านเราจะได้มีกฐินมาร่วมกันทำบุญเมื่อออกพรรษา โครงการสำเร็จ ได้เงินกฐินเป็นแสนเหมือนกัน เข้าพรรษาเป็นเวลาเพื่อการคิดคำนึงถึงชีวิตของเราและของผู้อื่น ทำเพื่อตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกันก็เป็นบุญเป็นกุศล