แสงไทย เค้าภูไทย คนไทยด้วยกันเองบ่งบอกนิสัยตนเองว่า คนไทยลืมง่าย แม้แต่พระราชดำรัสแก้ภัยแล้ง น้ำท่วมที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทาน ก็ลืมนำมาใช้ หรือป้องกันภัยที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ ภัยแล้งกับน้ำท่วมเกิดขึ้นซ้ำซากตามวงจรของการแปรเปลี่ยนของบรรยากาศโลก ปีนี้ พื้นที่ส่วนที่เกิดภัยแล้งรุนแรงส่วนใหญ่อยู่แถบอีสานตอนบนไล่ลงมาถึงตอนล่างตามแนวลำแม่น้ำโขง ทั้งนี้เพราะฝนทิ้งช่วงและเขื่อนกั้นลำแม่น้ำโขงตั้งแต่จีนลงมาจนถึงลาวปล่อยน้ำลงมาน้อย เนื่่องจากปรากฏการณ์แอลนีโญ่ปีนี้มาเร็ว ฝนทิ้งช่วงนาน น้ำธรรมชาติมีน้อย น้ำจากเขื่อนจีนถูกดักไปใช้ในแปลงเกษตรกรรมของตนมาก ทำให้เหลือน้ำมาทางปลายน้ำน้อย เป็นเหตุให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำสุดในรอบ 50 ปี ที่ว่าต่ำสุดในรอบ 50 ปีจึงหมายถึงว่า ก่อน 50 ปีที่แล้ว ก็เคยมีปรากฏการณ์น้ำแล้งเช่นนี้มาก่อนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการค้นพบรอยพระบาทที่แกะสลักบนก้อนหินกลางลำน้ำโขงที่ปรากฏขึ้นหลังน้ำลด ช่วงที่แกะสลักรอยพระบาทนี้ น้ำคงแห้งนาน ทำให้ช่างมีเวลามากพอจะสลักหินได้เสร็จสมบูรณ์ ปรากฏการณ์น้ำแล้ง น้ำท่วมเช่นนี้ มนุษย์พยายามเอาชนะมานานนับศตวรรษ และยังไม่พบความสำเร็จจนถึงวันนี้ น้ำเขื่อนนั้น เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนยันฮี พระบาทสมเด็จ พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานพระนามของพระองค์เป็นชื่อเขื่อน เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่อันดับ 8 ของโลกถือเป็นต้นแบบของเขื่อนทั้งประเทศในด้านการใช้ประโยชน์น้ำจากเขื่อน จุดประสงค์ของการสร้างเขื่อนนั้น แต่เดิมเป็นอเนกประสงค์คือ ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ชลประทาน เกษตรกรรม(เพาะปลูก การประมง) บรรเทาอุทกภัยและแหล่งท่องเที่ยว แต่ระยะหลังๆ ความต้องการกระแสไฟฟ้ามีมากขึ้น ทำให้น้ำเขื่อนใช้ในทางผลิตกระแสไฟฟ้าเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงแม้จะเป็นช่วงฝนทิ้งช่วง ฝนตกเหนือเขื่อนน้อย แต่ก็ยังปล่อยน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าต่อเนื่อง ทำให้น้ำที่จะเติมเขื่อนน้อย ไม่เพียงพอแก่การส่งน้ำไปสู่แปลงเกษตรท้ายเขื่อนได้ ขณะนี้ น้ำในเขื่อนภูมิพลเหลืออยู่เพียง 9% ของปริมาณความจุของเขื่อนเท่านั้น การใช้น้ำจากเขื่อนนั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานพระราชดำรัสให้เป็นข้อคิดไว้ว่า "...หลักสําคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพราะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้..." ถามกันหน่อยว่า ถ้าวันนี้คนไทยทั้งประเทศยอมลดการใช้ไฟฟ้าลง 25% เพื่อลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า รอจนกว่าฝนจะตกเหนือเขื่อนอีกครั้งจะได้ไหม ? อันที่จริงน้ำเขื่อนที่ปล่อยผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ในช่วงพ้นฤดูเพาะปลูก น้ำดังกล่าวแทบจะปล่อยทิ้งเปล่า ในหลวง ร.9 เคยพระราชดำรัสแนะนำว่า ให้ทำทางน้ำดักน้ำเป็นชั้นๆในลักษณะบ่อปลาโจน สูบน้ำที่ทิ้งเปล่ากลับขึ้นไปเข้าบ่อพักตามลำดับขั้นบันไดไปจนสามารถส่งน้ำกลับเข้าเขื่อนได้หมด กักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง เป็นการใช้อรรถประโยชน์จากน้ำเขื่อนอย่างคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ในการทำฝนเทียม ได้ทรงพัฒนาขึ้นด้วยพระองค์เอง โดยทรงร่วมปรึกษาหารือกับ หม่อมราชวงศ์ เทพฤทธิ์ เทวกุล จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2536 ทรงพระกรุณาสรุปกรรมวิธีการทําฝนหลวงเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การก่อกวน คือ การดัดแปรสภาพอากาศหรือ ก้อนเมฆในขณะนั้น เพื่อกระตุ้นให้มวลอากาศ ชิ้นไหลพาขึ้นสู่เบื้องบนอันเป็นการชักนําไอน้ำ หรืออากาศขึ้นเข้าสู่กระบวนการเกิดเมฆ ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน คือ การดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อ ทําให้เมฆเจริญขึ้นจนเป็นขนาดใหญ่หนาแน่น มาก จนพร้อมที่จะตกเป็นฝน ขั้นตอนที่ 3 ขั้นโจมตี คือการดัดแปรสภาพอากาศที่จะ กระตุ้นให้เม็ดละอองเมฆปะทะชนกันแล้วรวมตัวเข้าด้วยกันจนมีขนาดใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการลดแรงไหลพาขึ้นเบื้องบน เพื่อให้เม็ดน้ำมีขนาดใหญ่ตกลงสู่เบื้องล่าง แล้วเกิดเป็นฝนตกลงมาสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมีโครงการพระราชดำริแก้มลิง การทำฝนหลวง การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การปลูกป่าเปียก ฟื้นฟูดิน ห่มดิน ปลูกแฝก สร้างแก้มลิง ทำฝาย ทำหลุมขนมครก และการทำโคกหนองนาโมเดลฯลฯ ศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาภัยแล้งเหล่านี้ คนไทยลืมกันหมดแล้วหรือ ?