ชัยวัฒน์ สุรวิชัย ผมโชคดี ที่ได้เกิดในประเทศไทย ดินแดนแห่งพุทธศาสนา ที่มีคำสอน ที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้จากการปฏิบัติในชีวิตจริง ได้เรียนรู้โดยตรงจากท่านพุทธทาส ได้บวชเต็มพรรษากับท่านปัญญา และได้ศึกษาเรียนรู้กับปราชญ์พุทธ ท่านประยุทธโต ในคราที่ลูกชายคนเล็กได้บวชร่วมปี 2554 รวมทั้งพระดีๆที่มีน้อยในสังคมไทย ผมได้ประโยชน์สูงสุด จากการนำหลักการ-แกนของพุทธศาสนา มาใช้ในชีวิตจริง ได้อะไรมากมาย แต่เมื่อมาศึกษามากขึ้น ในส่วนของนิกายมหายาน โพธิสัตว์ มีอะไรที่ดีมาก แต่ก็มีบางเรื่องที่แตกต่างออกไป ผมจึงพยายามจับประเด็นสำคัญ ของนิกายทั้งสอง “เถรวาท และ มหานิกาย “ โดยยึดจากหลักคิดที่ได้ปฏิบัติอยู่ และขอนำมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนมิตร เพื่อต่อเติมความรู้ความเข้าใจในหลักธรรม และการปฏิบัติที่เป็นจริง หลักการพื้นฐาน ในฐานะใช้หลักคิดทางวิทยาศาสตร์และแนวคิดวิศวกรรมศาสตร์รวมทั้งแนวคิดของความจริง เริ่มต้น ขอสร้างความเข้าใจ เรื่อง “ เถรวาทและ มหายาน” นิกายเถรวาท กำเนิดมาก่อน นิกายมหายาน ที่มาปรับปรุงใหม่ที่หลัง “เถรวาท” ได้แก่นิกายที่ยอมรับมติของพระเถระในสังคายนาครั้งที่ 1 ภายหลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือน โดยทั่วไปจะเรียกนิกายนี้ว่า “พระพุทธศาสนายุคแรก” (Early Buddhism) ส่วน นิกาย “มหายาน” ที่พัฒนามาจากพระภิกษุกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมรับมติสังคายนาครั้งที่ 1 โดยทั่วไปจะเรียกนิกายนี้ว่า “พระพุทธศาสนายุคหลัง (Later Buddhism เถรวาท ยึดคำสอนของพระพุทธเจ้า( โดยไม่ปรับแก้) ซึ่งยากและเข้าถึงได้ยากกว่า การเน้นปัญญาและการนิพาน ความหลุดพ้นส่วนตัว ของพระพุทธศาสนา เถรวาทจะมุ่งไปที่การทำลายอหังการและมมังการ (ความรู้สึกว่าเป็นเรา และของเรา) ในตนเอง เพื่อ1. บรรลุเป็นพระอรหันต์ 2. จากนั้นจึงคิดช่วยเหลือผู้อื่นตามความสามารถของตน แต่มหายาน กลับมองไปที่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน (ภาวะที่เหมือนกัน) ระหว่างตนกับผู้อื่น ในฐานะของผู้เข้าใจความจริง คิดช่วยเหลือผู้อื่น ในทันที ข้อแตกต่าง คือ การมุ่งเพื่อความหลุดพ้นส่วนตนของเถรวาทและ ความหลุดพ้นของมหาชน หรือการเป็นพระโพธิสัตว์ในทัศนะของมหายาน เถรวาทเป็นพุทธจริยศาสตร์ของปัจเจกชน ส่วนมหายานเป็นพุทธจริยศาสตร์ของมหาชน พระนิพพานจะเป็นอุดมการณ์สูงสุดของพระพุทธศาสนาทุกนิกาย อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท ไตรสิกขา ไตรลักษณ์ และหลักกรรม เป็นต้น ล้วนเป็นคำสอนเดียวกัน เถรวาท : ปัจเจกชนสามารถดับทุกข์ได้ด้วยความเพียรของตนเอง มหายาน : ระบบจริยธรรมที่ต้องพึ่งพิงสิ่งภายนอกช่วยเหลือให้พ้นทุกข์แทน อุดมการณ์พระโพธิสัตว์ สาระสำคัญของหลักโพธิจิตจึงมี 2 อย่างคือ ตนเอง (พระโพธิญาณ) และผู้อื่น (กรุณา) การตรัสรู้ (ปัญญา) ย่อมหมายถึงต้องการให้ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นพ้นทุกข์ (กรุณา) คู่กัน มหายานเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงฉลาดในอุบาย (อุปายเกาศัลยา) ทรงใช้วิธีการหลากหลาย เพื่อขนสรรพสัตว์จากสังสารวัฏ ฉะนั้น จึงมีการปรับปรุงแก้ไขข้อบัญญัติและคำสอนบางประการของพระพุทธเจ้าให้เหมาะกับ เวลาและสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงไป เถรวาท : ต้องช่วยเหลือตนเองได้ก่อน เช่นเดียวกับการสอนคนให้ว่ายน้ำ ผู้สอนต้องว่ายน้ำเป็นก่อน จึงจะสอนผู้อื่นได้ ดังพระพุทธพจน์ในคาถาพระธรรมบท ดังนี้ บุคคลพึงยังตนนั้นแลให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน พึงพร่ำสอนผู้อื่นในภายหลัง บัณฑิตพึงไม่เศร้าหมอง (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา, เล่มที่ 25, 2530 : 52) มหายาน แนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ แสดงให้เห็นว่า การช่วยเหลือผู้อื่นต้องมาอันดับแรกจนถึงกับกล่าวว่า พระโพธิสัตว์แม้จะต้องรับทุกข์ รับโทษทัณฑ์หรือ กระทั่งยอมตกนรกเพื่อประโยชน์สุขของสรรพสัตว์ก็ต้องทำ การเน้นจริยธรรมเชิงบวกเช่นนี้ เป็นลักษณะเด่นของมหายาน จริยธรรมของเถรวาทเป็นแบบปฏิเสธ เช่น ไม่พูดปด ไม่ลักทรัพย์ ไม่มอง ไม่ฟัง และ ไม่ปล่อยใจไปตามอำนาจของตัณหา เป็นต้น แต่มหายานเห็น ว่า วัตถุมาจากจิต โลกเป็นผลิตผลของจิต อกุศลกรรมหรือการกระทำที่เป็นอกุศล ก็ย่อมมาจากจิตเช่นกัน จริยธรรมเชิงลบแบบเถรวาทไม่เพียงพอสำหรับถอนรากอกุศลจิต แต่ต้องเผชิญกับโลกหรือวัตถุอย่างซึ่ง ๆ หน้า จึงจะสามารถกำจัดความทุกข์ในสังสารวัฏได้ มหายานเชื่อใน “ตถาคตครรภ์” หรือ พุทธภาวะ ว่าเป็นธาตุพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด แต่เนื่องจากถูกห่อหุ้มด้วยกิเลส จึงหลงผิดไม่เข้าใจในพุทธภาวะนี้ เมื่อตระหนักในพุทธภาวะและทำลายสังสารวัฏเสียได้ ภาวะนิพพานจึงบังเกิดขึ้น นิพพานกับสังสารวัฏจึงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จนกล่าวได้ว่านิพพาน พบได้ใน สังสารวัฏ นั่นเอง สมดังที่ นาคารชุนกล่าวไว้ในมูลมาธยามการิกา ของท่านดังนี้ : สังสารวัฏ ไม่ใช่สิ่งอื่นใดที่อยู่นอกเหนือไปจากนิพพาน และ นิพพาน ก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใดที่อยู่นอกเหนือไปจากสังสารวัฏ (M³lamadhyamak±rik±, 1999 : XXV.19) ฉะนั้น หากนิพพานคือความว่างเปล่า (non-emptiness) สังสารวัฏ ก็คือความเต็ม (emptiness) ความว่างเปล่าจะมีได้ก็เพราะมีความเต็มก่อน หากไม่มีความเต็มก่อน ภาวะว่างเปล่าจะมีได้อย่างไร ความว่างเปล่าและความเต็มจึงอยู่ด้วยกัน เหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน มหายาน เชื่อว่า อาศัยจริยธรรมเชิงบวก จะทำให้จิตใจเข้มแข็ง จนสามารถต่อกรกับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สรุปความคิดความเห็นของผม 1. พระพุทธเจ้า เป็นมนุษย์ มิใช่เทพ หรือพระเจ้า ความเป็นมนุษย์ เป็นความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า เป็นมนุษย์ที่เหมือนมนุษย์คนอื่นๆ ที่ได้ตรัสรู้ บรรลุธรรม ได้หลักอริยะสัจจ 4 มาสั่งสอนมนุษย์ (เถรวาท ) 2. ไม่เห็นด้วยกับ มหายาน ที่ว่า: “ พระพุทธเจ้า พระองค์จริงคืออาทิพุทธ เป็นภาวะนิรันดร์ ไม่เคยประสูติ สถิตในสรวงสวรรค์ชั้นอกนิษฐภูวนา ทรงมีอยู่ และดำรงอยู่ด้วยพระองค์เอง” 3. แนวคำสอนของพุทธศาสนา มีเหตุมีผล นำมาใช้มาปฏิบัติได้จริง โดยพระพุทธเจ้าเน้น “เชื่อในเหตุผลแห่งธรรม “ มิใช่เชื่อในตัวบุคคล แม้แต่ตัวพระพุทธเจ้าฯ 4. จุดเด่นของมหายานคือ การเน้นที่ผู้อื่นนอกจากตัวเอง เป็นของกันและกันเป็น 2 ด้านของเหรียญเดียวกัน ซึ่งด้านใดจะเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับสภาพและปัจจัย รวมทั้งความเหมาะสมของแต่ละบุคคล กล่าวได้ว่า ในทัศนะของมหายาน ความหลุดพ้นส่วนตัวไม่น่าจะเรียกว่าเป็นความหลุดพ้นได้อย่างเต็มปาก พระโพธิสัตว์อาจฝึกฝนอบรมตนเองเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต แต่ พระโพธิสัตว์จะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อการช่วยเหลือผู้อื่นก่อน “ หลักโพธิจิต คือช่องทางช่วยเหลือสัตว์โลกผู้ทุกข์เข็ญ ปลดเปลื้องโลกที่เปี่ยมไปด้วยความทุกข์ เป็นที่พักร้อนของสัตว์ผู้เหน็ดเหนื่อยจากการท่องเที่ยวอันยาวนานในสังสารวัฏและเป็นสะพานข้ามไปยังอีกฝั่งที่ปลอดภัย “ ดังข้อความใน พธิจรรยาวตาร ว่า “ โพธิจิตนี้คือ สะพานสำหรับผู้ต้องการข้ามให้พ้นโอฆสงสาร” (The Bodhic±ryavat±ra, 2004-2007 : III. 30) อัษฏสาหสริกาปรัชญาปารมิตา กล่าวถึงความตั้งใจอันแน่วแน่หรือปณิธานของพระโพธิสัตว์ว่า จะยึดถือว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเสมือนหนึ่งบิดามารดาหรือบุตรของตน หรือเป็นเสมือนหนึ่งตนเองว่า “เราปรารถนาจะหลุดพ้นจากกองทุกข์ในสังสารวัฏฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็ปรารถนาเช่นนั้นเช่นเดียวกับเรา ..... เราจะไม่ตัดช่องน้อยเอาตัวรอดไปเสียจากสัตว์ทั้งหลาย เราจักต้องช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นจากกองทุกข์ จะไม่รังเกียจเดียดฉันท์พวกเขา แม้ว่าจะถูกหั่นร่างกายออกเป็นร้อยท่อนพันท่อนก็ตาม” (AŒšas±hasrik± – Prajñ±parmit±, 1958 : 93-94) อย่างไรก็ดี พระสูตรที่พรรณนาถึงปณิธานของพระโพธิสัตว์ได้อย่างจับใจยิ่งคือ สุขาวดีวยูหสูตร ในพระสูตรนี้ พระธรรมกรโพธิสัตว์ได้ตั้งความปรารถนาว่า จะไม่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจนกว่าจะรื้อ ขนสรรพสัตว์ทั้งหมดให้พ้นจากความทุกข์เสียก่อน (Larger Sukhavativyuha Sutra, 2000 : 8) 5. จุดเด่นที่มีนัยยะของมหายาน คือ “ บารมี 6 ของพระโพธิสัตว์ ( 1). .ทานบารมี พระพุทธศาสนาเน้นคุณธรรมเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้อื่น เช่น เมตตา กรุณา และทาน ( 2). . ศีลบารมี ศีลหมายถึงปกติหรือการประพฤติที่อยู่ในครรลองคลองธรรม ( 3). คือ กษานติบารมี อดทน ต่อความทุกข์ ต่อคำสอน ต่อความเจ็บปวดและการดูถูกเหยียดหยาม ความทุกข์ยังช่วยให้เจริญก้าวหน้าในธรรม ทำให้ไม่ประมาท ทำให้รู้จักเห็นใจผู้อื่น และเพิ่มพูนศรัทธา (4.). วิริยบารมี วิริยะ คือความขยันและกล้าหาญ (5). . สมาธิบารมี จะทำให้เกิดดวงปัญญา และคลายความลุ่มหลงมัวเมาในกามและสมบัติทางโลก (6). ปัญญาบารมี ปัญญาคือความเห็นแจ้งในกุศลและอกุศล