เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com สองวันของการอภิปรายในสภาสัปดาห์ที่แล้ว คงไม่ใช่ “นรก” สำหรับนายกฯ และรัฐบาลเท่านั้น แต่สำหรับประชาชนจำนวนมากด้วย ที่ “กล้าหาญ” พอที่จะเปิดทีวีและติดตามการถ่ายทอดสด ได้เห็นการอภิปรายของหลายคนที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ในกรอบประเด็นแบบติเพื่อก่อ กลายเป็น “ฝ่ายแค้น” แทนที่จะเป็นฝ่ายค้าน บางคนเหมือนกับสะใจที่ได้ “ด่า” ออกทีวี ที่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับประชาชน คงได้ใจกองเชียร์ “ซาดิสท์” เท่านั้นที่ชอบการพูดแบบ hate speech สภาจึงกลายเป็นเพียงเวทีได้ระบายความแค้น ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่อ่อนแอของไทย อ่อนแอเพราะการเมืองที่อ่อนแอ ที่ไม่ร่วมมือกัน “ปฏิรูปการเมือง” ที่เอาแต่สาดโคลนกันไปมา ด่าทอเสียดสี ตีฝีปาก แสดงโวหาร เหมือนกับเก็บกดอัดอั้นมานาน 5 ปี ความจริง ไม่ควรไปคาดหวังอะไรมากจากนักการเมือง ภาคประชาชนต้องหันมา “พึ่งตนเอง” ให้มาก นักการเมืองมาหาเสียง อ้างประชาชน แม้แต่ไปด่าคนอื่นในสภาก็ยังอ้างประชาชน ประชาชนจึงเป็นเพียงเครื่องมือ เป็นบันไดให้นักการเมืองไต่ไปสู่อำนาจมากกว่าอย่างอื่น ตราบใดที่ภาคประชาชนยังไม่คิดเรื่อง “การพึ่งตนเอง” อย่างมียุทธศาสตร์และเป็นรูปธรรม สังคมไทยก็ยังจะยังอยู่ใต้อำนาจของรัฐ ของนักการเมือง ของนายทุน ถูกใช้ ถูกเอาเปรียบ (exploited) เป็นสังคมอุปถัมภ์ ที่ใช้อำนาจกับเงินในการขับเคลื่อน ที่อิตาลีมีบทเรียนประชาธิปไตยสำหรับทั่วโลก เพราะอิตาลีเหมือนมีสองประเทศในประเทศเดียว ภาคเหนือกับภาคใต้ต่างกันราวฟ้ากับดิน อย่างที่งานวิจัย 20 ปีของ เดวิด พุตนัมเมื่อปี 1993 ชี้ให้เห็น (Making Democracy Work) ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ดผู้นี้บอกว่าว่า การพัฒนาและประชาธิปไตยเกิดได้ในภาคเหนืออิตาลีเพราะมีรากฐานที่การศึกษาดี มีประชาสังคมที่เข้มแข็ง มี “ทุนทางสังคม” (ความไว้วางใจกันของผู้คนในชุมชน) มากกว่าทางใต้ที่อยู่ใต้อำนาจของมาเฟีย ระบบอุปถัมภ์ ผู้คนจึงอพยพย้ายถิ่นไปทำมาหากินทางภาคเหนือและไปเป็นแรงงานในต่างประเทศ ชุมชนภาคใต้อ่อนแอ ท้องถิ่นอ่อนแอ ถูกครอบงำ ชุมชนภาคเหนืออิตาลีเข้มแข็งและพัฒนาเศรษฐกิจจากครัวเรือน จากชุมชนไปถึงระดับชาติและส่งออก แบรนด์ดังๆ ทั้งหลายมาจากภาคเหนือทั้งสิ้น ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยน่าจะเปรียบได้กับอิตาลีตอนเหนือกับอิตาลีตอนใต้ ญี่ปุ่นกระจายอำนาจ มีการเลือกผู้ว่าฯ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการปฏิรูปการศึกษามาตลอด มีขบวนการภาคประชาชนที่เข้มแข็ง มีวินัย มี “ทุนทางสังคม” ที่เห็นได้ในชุมชน ในยามภัยพิบัติ ที่ผู้คนเอื้ออาทรต่อกัน เมื่อกว่า 25 ปีก่อน เคยไปทำงานเกี่ยวกับโรคเอดส์ที่ภาคเหนือให้โครงการไทยออสเตรเลีย ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียให้ทุนสนับสนุน ได้พบผู้แทนราษฎรชาวออสเตรเลียที่มาติดตามงบประมาณ ได้ถามเขาว่า ทำไมรัฐบาลออสเตรเลียเลือกผมเป็นผู้จัดการโครงการนี้ ทั้งๆ ที่ผมไม่ใช่หมอ ผู้แทนออสเตรเลียตอบว่า เพราะที่ออสเตรเลียสามารถควบคุมการระบาดของโรคเอดส์ได้ ไม่ใช่เพราะรัฐบาลเข้มแข็ง แต่เพราะภาคประชาชนเข้มแข็ง บรรดาชุมชน องค์กร หน่วยงานต่างๆ ภาคประชาชนมีเครือข่าย กดดันผู้แทนของเขาและรัฐบาลให้ออกกฎหมาย ตั้งกองทุนสนับสนุนงานภาคประชาชนเพื่อป้องกันและดูแลเรื่องโรคเอดส์ เขาบอกว่า ที่รัฐบาลออสเตรเลียเลือกผมเพราะเห็นว่ามีประสบการณ์เรื่องชุมชน เรื่องเครือข่าย และจากประสบการณ์ของออสเตรเลียและหลายประเทศทั่วโลก ถ้าภาคประชาชนเข้มแข็ง จะทำงานป้องกัน ควบคุมและดูแลเรื่องโรคเอดส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ารอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยอย่างเดียว ตัดไปอีกภาพหนึ่ง เมื่อกว่า 35 ปีก่อน ผมไปที่จังหวัดแห่งหนึ่งที่ภาคอีสาน เพื่อไปริเริ่มโครงการพัฒนาในจังหวัดนั้น คนทำงานเอ็นจีโอที่ทำอยู่ก่อนแล้วถามว่า ไปพบผู้ว่าฯ หรือยัง ผมแปลกใจตอบว่า ยัง ทำไมหรือ เขาบอกว่า ควรไปแจ้งผู้ว่าฯ ว่าเราเข้ามาทำงานในจังหวัดนี้ เขาเป็น “เจ้าเมือง” ผมไม่ได้ไปแจ้งใครทั้งสิ้น เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของสังคมประชาธิปไตย เจ้าเมืองเป็นแนวคิดโบราณ วันนี้เจ้าของจังหวัด คือประชาชน แต่ระบบอุปถัมภ์ยังคงเจริญงอกงาม แม้ในหมู่เอ็นจีโอหลายคน ที่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งและเครือข่าย เพื่อให้เกิดขบวนการประชาชนพึ่งตนเอง ขณะที่เอ็นจีโอดีๆ ที่อยู่เคียงข้างประชาชนจริงๆ ก็ไม่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ มีแต่ “ใจ” แต่ขาด “ปัจจัย” ก็ทำงานลำบาก นักการเมืองดีๆ ก็มี นายทุนดีๆ ก็มาก ข้าราชการก็เช่นเดียวกัน ปัญหา คือ ยังไม่มีการร่วมมือกันสร้างขบวนการภาคประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งแปลว่า “ประชาชนปกครองตนเอง” หรือ “พึ่งตนเอง” ซึ่งแปลว่า “คิดได้ ตัดสินใจได้ เลือกได้” ไม่ใช่เลือกได้อย่างเดียว คือ “เลือกตั้ง” แล้วมานั่งดูทีวีเขาทะเลาะกันในสภา ถ้าหากภาคประชาชนมีพลังจริงและเสนอนโยบายได้จริง คงไม่มีพรรคไหนหรือผู้แทนคนไหนไม่ผลักดัน ภาพฝันนี้คงอีกนาน ในบ้านเมืองนี้ที่ยังได้แต่กระพี้ประชาธิปไตย