พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ในแง่วัฒนธรรมการเมืองของอเมริกันแล้ว หากดูใน Bill of rights ซึ่งเป็นธรรมนูญว่าด้วยสิทธิของประชาชน ในจำนวน 10 ข้อ ก็จะเห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญของอเมริกันวางเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้อย่างไรบ้าง เหมือนที่คนทั่วไปทั่วโลกมองเห็นหรือรับรู้กันอยู่นัยๆ ว่า รัฐธรรมนูญอเมริกันเกี่ยวข้องกับสิทธิในการพูดหรือแสดงออกด้านความเห็นทางการเมือง ,แม้กระทั่งป้องกัน อำนาจรัฐ หรืออำนาจอื่นๆ เข้ามาคุกคามข่มเหงสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองอย่างไรเช่นนั้น เพราะนี่คือ เจตจำนงของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือ ประชาชน ที่มีรูปแบบปรัชญาความคิดที่ไม่สลับซับซ้อนอะไรมากเลย ไม่แปลกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองและวัฒนธรรมอีกหลายๆ ด้านในสังคมอเมริกัน มันถูกกำหนดขึ้นใช้เป็นกรอบในการคิดและการปฏิบัติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ช่วงก่อนปี 1787 ที่ถือเป็นปีประกาศใช้รัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ก่อนหน้านี้ไม่มีบทบัญญัติออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นเอง แม้สถานการณ์ด้านต่างๆ จะเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เช่น เปลี่ยนตัวประธานาธิบดี แต่ตัววัฒนธรรมการเมืองอเมริกันกลับไม่เปลี่ยนแปลง ยิ่งในปัจจุบันด้วยแล้ว อเมริกันชนจำนวนไม่น้อยถึงกับถวิลหาอดีตแบบนี้เอาด้วยซ้ำ วัฒนธรรมการเมืองอเมริกันในแง่ของการสนองตอบต่อเจตจำนงของประชาชน หรือหลักการในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกของอเมริกัน ถูกนำมาใช้ในกรณีที่มีข้อขัดแย้งทางการเมืองในระดับสถาบันการเมือง เช่น ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ (คองเกรส) กับฝ่ายบริหาร การตีความหรือนำกฎหมายมาพิจารณาตัดสินต้องนำหรือคำนึงถึง“เจตจำนงของประชาชน” หรือ “สัญญาประชาคม” เป็นสำคัญจะเป็นไปในแง่ ตุลาการภิวัฒน์ ก็หาไม่ ในระบบการเมืองของอเมริกันนั้น กล่าวได้ว่า ความขัดแย้งทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางอุดมการณ์มีอยู่เช่นเดียวกับประเทศที่มีความล้าหลังทางด้านประชาธิปไตย แต่ความขัดแย้งทำนองนี้สามารถคลี่คลายลงได้ โดยอาศัยหลักแห่งเจตจำนงประชาชน ที่ถือเป็นหลักจารีตทางการเมืองแบบฉบับอเมริกัน หลักจารีตนี้เอื้อต่อการได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ จึงกล่าวได้ว่า กลไก 3 อำนาจ ตามระบอบอเมริกัน ได้แก่ นิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ อาศัยหลักการ “เสรีภาพ และความเสมอภาค” ทั้งหมดเป็นผลพวงจากประชาชนทั้งสิ้น หากคนไทยจะแปลกใจกันบ้าง ก็ตรงที่ อำนาจตุลาการอเมริกัน เป็นผลพวงจากการให้อำนาจของประชาชน โดยประชาชน แม้จะโดยอ้อมก็ตาม โดยนัยนี้ การออกโรงแย้งกฎหมายบางฉบับที่ออกโดยประธานาธิบดีทรัมป์ของผู้พิพากษาศาลกลางหรือศาลสูงสุด จึงแตกต่างออกไปจากระบบตุลาการภิวัฒน์ของประเทศด้อยประชาธิปไตย ระบบการเมืองอเมริกันสร้างประเทศจากพื้นฐานประเด็นสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค (ความยุติธรรม) เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากสำหรับคนอเมริกัน โดยที่ฐานันดร และระบบศักดินา แทบไม่มีความหมายเอาเลยในประเทศนี้ ประเด็นนี้โยงไปถึงการฝังหัวทางวัฒนธรรมของอเมริกันในยุคหรือรุ่นต่อมาอีกด้วย โดยเฉพาะความเท่าเทียมกันในทางสิทธิของพลเมืองทุกคน อำนาจตุลาการในอเมริกานั้น เป็นอำนาจจากประชาชน 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก อำนาจในการแต่งตั้งคณะตุลาการ (United States federal judges ) เป็นของประธานาธิบดี (โดยที่ตัวของประธานาธิบดีเองก็มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน) และรับรองโดยวุฒิสภา(Senate- ที่มาจากระบบเลือกตั้ง) ตาม มาตรา 3 (Article III)ของรัฐธรรมนูญ ส่วนที่สอง ได้แก่การเลือกตั้งผู้พิพากษาประจำศาลท้องถิ่นโดยพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส่วนที่สาม ได้แก่ การใช้หลักสามัญสำนึก(Common sense)ในการแต่งตั้งคณะลูกขุนเพื่อตัดสินคดีความ ซึ่งคณะลูกขุนนี้มาจากประชาชนทั่วไป ไม่จำกัดฐานะ หน้าที่การงาน ศาลแต่งตั้งมาทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาสมทบร่วมกับผู้พิพากษาหลัก จากระบบดังกล่าว น้ำหนักในการถ่วงดุลของระบบตุลาการอเมริกัน แม้ว่าจะเป็นหนึ่งใน 3 อำนาจหลักก็ตาม แต่คณะตุลาการก็แสดงให้เห็นถึงความไม่ห่างไกลจากประชาชน ทั้งตุลาการและประชาชนคือหนึ่งเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ นี้เป็นทั้งในระดับบนและระดับล่างเลยทีเดียว มีความคาบเกี่ยว และคำนึงถึงการมีส่วนเข้าไปจัดการดูแลของประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็นำเอาวิธีการ “การใช้สามัญสำนึกของคนธรรมดา” มาใช้ด้วย ตามหลักที่ว่า “สามัญสำนึกของคนธรรมดาที่ไม่ปนเปื้อนไปด้วยความรู้ วิชาการ ข้อกฎหมาย หรือรู้ในเรื่องอรรถคดีนั้นๆ เลย เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม” เป็นนัยหมายถึง การมองโลกในแง่ดี เชื่อใน “Human Sense” ว่ามีอยู่จริง เชื่อถือได้ และสามารถนำมาใช้ได้จริงนั่นเอง แปลว่า ความรู้ในเชิงวิชาการกฎหมายไม่สามารถนำมาสู่ความยุติธรรมได้เสมอไป โดยใช้ฐานความรู้สึกนึกคิด (Sense) “สามัญจิต” หรือคือการมองแบบคนธรรมดามอง มองแบบซื่อๆ ตรงๆ โดยที่คนมองเหล่านี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความ (ลูกขุน) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาคดี การตีความทางด้านกฎหมาย ในส่วนของรัฐธรรมนูญหรือแม้กระทั่งกฎหมายรองๆ ลงไป ของอเมริกัน จึงเน้นไปที่อรรถะยิ่งกว่าพยัญชนะ ซึ่งก็คือ เจตจำนงของการร่างกฎหมายนั้นๆ อันเป็นที่รู้และยอมกันในชุมชนประเทศ น้ำหนักของการพิจารณาเพื่อตีความ หรือกรอบของการพิจารณากฎหมายสูงสุดของอเมริกันไม่อยู่ที่ “ลายลักษณ์อักษร” (แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นแบบลายลักษณ์อักษรก็ตาม) หลักปรัชญานี้เลยไปถึงสัญญาประชาคม เมื่อคราวแรกร่างรัฐธรรมนูญเอาด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกที่ร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นฉบับเดิมเริ่มแรก เปลี่ยนแปลงแก้ไข เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น ในช่วง 200 กว่าปี การยอมรับหลักเจตจำนงของประชาชนหรือเจตนารมณ์ของคนฝ่ายมาก เป็นการแก้ปัญหาในบริบทประชาธิปไตย เพราะหากไม่มีหลักการข้อนี้ ความขัดแย้งในสังคมก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด สังคมประเทศจะมีแต่ความวุ่นวาย ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกันไปกี่ฉบับก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ การจัดสรรอำนาจให้ 3 ฝ่าย ต้องพอเหมาะพอดีและสมดุล ที่สำคัญคือ เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ เป็นมาตรวัดในทางโลก ไม่มีสถานที่ใด ที่มีความยุติธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยการสร้างความเชื่อมั่นว่าความยุติธรรมมีอยู่จริงก็ช่วยให้คนใน ประเทศสุขสงบจากปัญหาความขัดแย้งได้มากขึ้น คำว่า “เจตจำนงของประชาชน” ไม่เพียง สะท้อนมาจากผลผลิตเชิงรัฐธรรมนูญ หรือหยิบเอาเจตจำนงในส่วนของกฎหมายสูงสุดมาใช้เท่านั้น แต่ในส่วนของกฎหมายชั้นรองๆ ลงมา ระบบยุติธรรมหรือระบบตุลาการอเมริกัน ได้นำมาใช้ในการตัดสินคดี เชิงการเมือง คดีเชิงอุดมการณ์ คดีเชิงสังคม คดีเชิงสิทธิมนุษยชน และคดีเชิงวัฒนธรรม อีกด้วย หลายกรณีที่กฎหมายรองอาจไม่มีความหมาย เท่ากับเจตจำนงในรัฐธรรมนูญ ไม่นับรวมหากมีคณะลูกขุน(ผู้ที่ไม่รู้กฎหมาย) เข้าร่วม พวกเขาย่อมใช้ Sense ตัดสินคดีความเอาดื้อๆ ซึ่งกรอบความคิดในการตัดสิน ก็คือ เจตจำนงหลักของบุคคล หรือคณะที่เกี่ยวข้องในคดี เทียบกับของไทย ทำให้นึกถึงภาพเปรียบเปรย (แบบเว่อร์ๆ) ของคำว่า “หัวหมอ” หัวหมอแบบไทยๆ กับ หัวหมอแบบอเมริกัน น่าจะแตกต่างกัน หัวหมอแบบไทย ใช้สไตล์ การเล่นคำตามบทบัญญัติกฎหมาย พูดอีกอย่าง คือ พวกชอบแซะคำ(พยัญชนะ) ส่วนหัวหมอแบบอเมริกัน ชอบแซะใจ แซะอารมณ์ความรู้สึก การมุ่งเอาดีทางตัวอักษร (ดูจากครั้งหนึ่งเคยใช้พจนานุกรมตีความกฎหมาย) มากกว่าเจตจำนงของประชาชน ทำให้รัฐธรรมนูญหลายฉบับของบางประเทศต้องถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขบ่อยๆ อย่างเลวร้ายที่สุด คือ ฉีกทิ้งโดยการยึดอำนาจ จนเมื่อทำใหม่ก็ผลิตซ้ำในแนวเดิมๆ เพราะคนผลิต ไม่ได้ยึดถือเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ หากมุ่งแสวงหา “คนดี-ของดี” ตามจินตนาการหรือมาตรฐานของตนเอง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเจตจำนงหรือสัญญาประชาคมนั่นเอง