เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ถ้าการเกษตรไทยรอวันตาย ไม่มีอนาคต คงไม่ใช่เพราะฝนแล้ง น้ำท่วม ผลผลิตราคาตกต่ำเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเพราะเกษตรกรรุ่นเก่ากำลังแก่เฒ่าและล้มหายตายจาก ไม่มีคนสืบทอดต่างหาก ฟังการแถลงนโยบายและการอภิปรายในสภาก็ไม่ได้ยินว่าจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมสัมผัสได้อย่างไรจึงจะให้เกิด “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในการเกษตร เพราะปัญหามีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกันหมด จำนำหรือประกันราคาข้าวเปลือกคงหมดยุคแล้ว เพราะมีหลายวิธีที่ยั่งยืนกว่า จะทำหรือไม่เท่านั้น วันนี้จีนกำลังส่งข้าวออก ไปปลูกข้าวในตะวันออกกลาง กลางทะเลทราย ไม่สนใจว่าแล้งหรือดินเค็มแค่ไหน เพราะความรู้มี เทคโนโลยีถึง ไม่นานก็จะส่งออกข้าวไปขายทั่วโลก หลายประเทศในแอฟริกาที่จีนไปส่งเสริมการปลูกข้าวมาหลายปี ก็กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ที่ดินเพาะปลูกก็มหาศาล ผลผลิตต่อไร่ในประเทศต่างๆ สูงกว่าไทยมาก จำนวนชาวนาไทยลดน้อยลงทุกปี อีก 20 ปี อาจไม่มีคนทำนา พ่อแม่แก่เฒ่าและตายไป ลูกหลานไม่มีใครสืบทอด นาอาจไปอยู่ในมือนายทุนที่ทำนาแปลงใหญ่ หรือเปลี่ยนเป็นไร่อ้อย ไร่มัน พืชเศรษฐกิจอื่นๆ หลายปีแล้วที่รัฐบาลได้ส่งเสริม “สมาร์ทฟาร์เมอร์” ภาคเอกชนทำโครงการ “คนกล้าคืนถิ่น” ทำให้คนที่เคยทำงานในเมือง คนจบปริญญากลับไปทำการเกษตร สื่อต่างๆ นำกรณีตัวอย่างมาเสนออย่างน่าสนใจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่า “ต้นแบบ” ที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้มาจากโครงการของรัฐบาลหรือไม่ เพราะไม่เห็นมาตรการอะไรที่ชัดเจน ที่สร้างแรงจูงใจให้คนกลับบ้านทำการเกษตร จึงน่าจะมีแต่ “หน่วยกล้าตาย” คนเบื่อเมืองกรุง เบื่อสำนักงาน ตกงาน หรือที่เป็นห่วงพ่อแม่ ที่กลับไปทำการเกษตร มีมากมายหลายกรณีที่น่าสนใจมาก อย่างคุณตรีนุช วงศ์สมตระกูล คนอยุธยา อายุ 25 ปี เรียนจบป.ตรีและโททางวิศวะ สนใจเรื่องการเกษตรจึงไปเรียนรู้หลายเดือนและลงมือทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักและแปรรูปผลผลิตจนมีรายได้ดี ได้อาหารดี มีความสุขกับการทำงาน ขายออนไลน์ ผลิตขายไม่ทัน หรือกรณีคุณนัฐกร มาลัย ที่ตำบลอู่โลก อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ เรียนมาทางพืชสวน แต่ไปทำงานเป็นลูกจ้างอยู่หลายปีที่โคราช เสาร์อาทิตย์วันหยุดก็กลับบ้านไปทำสวน ปลูกมะเดื่อฝรั่ง จนสุดท้ายลาออกจากงานมาทำเกษตร ปลูกอีกหลายอย่าง แค่หญ้าอิสราแอลงานเดียวทำเงินปีหนึ่งได้เป็นแสน วิถีชุมชนวันนี้มีอะไรมากมายให้สืบสาน ต่อยอด และให้อยู่รอดได้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะปัจจัย ๔ อาหาร เสื้อผ้า ยาสมุนไพร ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหลายอย่างกำลังจะหายสาบสูญไปพร้อมกับเจ้าของภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีคนหนุ่มคนสาวหลายคนที่สืบทอดจากพ่อแม่และชุมชน อย่างกรณีสุพัตรา แสงกองมี วัยเพียง 23 ปีของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ (ผ้าขาวม้าดารานาคี) จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งก่อนนี้ทอกันทั้งหมู่บ้าน ต่อมาราคาไม่ดี จึงเลิกทำ เหลือเพียงไม่กี่คนที่กำลังจะเลิกเหมือนกัน คุณสุพัตรามาคิดได้ว่า ถ้าจะทำให้ผ้าขาวม้าอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ ต้องคิดต่างจากเดิม เธอเห็นว่า วันนี้คนสนใจอะไรที่เป็นธรรมชาติ เป็นอินทรีย์ มีภูมิปัญญาดั้งเดิมในการย้อมโคลน ย้อมสีธรรมชาติจากไม้ป่าไม้บ้านหลายชนิด ทำอย่างไรให้ผ้านุ่ม สีสันน่าใช้ หีบห่อน่าชมน่าซื้อ แปรรูปเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าพันคอ ผ้าปูโต๊ะ และอื่นๆ ผ้าขาวม้าจากผืนละ 100 บาท กลายเป็น 500 ชาวบ้านจึงหันกลับมาทอผ้าขาวม้าอีกครั้ง มี 3 ปัจจัยของการคืนถิ่น สืบสานต่อยอดวิถีชุมชน ไม่ว่าด้านการเกษตร หัตถกรรมตามวิถีชุมชน คือ มีใจ มีความรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ คนที่คืนถิ่นได้ต้อง “ใจถึง” เป็นคนกล้า เพราะอาจขัดใจหลายคน ขัดความรู้สึกของชาวบ้านที่คิดว่าอุตส่าห์ไปเรียนสูงๆ ทำไมกลับไปทำนาทำสวน ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำว่าทำได้ดี และอยู่รอดได้ เมื่อใจมา ปัญญาเกิด อะไรก็เกิดได้ โดยการขวนขวายหาความรู้และนำสู่การปฏิบัติ ความรู้ที่มาจากการลงมือทำเป็น“ความรู้มือหนึ่ง” เป็นความรู้จริง ส่วนใหญ่ที่ไปทำการเกษตรและสืบสานภูมิปัญญา ไม่ได้เรียนมาทางนั้นโดยตรง เรียนใหม่เรียนเองจากการลงมือทำทั้งนั้น ประการที่ 3 สำคัญ คือ ความคิดสร้างสรรค์ คนกล้าเหล่านี้ไม่ได้คิดแค่กลับไปทำนา แต่คิดว่าสังคมวันนี้ต้องการอะไร ต้องการอาหารสุขภาพ เกษตรอินทรีย์ ผ้าย้อมสีธรรมชาติ ต้องการไปสัมผัสกับธรรมชรติและวิถีชุมชน พวกเขาก็ทำสิ่งเหล่านี้ ต้อนรับให้ไปเที่ยวชม ซื้อผลผลิต ไปรับประทานอาหารที่มาจากสวนจากนาของตนเอง ผลผลิตหลากหลายล้วนแปรรูปทำให้มูลค่าเพิ่ม คนรุ่นใหม่เหล่านี้เอาวิชาที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัยใช้ได้อย่างผสมผสาน การผลิต การตลาด ไม่ต้องมีหน้าร้าน ขายออนไลน์ ส่งทางไปรษณีย์หรือเคอรี่ ไม่ทำอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงกันไปทั้งการเกษตร การแปรรูป ร้านอาหาร การท่องเที่ยว ไปถึงโฮมสเตย์ในบางกรณีที่มีที่พักในสวนในนา ฟังจากการให้สัมภาษณ์ของคนหนุ่มคนสาวเหล่านี้เห็นว่า พวกเขา “คิดเป็น” เป็นตัวของตัวเอง ไม่ติดกรอบ พร้อมที่จะคิดใหม่ทำใหม่ อย่างพืชพันธุ์ใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ การแปรรูป การจัดการ นี่ขนาดมีแต่ “หน่วยกล้าตาย” กลับไปบ้านทำเอง แล้วรัฐบาลมีมาตรการอะไรไปส่งเสริมขบวนการสืบสานการเกษตรและภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ การศึกษาไทย รัฐบาลและภาคธุรกิจไทยไม่จับมือกันผลักดันให้คนกลับไปทำงานแบบนี้ หรือจะรอให้ปัญญาประดิษฐ AI ทำให้คนตกงานหลายล้านก่อนแล้วค่อยคิด ยุทธศาสตร์ 20 ปีถ้ามีวิสัยทัศน์แบบ “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ” มองไม่เห็นชาวบ้าน ศักยภาพของคนเล็กๆ ไม่เห็นชุมชน ไม่สนใจส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้กลับไปแทนคุณบ้านเกิด ไปสืบสาน อีกไม่นานคงได้เห็นเกษตรกรไทยเป็นเพียงลูกจ้างในนาใหญ่ของนายทุนเท่านั้น