ชัยวัฒน์ สุรวิชัย ในยุคนี้ ช่วงนี้ เมื่อมีการพูดถึง 7 สิงหา ผู้คนจะคิดแต่ “ วันลงประชามติ รธน. “ ซึ่งมีการรณรงค์กันหลากหลายรูปแบบ แม้ว่าจะไม่มากนัก เพราะมีการเข้มงวดจาก คสช. แต่อีกมุมหนึ่ง ที่ผู้สันทัดกรณี ตระหนักดี คือ “ ทั้งนักการเมือง และสื่อ “ โกหกบิดเบือน ไม่ได้พูดความจริงตามเนื้อผ้า แต่ใช้สีแดง สีเหลือง พ่นสาดใส่กันมากน้อยตามกำลัง คือ การไม่ใช้เหตุผล และความจริง ของตัวร่างและเนื้อหารัฐธรรมนูญ มาให้คนรับรู้ การไม่เคารพความจริง และการไม่เคารพประชาชน เป็นนิสัยของนักการเมืองและสื่อไทย แต่อ้างวาทกรรมใหญ่โต “ เสรีภาพของสื่อ สิทธิของนักการเมือง ที่มาจากประชาชน “ มีอย่างที่ไหน พรรคการเมืองฝ่ายหนึ่ง ไม่เห็นข้อดีของรธน. พูดถึงข้อเสีย 100 % เหตุผลสุดท้าย คือ เหตุเดียว “ กรธ. คสช. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน” นักการเมืองพูดโกหก สื่อของเขานำมาลง แล้วประชาชน ก็ได้ “ คำโกหกคำโต ”มาตลอด ไม่ได้ความจริง ไม่ได้ความรู้ที่นำมาคิดพิจารณา นี่คือ สภาพความจริงที่เกิดขึ้นมาตลอด ทำให้สังคมไทย ไม่ได้รับการพัฒนา ประชาชนจึงขาดคุณภาพ ขาดการเรียนรู้ความจริง คนที่ติดตามสถานการณ์ ก็ได้เห็น การแสดงวาทะเหตุผลของการรับ ไม่รับ หลากหลาย ทั้งมีเหตุมีผลถูกต้องตามข้อเท็จจริง และมีไม่น้อย ที่มีการบิดเบือน เพื่อกล่าวหาอีกฝ่าย บางส่วนมองภาพรวม เอาด้านหลักมาเป็นตัวตัดสิน ไม่เอาเฉพาะข้ออ่อนที่เป็นส่วนน้อย บางส่วนเอาอคตินำ ไม่เอาทหาร ไม่รับข้าราชการ นายทุน เอาแต่นักการเมือง ฯ บางคน เอาผลประโยชน์ตัวเองมาก่อน แต่หาเหตุผลมาลง ในคำตอบที่เขียนไว้ก่อน เป็นเช่นนี้แล้ว สังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งคุณภาพและความจริง จะเกิดได้อย่างไร มีอีก 2 เรื่อง ที่จะขอพูดถึง วันสำคัญของ 7 สิงหา ต่อประเทศไทยและชีวิตของผม 1. วันเสียงปืนแตก 7 สิงหา 2508 เป็นวันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก กองกำลังของพรรคได้เรียกตนเองว่า กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) [ในขณะที่รัฐบาลเรียกว่า ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)] เหตุเกิดที่ บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ทั้งนี้ได้ประกาศยุทธศาสตร์ "ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมือง และยึดเมืองในที่สุด" หลังจากวันเสียงปืนแตก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย( ก่อตั้ง 1 ธันวา 2485 ) ก็ต่อสู้ด้วยอาวุธกับกองกำลังของรัฐบาลไทยมาตลอด และ ในยุค "แสวงหา" นักศึกษาประชาชนเข้าป่าเพื่อต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2523 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณณสูลานนท์ได้ออกคำสั่ง 66/2523 นิรโทษกรรมแก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ และ 2525 พรรคมีการเจรจากับรัฐบาลไทย เลิกต่อสู้ด้วยอาวุธ ให้มาต่อสู้กันทางรัฐสภาแทน บรรดานักปฏิวัติหลายคนที่ผิดหวังต่อแนวทางของพรรคที่วิเคราะห์สภาพสังคมไทยผิดพลาด อิงจีนมากไป โดยไม่อาศัยสภาพความเป็นจริงของประเทศไทยและขาดการสนับสนุนจากปชช. จึงยุติการต่อสู้ เดินทางกลับมาสู่นาครด้วยมือเปล่า ( แทนการเอาธงแดง มาปักกลางนคร ตามฝัน) หลังจากนั้นพรรคก็อ่อนกำลังลง ในปัจจุบันยังคงมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอยู่ แต่ยังคงไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ พคท. ใช้การต่อสู้ทางความคิด ทางการเมือง และการต่อสู้ด้วยอาวุธ กับรัฐบาลไทย เพราะ ถือว่า “ รัฐบาลไทย เป็นตัวแทนของคนส่วนน้อย นักการเมือง ข้าราชการนายทุน ที่สมคบกับจักรพรรดินิยมอเมริกา มากดขี่ขูดรีดเอไปจากประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย “ จึงถือว่า “ เป็นศัตรูของประชาชน ที่จะต้องโค่นล้มลง เพื่อสถาปนารัฐบาลของประชาชนมาแทน พคท. ต่อสู้มาอย่างยาวนาน มีกำลังทหาร (ทปท. กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ) มีพรรคคอมมิวนิสต์ ชี้นำทางความคิด และมีแนวร่วมประชาชนแห่งประเทศไทย โดยเน้นการต่อสู้ในชนบท แต่มาเติบโตใหญ่มาก หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาประชาชน นักวิชาการ บุคคลที่มีชื่อเสียงและนักการเมือง เข้าร่วมหลายพันคนฯ จนสร้างความตกใจและขวัญเสียแก่รัฐบาล ที่มองว่า “ จะเป็นไปตามทฤษฎี โดมิโน “ คือ ประเทศไทยจะล้มตามเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ประเทศอินโดจีน ที่มีดินแดนติดกับไทย เพราะยุคนั้น เป็นยุคของการต่อสู้ของจักรวรรดินิยมอเมริกา รัสเซียจีนและประเทศสังคมนิยม ใครที่สนใจในประวัติศาสตร์และการต่อสู้ของประชาชนไทยและโลก ควรจะศึกษาเพิ่มเติม เพราะ การศึกษาอดีต ทำให้เราเข้าใจปัจจุบัน และการก้าวไปยังอนาคตของประชาชนไทย. 2. วันที่ 7 สิงหาคม 2519 เป็นวันที่เป็นรอยต่อและอยู่ระหว่างวันสำคัญ 2 วันของประวัติศาสตร์การต่อสู้ของปชช.ไทย คือ วันที่ 14 ตุลา 2516 วันเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของนักศึกษาประชาชนไทย ที่ได้รวมตัวกันเรียกร้อง “ รัฐธรรมนูญ “ จากรัฐบาลทหารที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจไป ( เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง : ต้องเข้าใจว่า รัฐบาลทหารในยุคนั้น ทำเพื่อตัวเองและพวกพ้อง โดยใช้อำนาจเผด็จการฯ ทำให้ประชาชนทุกข์ยากลำบาก และไม่พอใจรัฐบาลทหารมาก ) โดยมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องด้วยสองมือเปล่า สันติวิธี คัดค้านต่อต้านการทำมิชอบฯ ซึ่งผู้นำนักศึกษาฯ ได้มีประสบการณ์การเคลื่อนไหวในระดับมหาวิทยาลัย และศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ที่เป็นตัวแทนของนักศึกษาทั่วประเทศจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งกลุ่มอิสระในมหาวิทยาลัยฯ ที่คัดค้านการคอร์รับชันของผู้บริหาร การใช้อำนาจเผด็จการ ของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความบริสุทธิ์ ไม่มีใครหรือนักการเมืองใดๆหนุนหลังฯ และเริ่มก่อตั้ง “ กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ “ จนไปถึง “ 13 กบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญ “ที่เป็นจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ นำไปสู่การล้ม “ 3 ทรราช ถนอมประภาสณรงค์ “แล้วเกิดประชาธิปไตยขึ้น มีการตั้งสภาสนามม้า มีรัฐธรรมนูญ และมีการเลือกตั้งขึ้นฯ และวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นวันที่ทหารตำรวจ นวพล ลูกเสือชาวบ้านของกลุ่มขวาจัด ได้ปิดล้อมนักศึกษาประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องต่อต้าน การกลับมาของ” จอมพลถนอมประภาส “ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีการใช้อาวุธยิงเข้าใส่มหาวิทยาลัย และบุกเข้าไปทำร้าย และจับกุมนักศึกษาประชาชน ไปขังคุก รวมทั้งมีการใช้อำนาจ กล่าวหาจับกุมผู้คนจำนวนมากฯ ซึ่งถือว่า เป็นการกระทำที่เหี้ยมโหด อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทยและเป็นสาเหตุใหญ่ ที่ทำให้นักศึกษาและประชาชนหลายพันคน หนีอำนาจเผด็จการ เดินทางเข้าร่วมต่อสู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในชนบททั่วประเทศ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2519 ตรงกับ วันเสาร์ขึ้น 12 ค่ำเดือนเก้า ปีมะโรง รถตู้คันโต ได้นำนักทัศนาจร จำนวนหนึ่ง เดินทางขึ้นเหนือ โดยออกแต่เช้าตรู่ เดินทางไปแวะ ชมวัดและอุทยานเมืองเก่าราชธานีแห่งแรกของประเทศไทย คือ สุโขทัย หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแบบปิดนิคที่มีผู้จัดการให้เสร็จ ก็เดินทางต่อไปจังหวัดแพร่ รถตู้คันนี้ นำผู้โดยสาร เข้าไปพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในตัวจังหวัด และกินอาหารค่ำในห้องพัก นักทัศนาจรบางคน ถือโอกาส ลงไปเดินเล่นชมเมือง แล้วก็ต้องรีบเผ่นขึ้นมา เพราะไปเจอคนรู้จัก นอนพักกันอย่างสบาย เพราะกว่าจะออกเดินทางต่อ ก็เป็นช่วงบ่ายๆ มุ่งหน้าไปยังเชียงราย ตอนค่ำๆ ขณะที่รถตู้ ขึ้นเนินสูง โดยขับไปช้าๆ ผมได้สังเกตเห็นมีกิ่งไม้ขวางอยู่ 2-3 ครั้ง และครั้งสุดท้าย รถตู้ก็จอด และนักทัศนาจรชุดนี้ ต้องรีบลง เพราะมีภารกิจสำคัญรีบด่วน มีเสียงผู้หญิงพูดขึ้น ด้วยความตกใจ “ ผู้มารับ ใส่ชุดทหาร ติดดาวแดงด้วย “ แล้วคณะทัศนาจร ก็ต้องเดินทางผ่านค่ายทหารค่ายตำรวจตระเวรชายแดน 2-3 แห่ง เช้ามืดประมาณ 05.00-06.00 น. คณะก็ถึงที่พัก หลังลุยน้ำลงเขาขึ้นเนินหลายรอบ “ ฐานที่มั่น ดอยยาว มีความยินดี ขอต้อนรับสหายผู้กล้าฯ ด้วยความยินดี “อ.ธีรยุทธ-ศิริพร บุญมี , ประสาร-รัตนา มฤคพิทักษ์ , วิสา คัญทัพ , มวลชน สุขแสง, วิสุทธิ์ ฯ , ชัยวัฒน์ สุรวิชัย ฯ และสามสาวจากยโสธร , 2 หนุ่มสาวใหญ่จากภาคใต้ คนในเมือง ช่วงไปร่วมต่อสู้ในป่าในชนบท เขาจะมีชื่อเฉพาะ “ ชื่อจัดตั้ง “เพื่อปกปิดความลับ ส.ชัยชนะ – ส.เดือน , ส.ศักดิ์สิทธิ์ – ส.แขก , ส. ไพรำ , ส.เกิด , ส. ตรง ฯลฯ แต่มีสหายคนหนึ่ง เมื่อมีการแนะนำกับมิตรจากต่างประเทศที่มาเยือน สำนักแนวร่วม กปปช. ( คณะกรรมการประสานงานผู้รักชาติรักประชาธิปไตย) ที่มี อ.ธีรยุทธ เป็นผู้ประสานงาน คกก. ประกอบด้วย พคท. พสท.( พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย) พรรคแนวร่วมสังคมนิยมและผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ฯ คุณอุดม ศรีสุวรรณ ประธานฯ แนะนำผมว่า Comrade : Happy See Moon ชื่อไทย คือ ส. สุข ชมจันทร์ ซึ่งก็คือ ตัวผู้เขียนคอลัมน์นี้ ครับ. สหาย !