เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ฝนแล้งน้ำท่วม ชาวนาสิ้นหวัง เพราะรัฐเองก็ช่วยอะไรไม่ได้ โทษฟ้าโทษฝน โทษแอลนิโญ่ ลานีญ่า แต่ลองไปดูคนเล็กๆ ชุมชนเล็กๆ หลายแห่งทั่วประเทศว่าเขาแก้ปัญหาเองอย่างไร ไม่ว่าปีไหน ลุงมณี ชูตระกูล คนตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดุอทัยธานี ไม่เคยมีปัญหาเรื่องน้ำทำนา ทำการเกษตร เมื่อก่อนเขาทำนา 60 ไร่ เช่าเขาอีก 20 ไร่ ไม่ได้อยู่ในเขตชลประทาน ได้ข้าว 45 เกวียน ปี 2535 เพลี้ยลง ได้ข้าวเพียง 4 เกวียน หมดเลย เขาไม่ท้อ เริ่มหาวิธีแก้ปัญหาระยะยาว บอกว่า “ปัจจัยสำคัญที่สุดในการผลิต คือ น้ำ ผมมุ่งแก้ปัญหาน้ำเป็นอันดับแรก หวังพึ่งเทวดาเท่านั้นไม่ได้แล้ว แม้แต่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐก็คงไปรอให้ท่านมาช่วยไม่ได้ เราต้องหาทางช่วยตัวเองก่อน” เขากู้เงิน ธ.ก.ส. มาจ้างรถไถให้ไถร่องรอบๆ นา ลึก 1 เมตร กว้าง 2 เมตร โชคดี ทำเสร็จฝนก็ตก ได้น้ำขุ่นเหมาะกับผักกระเฉด ผักบุ้ง ปลูกไปขายได้เงินมา 20,000 ส่วนหนึ่งจ่ายหนี้ส่วนหนึ่งไปซื้อลูกปลามาปล่อย 100,000 ตัว ทยอยเลี้ยงเป็นรุ่นๆ เป็นปลากินพืช ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลาจีน ปลานิล ปลายปี 2535 ขึ้น 2536 ก็ปลูกผักหน้าแล้ง ปี 2536 เริ่มจับปลาขาย ปี 2539 ได้โครงการน้ำเพื่อชีวิตมาช่วยและลงทุนเอง ขยายร่องน้ำรอบนา 20 ไร่ ลึกลงไปอีก 1 เมตร กว้าง 2 เมตรด้านล่าง และ 4 เมตรที่ปากร่อง ดินที่ขุดก็โกยขึ้นมาเป็นคันกว้าง 3 เมตร ปลูกผัก ปลูกไม้ผลได้หลายชนิด ลุงมณีขุดสระใหญ่ไว้เป็นที่กักเก็บน้ำในหน้าฝน เดือนสิงหาคมน้ำจะมาก จะหลาก ถ้าไม่เต็มก็สูบจากร่อง มีบ่อปลาหลายบ่อ สระน้ำและบ่อต่างๆ มีท่อส่งน้ำถึงกันหมด เปิดปิดได้ สระใหญ่จะอยู่สูง เมื่อต้องการน้ำทำนาและปลูกพืชผักก็เปิดท่อปล่อยน้ำ ไม่ต้องสูบให้เปลืองน้ำมัน ลุงมณีเป็นนักวางแผนว่าจะปลูกอะไรเมื่อไร “เช่นปลูกเผือกไร่หนึ่งขายได้ 60,000 เพราะดูว่าตลาดจะขาดเผือกเมื่อไร ผมลงมกรา ไปเก็บเอากรกฎา ตอนที่เผือกแพงพอดี มีถั่วลิสง ถ้าลงธันวาไปเก็บมีนาก็ราคาดีมาก เพราะถั่วลิสงขาดตลาด ผมปลูก 3-4 ไร่ นอกนั้นก็มีข้าวโพด ต้องดูเวลาลงให้ดี ขายจะได้ราคา” ลุงมณียังปลูกผักผลไม้อีกหลายชนิด มีฟักทอง แตงโม มะม่วง กระท้อน ส้มโอ ชมพู่ ขนุนอย่างละ 40-50 ต้น ไม่ได้เน้นที่ไม้ผล ปีหนึ่งก็ขายได้ไม่ถึง 20,000 บาท ลุงมณีทำนาปีหนึ่ง 3 ครั้ง นาปี 1 ครั้ง ทำเองส่วนหนึ่ง แบ่งให้ลูกทำส่วนหนึ่ง ที่ทำเอง 28 ไร่ ได้ข้าวนาปีประมาณ 30 เกวียน ส่วนนาปรังทำ 15 ไร่ ได้ข้าวประมาณ 10 เกวียนต่อครั้ง รวมทั้งปีได้ข้าว 50 เกวียน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เน้นขี้วัวขี้ควาย เอาไปใส่ก่อนทำนา เขายืนยันว่า “ถ้าดินดี สมบูรณ์โรคและศัตรูพืชก็ไม่ค่อยมี อย่างเพลี้ยก็ต้องรู้วิธีกำจัดหรือป้องกัน ถ้าปล่อยให้น้ำแห้งตามเวลา เพลี้ยก็ไม่มี ผมจัดการปล่อยน้ำขังในนาลงไปในร่องรอบนา ไม่ได้ปล่อยน้ำทิ้งเหมือนคนอื่นเขาทำกัน ผมทดน้ำไปเก็บไว้ใช้ต่อ ต้องใช้วิธีจัดการแบบธรรมชาติ ไม่เอะอะก็วิ่งไปซื้อยา” ทำกันสองคนกับภรรยา จ้างเขาตีดิน จ้างรถเกี่ยว “ชาวนาวันนี้ไม่หนักเหมือนเมื่อก่อน ไม่ต้องออกแรงมาก แต่ต้องใช้ปัญญามากขึ้น ต้องเรียนรู้และวางแผนให้ดีกว่าเดิม เราไม่ได้ทำกินอย่างเดียวแล้ว เราทำขายด้วย ผมว่าถ้าขยันหมั่นเพียร ใช้ความรู้ใช้ปัญญาในการจัดการดิน จัดการน้ำ จัดการเรื่องการขายผลผลิต ถ้ามีมากก็ขายได้ ผมเชื่อว่าชาวนาเราอยู่ได้อย่างมั่นคง” ถามว่าเขาเรียนรู้ทำการเกษตรมาจากไหน เขาตอบว่า “เรียนมาจากทุ่งนาครับ เรียนจากการปฏิบัติ จากการสังเกต จากประสบการณ์ จากความล้มเหลว จากปัญหาอุปสรรค ถ้ามองโลกในแง่ดี ทุกอย่างเป็นโอกาสให้เราเรียนรู้ได้หมด แต่เรียนรู้แปลว่าต้องคิดให้เป็นด้วย ไม่ใช่ไปเห็นใครเขาทำอะไรได้ผลก็รีบมาทำด้วย ประเภทเฮไปก็เฮมา ถึงได้เจ๊งกันไม่รู้จบ” “ผมอยากแนะนำว่า การไปศึกษาดูงานใครก็ตาม ไปดูมาแล้วต้องมาคิดก่อนว่า ที่ของเราเป็นอย่างไร เหมาะสมที่จะทำอย่างเขาไหม สภาพของเรา หนี้สิน และอื่นๆ ต้องคิดให้รอบด้านก่อนลงมือทำ ขยันอย่างเดียวไม่พอ ต้องฉลาดด้วย” เขาพูดอย่างคนที่คิดได้และไม่เป็นหนี้ ธ.ก.ส.มากว่า 20 ปีแล้ว “ผมเคยไปดูงานมาแล้วเอามาทำเลย ไม่ได้ผลครับ บางครั้งไปฝึกอบรมมา เขาก็ไม่ได้อบรมเราทุกขั้นตอน ไม่ได้ครบถ้วนกระบวนความ หลายคนไม่ได้เปิดอกพูดหรือบอกเราหมด เราเอามาทำก็ไม่ได้ผล ต้องมาเรียนรู้เอง มาทำเอง รวมถึงพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ อย่าได้แต่เอาของที่เขามาแจกมาแถม อันนั้นไม่ค่อยดี สู้เราเพาะกล้าเอง หาพันธุ์เองไม่ได้ แน่นอนกว่า” ยังมีคนอย่างลุงมณีอีกจำนวนมาก อย่างหมวดกรกฤช เหลิม จันศรี และคุณจรัญ เทพพิทักษ์ ศิษย์เก่า “มหาวิทยาลัยชีวิต” ที่ปีนี้ลงภาพนาข้าวเพิ่งดำนาเสร็จอวดใครต่อในโซเชียลมีเดีย แม้ว่าที่หนองคายและมหาสารคามทั่วไปจะแล้ง แต่สองคนนี้มีน้ำทำนา ด้วยวิธีการที่คล้ายกับลุงมณีที่อุทัยธานี หรือกรณีบ้านลิ่มทอง ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ สิบกว่าปีมานี้ ชาวบ้าน 2,221 ครัวเรือน ไม่เคยมีปัญหาเรื่องน้ำแล้งเลย เคยมีแต่ท่วมหน้าฝน ไม่เคยเก็บน้ำได้ วันนี้มีทำคลองดักน้ำหลาก และคลองซอย แก้มลิง 61 สระ สระประจำไร่นาอีกกว่า 50 สระ มีน้ำใช้ทำการเกษตรทั้งปี ส.ส.ที่อยากช่วยชาวบ้านไม่ควรคิดแต่เมกาโปรเจคต์ ควรเรียนรู้จากของจริง ไปปรึกษามูลนิธิชัยพัฒนาที่มีตัวอย่างการแก้ปัญหาน้ำในระดับชุมชนทั่วประเทศ นำไปขยายผล เสนอนโยบาย เสนอกฎหมายที่มาจาก “ข้างล่าง” (bottom up) ที่ช่วยชาวไร่ชาวนาได้จริง ไม่ใช่นั่งคิดฝันเอาจาก “ข้างบน” (top down)