พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ทุกอาชีพในอเมริกา ต้องโดนตรวจสอบทรัพย์สิน ไม่เว้นแต่อาชีพตุลาการในระดับต่างๆ ที่ต่างก็ล้วนมีที่มาซึ่งยึดโยงกับประชาชนหรือสนามการเลือกตั้งเช่นเดียวกับนักการเมือง ในระบบอเมริกัน ภาพของความเป็นนักการเมืองกับตัวแทนของวิชาชีพแขนงต่างๆ จึงแยกไม่ออก เพราะนักการเมือง คือประชาชนแม้จะเป็นในนามของตัวแทนก็ตาม น่าสนใจว่าในอเมริกาเองก็มีการกฎหมายตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองอเมริกันเช่นเดียวกันกับกฎหมายของไทย มีการดำเนินการกันก่อนที่กฎหมายการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองในเมืองไทยจะเกิดเสียอีกโดยนักการเมืองอเมริกันจะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินรายรับ รายจ่าย เพื่อรายงานให้สาธารณะทราบอย่างเปิดเผย ไม่ต่างจากบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ในระดับสูง ที่ทำงานในหลายหน่วยงานของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ที่มีหน้าที่แจ้งทรัพย์สิน หรือไม่ก็บัญชีรายรับ-รายจ่ายให้รัฐและสาธารณะทราบเช่นกัน รวมถึงองค์กรที่เรียกว่า มหาวิทยาลัย (University, College) ที่กฎหมายของแต่ละรัฐกำหนดให้มีการเปิดเผยรายรับ-รายจ่าย ทั้งในส่วนของบุคคลที่เป็นผู้บริหารเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสถาบันการศึกษาและตัวสถาบันการศึกษาเอง แปลว่า ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เช่น อธิการบดี คณบดีรวมถึงลูกจ้างของมหาวิทยาลัยต้องรายงานหรือแจ้งบัญชีรายรับรายจ่ายต่อรัฐนอกเหนือไปจากสถาบันหรือมหาวิทยาลัยเองที่จะต้องทำรายงานรายรับ-รายจ่ายเรื่องนี้เพื่อส่งให้กับรัฐ และกฎหมายบังคับด้วยว่า “ต้องรายงานต่อสาธารณะ” ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (UC- University of California) ซึ่งมีพนักงานและลูกจ้างมากกว่า191,000 คน UC มีการจัดทำรายงานที่ เรียกว่า รายงานค่าใช้จ่ายประจำปี (Annual Report on Employee Compensation) โดยมหาวิทยาลัยต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใส (Annually discloses employee payroll information as part of its commitment to transparency and public accountability.) เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา (ดูใน : https://ucannualwage.ucop.edu/wage/) ความโปร่งใสด้านการเงินของมหาวิทยาลัยในอเมริกา โยงไปถึงจำนวนเงินที่ได้รับบริจาคจากผู้สนับสนุนมหาวิทยาลัยจากภายนอก คือ ยิ่งมหาวิทยาลัยมีความโปร่งใสมากเท่าใด ก็จะยิ่งมีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนมากขึ้นเท่านั้น ความโปร่งใสดังกล่าว รวมถึงความโปร่งใสในการกำหนดรายได้ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย อย่างเช่น อธิการบดี คณบดี หรือตำแหน่งบริหารระดับสูงอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้มหาวิทยาลัยในอเมริกามีหน้าที่ตามกฎหมายต้องดำเนินการจัดทำรายงานเสนอต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย(Public Sector Salary Disclosure Act.) สำหรับการรายงานสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยต่อรัฐบาลท้องถิ่นนั้น กฎหมายของแต่ละรัฐกำหนดไว้ไม่เหมือนกัน แต่มีวัตถุประสงค์และวิธีการที่คล้ายคลึงกัน เช่น ในรัฐโอเรกอน มหาวิทยาลัย ต้องเสนอรายงานรายได้ของพนักงานของมหาวิทยาลัย เช่น ผู้บริหาร อาจารย์ และลูกจ้างต่อสำนักบริหารของรัฐโอเรกอน คือ DAS (Oregon Department of Administrative Services) โดยต้องรายงานแม้กระทั่งรายได้นอกเหนือจากที่พนักงานของมหาวิทยาลัยได้รับจากมหาวิทยาลัย โดยตรง ซึ่งก็คือ รายได้จากข้างนอก หรือรายได้เสริมของอาจารย์/พนักงานของมหาวิทยาลัย เช่น รับงานสอนพิเศษ งานไปศึกษาดูงานหรืองานวิจัยที่อื่นๆ ขณะเดียวกันรัฐโอเรกอนยังกำหนดให้มีการนำเสนอรายงานด้านการเงิน (รายรับ-รายจ่าย) ดังกล่าวต่อสื่อสาธารณะ เช่น ต้องลงในเว็บไซต์ เป็นต้นเพื่อให้สาธารณชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง วัตถุประสงค์ขอการจัดทำรายงานเกี่ยวกับการเงินของมหาวิทยาลัย อย่างเช่น รายได้ของคณาจารย์ พนักงานมหาวิทยาลัย ก็เพื่อความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ การะปฏิบัติในลักษณะนี้ มีการปฏิบัติแบบเป็นการทั่วไปในเกือบทุกประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ เพราะมีส่วนต่อความนิยม หรือความเชื่อมั่นต่อมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่ถือว่าผู้เข้าเรียนและผู้สนับสนุนต้องมีส่วนในการรับรู้สภาพที่แท้จริงของสถาบันการศึกษา ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงการบริจาคและการสนับสนุนสถาบันการศึกษาจากองค์กร และบุคคลจากข้างนอกมหาวิทยาลัย ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย New Brunswick ที่แคนาดา ต้องรายงานและเปิดเผย รายได้ที่สถาบันต้องจ่ายให้กับอาจารย์และพนักงานของมหาวิทยาลัยอย่างเข้มงวด การเปิดเผยดังกล่าว อาจารย์และพนักงานที่มีรายได้เกิน 60,000 ดอลาร์ ต่อปี กฎหมายบังคับให้ต้องเปิดเผยรายได้ต่อสาธาณะอย่างชัดเจน นอกเหนือไปจากค่าใช้จ่ายที่อาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยจ่ายในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ค่าการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร เป็นต้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายของผู้บริหารระดับสูง (members of the university's senior staff) มหาวิทยาลัยต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ ก่อนรายงานต่อสาธารณะผ่านช่องทางต่างๆ การรายงานด้านสถานะการเงินต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใสของบุคลากรในมหาวิทยาลัยในอเมริกา สัมพันธ์กับระบบความโปร่งใสด้านบริหารจัดการ (Voluntary System of Accountability –VSA) ตามระบบอเมริกัน ระบบดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว เพื่อแสดงให้สาธารณะเห็นว่าประสิทธิภาพ (performing) ในการบริหารจัดการด้านการศึกษาของในแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร แต่ละมหาวิทยาลัยได้ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องความโปร่งใสเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนทั่วไป นั่นคือระบบที่ทางมหาวิทยาลัยจะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอนต่อสาธารณะแม้กระทั่งวิธีปฏิบัติการ ระบบการเรียนการสอน ผลการเรียนการสอน การประเมินผลการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้ปกครองและประชาชนทั่วมีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกเรียนในสถาบันนั้นๆ การแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของแต่ละสถาบันการศึกษาดังกล่าว ทำให้แต่ละสถาบันการศึกษาแข่งกันพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษา เพราะการเปิดเผยข้อมูลการเรียนการสอน ทำให้สาธารณชนได้รับรู้ข้อมูลภายในของแต่ละสถาบันการศึกษาอย่างละเอียด ประชาชนสามารถเลือกตัดสินใจว่าตนเองหรือบุตรหลานจะเรียนกับสถาบันการศึกษาใดดี ที่จะเหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่ต้องการสถาบันที่มีคุณภาพ ย้อนกลับไปที่เมืองไทย เมื่อมองในแง่ของความโปร่งใสของสถาบันการศึกษาทุกระดับแล้วจะเห็นได้ว่า ข้อมูลและการวางระบบการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาของไทยน้อยมากที่ถูกเปิดเผยออกสู่สาธารณะด้วยความเชื่อที่ว่าอย่างไรเสียครูอาจารย์ย่อมไม่มีวันโกง การออกแบบและวางระบบการศึกษาสัมพันธ์กับความเชื่อและค่านิยม มากกว่าการวางระบบให้เป็นกลางๆ เพื่อให้ง่ายในการตรวจสอบจากสาธารณะ จากฐานความคิด ฐานันดรแบบเดิมๆ ที่คิดว่ามหาวิทยาลัย เป็นสถาบันของปัญญาชนผู้เป็นสุจริตชน การวางระบบการตรวจสอบโดยสาธารณะเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาจึงยังไม่เกิด