เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ธนาคารน้ำใต้ดินน่าจะเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับเมืองไทยวันนี้ ที่ฝนมากก็ท่วม ฝนน้อยก็แล้ง โดยที่ฝ่ายนโยบายก็คิดหาแต่เมกะโปรเจคต์หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งๆ ที่แนวคิดนี้ หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญได้ริเริ่มมา 20 กว่าปีแล้ว โดยประยุกต์จากตัวอย่างที่ท่านได้เห็นที่สหรัฐอเมริกา หลายปีที่ผ่านมา สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ ชื่อที่ตั้งตามสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ เป็นแกนนำในการทำธนาคารน้ำโดยเฉพาะที่ภาคอีสาน และแพร่หลายไปทั่วประเทศ ได้ผลดีเป็นที่ประจักษ์ แก้ได้ทั้งแล้งและท่วม มีคลิปวิดิโอทางยูทูปมากมาย ที่ให้ทั้งแรงบันดาลใจและเทคนิกวิธีการ ชื่อ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” คงต้องยกเครดิตให้ “สองสหาย” ที่กลายเป็นอาจารย์ใหญ่เรื่องนี้ไปแล้ว คือ อาจารย์โกวิทย์ ดอกไม้ อดีตครูโรงเรียนน้ำยืนวิทยา และคุณชาตรี ศรีวิชาฐา นายกอบต.เก่าขาม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลฯ ซึ่งเป็นผู้คิดชื่อนี้ ได้เรียนรู้ในฐานะศิษย์ของหลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดอาฮง ศิลาวาส ตำบลไคสี จังหวัดบึงกาฬ และเครดิตให้บรรดาลูกศิษย์และคณะทำงานในสถาบันน้ำแห่งนี้ ที่เรียกว่าธนาคาร เพราะใต้ดินมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เหมือนธนาคารน้ำ เราเจาะบาดาลสูบน้ำมาใช้โดยไม่เคยเติมลงไป เหมือนถอนเงินจากธนาคารโดยไม่เคยออม ไม่เคยสะสม น้ำก็หมด ถูกน้ำเค็มดันขึ้นมา ทำให้ได้น้ำเค็ม น้ำกร่อย และพื้นดินก็เต็มไปด้วยเกลือ ทำการเกษตรลำบาก วิธีการในการเติมน้ำลงไปใน “ธนาคารใต้ดิน” คือ การทำบ่อปิดและบ่อเปิด การทำบ่อปิดทำได้หลายแบบหลายขนาด เช่น การขุดบ่อเล็กๆ กว้าง 80 ซ.ม. ลึก 1.20 ม. เอาท่อพีวีซี เสียบไว้ตรงกลาง เอายางรถยนต์ลงไปพร้อมกับเศษวัสดุต่างๆ ขวดพลาสติกใส่น้ำส่วนหนึ่ง ตามตัวอย่างคลิปในยูทูป บ่อเล็กๆ นี้จะเป็นที่รับน้ำให้ไหลลงไปในดิน ซึ่งระบายอากาศผ่านทางท่อพีวีซี น้ำไหลมาก็ลงไปใต้ดินได้สะดวก ถ้าไม่มีบ่อปิดเช่นนี้หลายๆ บ่อ น้ำก็จะท่วม เพราะไหลลงไปในดินไม่ได้ ฝนตกที่ภาคอีสานมากถึงปีละ 1,400 มิลลิเมตร จึงทั้งท่วมทั้งแล้ง เพราะไม่มีการเก็บน้ำไว้ใต้ดิน ซึ่งจะต้องทำพร้อมกับบ่อเปิด คือการขุดสระหน้ากว้าง แต่เจาะ “สะดือสระ” ให้ลึกลงไป 7-12 เมตร แล้วแต่พื้นที่ ให้เลยดินอ่อน ดินเหนียวไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำ การทำบ่อเปิดทำได้หลายแบบ อาจไม่เป็นสระใหญ่ก็ได้ เป็นเพียง “บาราย” ขนาดเล็ก คล้ายกับที่ “ขอมโบราณ” ทำไว้ตามปราสาทต่างๆ ที่ยังเหลือให้เห็นและมีน้ำมาเป็นพันปี โดยวิธีคิดเดียวกันนี้ ที่ทำให้คนอีสานหลายพื้นที่ทำ “บาราย” มีน้ำใสเย็นสะอาดจนดื่มได้ ใช้ทำสวนทำนาได้ ที่อุบลฯ ดูงานที่อบต.เก่าขาม ตำบลน้ำยืน ซึ่งมีฐานเรียนรู้อยู่หลายฐาน จะเห็นว่า แต่ละครัวเรือนจะทำหนึ่งบ้านหนึ่งบ่อ มีแผนมีผังทั้งหมู่บ้านทั้งตำบล มีรายละเอียดและตัวอย่างให้ดูว่า น้ำใช้แล้วในบ้าน ล้างถ้วยชามในครัว น้ำทิ้งทั้งหลาย น้ำฝนจากหลังคาบ้านลงไปใต้ดิน และเข้าสู่กระบวนการธนาคารน้ำได้ ที่น่าสนใจ คือ แนวคิดและโมเดลการจัดการบนฐานของ “เครือข่าย” น้ำใต้ดิน ที่มีสายน้ำสัมพันธ์กันเป็นสิบเป็นร้อยตารางกิโลเมตร โยงสระน้ำเปิดและปิดทั้งหมดไปถึงห้วยหนองธรรมชาติและแม่น้ำอย่างมีหลักวิชา และอาศัยกูเกิ้ลเอิร์ธช่วยในการวางแนวในการทำบ่อปิดและเปิดให้สัมพันธ์กันทั้งพื้นที่ อย่างที่ทั้งตำบลเก่าขาม นายกชาตรีบอกว่ามีอยู่ 53 บ่อ ไม่มีปัญหาน้ำท่วมหรือแล้งอีกเลย ที่อบต.วังหามแห อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร มีปัญหาท่วมและแล้งมานาน เมื่อทำธนาคารน้ำใต้ดินแล้ว ชาวบ้านเลิกทะเลาะแย่งน้ำกัน จากที่ปลูกมะละกอเพียง 100-200 ไร่ เพิ่มขึ้นวันนี้ถึง 5,000 กว่าไร่ และปลูกพืชผักผลไม้ได้สารพัดอย่าง เพราะมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อยู่ไม่ไกลจากหนองหาร หน้าฝนน้ำท่วมทุกปี เพราะระบายไม่ทัน การทำธนาคารน้ำใต้ดินโดยการขุดทางระบายน้ำตามถนนและถมด้วยหินบด แทนที่จะฝังท่อระบายน้ำ เป็นวิธีการที่แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้ำไม่ท่วมไม่ขังในหมู่บ้านอีกเลย นายกทบต.เชียงเครือบอกว่า ถ้าขุดถนนฝังท่อระบายน้ำจะต้องลงทุนเมตรละ 1,300 บาท ถ้าทำร่องระบายน้ำแบบปิดตามวิธีธนาคารน้ำใต้ดิน จะลงทุนเพียงเมตรละ 300 บาท ประหยัดได้ 1,000 บาท และได้ผลดีกว่ามาก เพราะจะไม่มีน้ำท่วม น้ำขัง น้ำเน่า หมักหมมเชื้อโรคและไม่มียุง ร่องน้ำปิดเช่นนี้กลมกลืนกับพื้นถนน จอดรถก็ได้ ไม่ต้องใช้ปูนใช้เหล็กครอบ ไม่กลัวคนขโมยเหล็กไปขาย จากประสบการณ์ของชุมชนทั่วประเทศวันนี้จึงน่าจะสรุปได้ว่า ธนาคารน้ำใต้ดินแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งได้ แก้ปัญหาน้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำเป็นสนิมได้ ถ้าหากติดตามผลงานของชุมชนในการทำธนาคารน้ำ จะเห็นความคิดสร้างสรรค์มากมาย เป็นข้อพิสูจน์ว่า เมื่อชาวบ้านมีอิสระ ไม่ถูกครอบงำ พวกเขาจะคิดได้ร้อยแปดอย่าง เหมือนงัดเอาหินที่ทับหญ้าออก เมื่อดินหญ้าได้ฝนได้แดด หญ้าก็งอกงาม เหมือนความคิดดีๆ ของชาวบ้าน วันนี้ชีวิตกำลังกลับคืนสู่ผืนดินอีสานและแผ่นดินไทย ถ้ารัฐบาลเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาน้ำท่วมฝนแล้งนี้ ก็ควรส่งเสริมด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ พร้อมกับการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทำอย่าง “บูรณาการ” ตามศาสตร์พระราชาที่สอนว่า “น้ำคือชีวิต” โดยไม่เพียงแต่ให้ขุดสระ แต่ให้ปลูกต้นไม้มากๆ ไปพร้อมกัน เพราะรากไม้จะอุ้มน้ำ ต้นไม้หลายล้านต้นจะเป็นธนาคารน้ำที่ใหญ่ที่สุด ได้น้ำ ได้อากาศ ได้สิ่งแวดล้อมที่ดี