ความคืบหน้าดารจัดสร้างพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วันนี้ (23 ก.พ.60) ที่บริเวณท้องสนามหลวงฝั่งทิศใต้ นายอารักษ์ สังหิตกุล อดีตอธิบดีกรมศิลปากร วิศวกรที่ปรึกษาวิศวกรรมด้านโครงสร้างพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย นายเจษฎา ชีวะวิชวาลกุล หัวหน้ากลุ่มงานวิศวกรรม สำนักสถาปัตยกรรม ลงพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมในการเตรียมแผนสำหรับรองรับการทดลองยกเสาเอกต้นแรกในวันที่ 24 ก.พ.นี้ ก่อนเตรียมการสำหรับพิธีบวงสรวงยกเสาเอกพระเมรุมาศจริงในวันที่ 27 ก.พ. ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีดังกล่าว นายเจษฎา กล่าวว่า การทดสอบการติดตั้งฐานโครงสร้างเป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่พบปัญหาใดๆ โดยหลังจากนี้โรงงานจะทยอยส่งเสาอีก 3 เสามาให้จนครบภายในวัน 25 ก.พ. และด้วยเพราะโครงสร้างทั้งหมดเป็นเหล็กรูปแบบสถาปัตยกรรมทรงเสาสอบจึงเอียงเข้าหาศูนย์กลางจึงต้องเร่งประกอบให้แล้วเสร็จพร้อมกันทั้ง 4 ต้น และต้องมีโครงสร้างช่วยยึดเพื่อป้องกันเสาเซ ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการลงเสาเอกได้มีการเทฐานรากรองรับแล้วทั้ง 9 จุด แบ่งเป็น หอเปลื้อง 4 จุด ซ่างหรือลำส้าง 4 จุด และฐานรากบุษบกอีก 1 จุด อย่างไรก็ตาม คาดว่าโครงสร้างพระเมรุมาศจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย. จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม “ทั้งนี้ในส่วนความสูงของพระเมรุมาศตั้งแต่ฐานรากจนถึงยอดฉัตรนั้นจะอยู่ที่ 50.49 เมตร ดังนั้นการออกแบบสำหรับการรองรับบริเวณยอดฉัตร จึงคำนึงถึงการรองรับการต้านแรงลมในระดับสูงสุดที่ 160 กม./ตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นไปตามค่าเฉลี่ยการต้านแรงลมที่สูงสุดตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารของกทม. จึงมั่นใจในการวางระบบฐานโครงสร้างว่ามีความมั่นคงสามารถต้านทานแรงลมได้แน่นอน อีกทั้งในขั้นตอนการวางระบบนั้นยังได้จัดทำโมเดลตัวอย่างในคอมพิวเตอร์ในทุกๆ ด้านด้วย” นายเจษฎา กล่าว