"เพาะช่าง"ปั้นประติมากรรมช้าง10ตระกูลประดับสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ-ยึดตามตำราคชลักษณ์เริ่มจากตระกูลชาติพรหมพงศ์-ขึ้นโครงสร้าง'พญาฉัททันต์'คาดส่งต้นแบบ 20 ตัวให้กรมศิลป์ตรวจสิ้นเดือนนี้ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 60 นายประสิทธิ เอมทิม หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย ภาควิชาศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า กรมศิลปากรได้มอบหมายให้วิทยาลัยเพาะช่างเป็นผู้รับผิดชอบการปั้นประติมากรรมช้าง 10 ตระกูล ประจำทิศทั้ง 4 เพื่อประดับภายในสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศที่จำลองเป็นป่าหิมพานต์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะนี้ได้ออกแบบลายเส้นประติมากรรมช้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยกรมศิลปากรให้ยึดรูปช้างตามคติโบราณในตำราคชลักษณ์ เบื้องต้นให้ปั้นจากตระกูลชาติพรหมพงศ์ก่อน นายประสิทธิ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เริ่มขึ้นรูปงานปั้นต้นแบบจำนวน 20 ตัว แต่ละตัวมีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ซึ่งขั้นตอนจัดสร้างต่างจากคณะช่างสิบหมู่ เพราะช่างจะใช้โฟมเป็นวัสดุขึ้นโครงสร้างและเกลาให้เป็นรูปทรงช้าง แล้วพอกดินน้ำมันทับโฟมโครงหุ่น เก็บรายละเอียด จากนั้นจะทำการจัดส่งชิ้นงานให้กรมศิลปากรตรวจสอบว่าช้างตรงตามคชลักษณ์หรือไม่ คาดว่าจะส่งต้นแบบช้างทั้ง 20 ตัว ได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ จากนั้นจะเคลื่อนย้ายชิ้นงานกลับมาวิทยาลัยเพาะช่าง ทำพิมพ์ซิลิโคน เมื่อถอดพิมพ์แล้วจะส่งให้สำนักช่างสิบหมู่เดือนเมษายน เพื่อหล่อชิ้นงานไฟเบอร์กลาส ลงสีช้าง เพื่อสื่อความหมายที่ชัดเจนและน่าสนใจมากขึ้น หน.ประติมากรรมไทย เพาะช่าง กล่าวต่อไปว่า เป็นครั้งแรกที่ทีมเพาะช่างได้ร่วมปฏิบัติงานจัดสร้างงานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ ช้างมงคลถือเป็นช้างคู่บารมีของพระมหากษัตริย์ ขณะนี้ช่างปั้นจำนวน 30 คน ประกอบด้วยทีมอาจารย์และนักศึกษาประติมากรรมไทย 20 คน และทีมศิษย์เก่าเพาะช่างที่มีฝีมือด้านประติมากรรมกำลังทำงานปั้นต้นแบบ 20 ตัวไปพร้อมๆ กัน โดยอิงรูปแบบช้างในตระกูลชาติพรหมพงศ์ มีลักษณะสีต่างกัน ขาว เหลือง เขียว แดง ดำ ม่วง และมีช้างชื่อว่า พญาฉัททันต์ ช่างเริ่มปั้นเป็นชิ้นแรก เพราะเป็นเจ้าแห่งช้างในตระกูลนี้ และมีพละกำลังมากที่สุด ลักษณะพิเศษงาช้างมี 6 งา ช่างจะปั้นให้ดูคล้ายกับงาที่มีประกายรัศมี 6 แฉก อีกช้างหนึ่งชื่อ เอกทันต์ งา 2 ข้างยาวอ้อมเข้ากอดงวง เรียก งาอ้อมจักรวาล “ประติมากรรมช้าง 10 ตระกูลที่ประดับในสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ นอกจากปั้นตามตามตำราคชลักษณ์ จะมีบางส่วนที่ช่างสร้างสรรค์ผสมผสานจินตนาการดูแล้วลักษณะเหนือจริง เช่น มีหัวเป็นช้าง มีปีกแบบนก หรือหัวและตัวท่อนบนเป็นช้าง หางเป็นปลา ช่างทุกคนจะทุ่มเทความสามารถเพื่อให้สัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุสมพระเกียรติที่สุด” หน.ประติมากรรมไทย เพาะช่าง กล่าว