รฦก / วัฒนรักษ์ [email protected] “ราชรถ-ราชยานในงานพระเมรุ” ราชรถเชิญพระบรมศพ ที่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เรียกว่า “พระมหาพิชัยราชรถ” นั้น เท่าที่ปรากฏความเกี่ยวกับการถวายพระเพลิงพระบรมศพครั้งกรุงศรีอยุธยาหลายชื่อ ดังเช่น งานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เรียกว่า “พระมหากฤษฎาธาร” หมายถึง “ราชรถที่ทำขึ้นสำหรับพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่” งานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เรียกว่า “พระบุษบกพิมาน” ก็จะเป็นราชรถที่ประกอบด้วยบุษบกดังราชรถสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ถึงงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชา พระพุทธเจ้าเสือ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และพระอัครมเหสีเรียกว่า “พระมหาพิไชยราชรถ” โดยที่ คำว่า “ไชย” ท่านเขียนด้วยสระไอไม้มลาย มิได้ใช้ “ชอ ไม้หันอากาศ ยอ” “ชัย” ดังสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นความหมายของชื่อราชรถจึงผิดกัน ครั้งกรุงศรีอยุธยาท่านคงหมายถึง “ราชรถอันประเสริฐยิ่ง” ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์เรียก “พระมหาพิชัยราชรถ” มาแต่แรกสร้างราชรถองค์นี้ในรัชกาลที่ 1 ความหมายแห่งชื่อตามศัพท์จึงผิดกับราชรถครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ ต้องหมายถึง “มหาราชรถทรงแห่งผู้ชนะ” เหตุแห่งการพระราชทานชื่อดังกล่าวนั้น ไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงไว้ แต่สันนิษฐานว่า คงเป็นด้วยคติเดิมถือกันว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ป้องกันภัย ทรงเป็นชาตินักรบ ตามความหมายเดิมในภาษาสันสกฤต และตามความหมายของคำว่าขัตติยะในภาษาบาลี ในโอกาสสุดท้ายของการส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย จึงถวายราชรถที่ใหญ่และงดงามวิจิตรให้ทรงและให้นามว่า “มหาพิชัยราชรถ” คือราชรถทรงแห่งพระผู้ชนะนั่นเอง เมื่อได้กล่าวถึงพระมหาพิชัยราชรถแล้วก็น่าจะได้กล่าวถึงราชรถอีกหลังหนึ่ง ที่มีทั้งรูปทรงและขนาดใหญ่ใกล้เคียงกันที่สุด ท่านว่าต่างกันแต่วิจิตรศิลป์ที่จำหลักและการตกแต่งที่องค์ราชรถเพียงเล็กน้อย จนผู้ที่ไม่ช่ำชองในศิลปะลายไทยแทบสังเกตไม่ได้ว่าต่างกันอย่างไร ราชรถองค์ดังกล่าวคือ “เวไชยยันตราชรถ” “เวไชยยันตราชรถ” สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 กล่าวกันมาว่าสร้างขึ้นเพื่ออัญเชิญพระศพสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งโปรดให้ถวายพระเพลิงวันเดียวและพระเมรุเดียวกับพระศพสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ราชรถองค์นี้เมื่อสร้างเสร็จพระราชทานชื่อว่า “เวไชยยันตราชรถ” ในกาลต่อมาได้ใช้ทรงพระศพเจ้านายชั้นสูงที่ถวายพระเพลิง หรือพระราชทานเพลิงที่พระเมรุท้องสนามหลวง และด้วยเหตุที่ใช้บ่อยจึงมีการซ่อมบ่อยทำให้สภาพค่อนข้างดีและมั่นคงกว่าพระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งหลายสิบปีจึงจะใช้อัญเชิญพระบรมศพสักครั้ง ในระยะหลังแม้การใช้เชิญพระบรมศพ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่มั่นใจในความมั่นคงของพระมหาพิชัยราชรถ หรือถ้าการบูรณะให้มั่นคงจะสิ้นเปลืองมาก เจ้าพนักงานก็จะใช้เวไชยยันตราชรถเชิญพระบรมศพแทน โดยเปลี่ยนชื่อเรียกว่าพระมหาพิชัยราชรถ ให้ต้องตามโบราณราชประเพณี เวลาใช้ราชรถองค์นี้เชิญพระศพพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง แต่เดิมก็เรียกว่า “เวไชยยันตราชรถ” ตามชื่อที่รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ แต่ภายหลังตั้งแต่งานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เมื่อ พ.ศ. 2466 จึงได้เปลี่ยนไปเป็น “เวชยันตราชรถ” โดยยังค้นไม่พบเอกสารหลักฐานใดที่แสดงเหตุผลของการเปลี่ยนชื่อราชรถองค์นี้ ส่วนพระยานมาศที่ใช้เชิญพระบรมศพแบบยกเป็นฐานสี่เหลี่ยมสองชั้น จำหลักลวดลายลงรักปิดทอง มีคานสำหรับคนแบกสามคาน คานหนึ่งใช้กำลังคนแบกหน้าหลัง 20 สามคานใช้กำลังคนแบกหน้าหลัง รวม 60 คน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียนไว้ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 2 และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เขียนไว้ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 มีความต้องกันว่า สร้างขึ้นใหม่สำหรับเชิญพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นครั้งแรก ครั้งนั้นเรียกชื่อว่า พระยานุมาศสามลำคาน เท่าที่ได้ค้นหาหลักฐานในหมายกำหนดการงานพระบรมศพและพระศพเจ้านายชั้นสูงตั้งแต่ พ.ศ. 2451 เป็นต้นมา ได้พบว่าเมื่อ พ.ศ. 2463 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เปลี่ยนเรียกว่า “พระยานมาศสามคาน” ต่อจากนั้นมาบางครั้งก็เรียก “พระยานมาศสามลำคาน” ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่กล่าวถึงการพระบรมศพพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏชื่อพระราชยานนี้ ปรากฏแต่ในจดหมายเหตุเรื่อง “สมเด็จพระบรมศพ” เรียกว่า พระยาอนุมาศ และเป็นกี่คานไม่ปรากฏแจ้งแต่จำนวนคนแบกหามว่า 30 คน การเรียกพระยานอนุมาศอย่างกรุงศรีอยุธยาก็ดี พระยานุมาศอย่างที่เรียกมาถึงปีที่ 10 ในรัชกาลที่ 6 ก็ดี ดูจะไม่ค่อยตรงความหมายนัก ดังนั้น การที่เปลี่ยนกลับมาเรียกว่า พระยานมาศสามลำคาน นั้น น่าจะถูกต้องที่สุด คือหมายถึงยานทรงที่นำหรือเชิญโดยใช้คนแบกหามด้วยคานสามลำนั่นเอง ภาพประกอบ : หนังสือ "ราชรถ ราชยาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ" , สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร 2559