จับเข่าคุย “ดิเรก ถึงฝั่ง” วิพากษ์ “ถนนสายปรองดอง” วิจารณ์ “รัฐธรรมนูญฉบับโรคหัวใจรั่ว” เรื่อง : กิตติกร แสงทอง ภาพ : ประเวศ พึ่งแสวงผล “ขั้นตอนการเจรจานั้น จะต้องลดทั้งวิวาทะ ลดอคติ ลดการใส่ร้ายป้ายสีซึ่งกันและกัน ถ้าหากทำไม่ได้ ก็จะย้อนกลับไปสู่วังวนแห่งความขัดแย้งอีก คือไม่สามารถเจรจาได้” ผู้มีอำนาจในประเทศขณะนี้กำลังพูดถึงเรื่องของการสร้างความปรองดองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งมีหลายภาคส่วน หลายกลุ่มในสังคม ที่มีความเห็นทั้งสนับสนุนและตั้งข้อสงสัยว่า การปรองดองในประเทศไทยจะสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่? ดังนั้น “สยามรัฐ” ได้สัมภาษณ์ “ดิเรก ถึงฝั่ง” อดีตประธานกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงเรื่องการสร้างความปรองดอง - มองเรื่องการสร้างความปรองดองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง ผมมองว่าขณะนี้การทำงานของ คสช.ในเรื่องของการสร้างความปรองดอง ถือว่าเขามาถูกทางแล้ว ในแง่ของการเชิญกลุ่มต่างๆเข้ามาพุดคุยกัน ซึ่งแนวทางการเชิญมาต่างฝ่ายมาพูดคุยนั้นถือว่าอยู่ในสิ่งที่คณะกรรมการสมานฉันท์ได้เคยนำเสนอมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นห่วงก็คือผู้ที่เป็นคู่กรณีนั้นไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาคณะกรรมการสมานฉันท์เห็นว่าในขั้นตอนของแนวทางการสร้างความปรองดองนั้นสิ่งที่สำคัญ ในขั้นตอนที่ 1.ก็คือวิธีสร้างความปรองดองซึ่งประกอบไปด้วยการลดวิวาทะระหว่างกลุ่ม ลดอคติ ลดการใส่ร้ายป้ายสี แล้วจึงนำคู่ขัดแย้งมาเข้าสู่กระบวนการการเจรจากัน ภายใต้กติกาที่รัฐบาลได้ร่างขึ้นมา ผ่านการจัดเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลได้จัดทำกติกาขึ้นมาแล้ว คู่กรณีแต่ละฝ่ายเมื่อถูกเชิญให้มาอยู่บนโต๊ะเจรจา เขาจะได้เห็นและจะได้พูดว่าเขาพอใจกับสิ่งที่รัฐบาลได้ร่างขึ้นมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้แต่ละกลุ่มยังจะได้ระบายสิ่งที่มีความคับแค้นใจออกมาด้วย จากนั้นผู้ที่ดำเนินการให้เกิดการเจรจาขึ้น เขาก็จะนำเอาหลักของความเป็นธรรม หลักของกฎหมายเข้ามาจับต้องและดูว่าจุดร่วมของแต่ละกลุ่มนั้นคืออะไร เพื่อจะทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ระหว่างกลุ่มต่อไป ผมมองว่าขั้นตอนเจรจานี้นั้นจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าหากไม่เจรจา แล้วรัฐบาลให้กติกาแล้วสั่งให้นำไปปฏิบัติเลย แต่ละกลุ่มก็คงจะปฏิบัติตามไม่ได้ ซึ่งก็เป็นห่วงว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้นจะได้เข้าร่วมแสดงออกอย่างเต็มที่หรือไม่ ขั้นตอนการเจรจานั้น จะต้องลดทั้งวิวาทะ ลดอคติ ลดการใส่ร้ายป้ายสีซึ่งกันและกัน ถ้าหากทำไม่ได้ ก็จะย้อนกลับไปสู่วังวนแห่งความขัดแย้งอีก คือไม่สามารถเจรจาได้ เหมือนดังที่เกิดกรณีระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์กับ คุณเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการ(กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีประเด็นพิพาทกันเรื่องการที่ กมธฯสปท.ออกมาให้ข่าวเรื่องความปรองดอง เพราะเขาไม่ยอมลดวิวาทะ ลดอคติกัน แต่กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นความขัดแย้งกัน ถือว่าเป็นเรื่องปกติ สปท.เขาทำงานก็อยากจะให้ข่าว ก็เป็นสิทธิ์ของเขา ถ้าหากเรื่องไหนมีปัญหาก็ออกมาแก้ข่าวกันไป ในทางกลับกันทางคนของพรรคประชาธิปัตย์เองก็เร็วเกินไป ที่ออกมาวิจารณ์ทาง สปท. - กรณีที่กลุ่ม กปปส. และกลุ่ม นปช.เข้ามาพบกับคณะกรรมการสร้างความปรองดอง เพื่อให้ข้อมูลถือเป็นสัญญาณที่ดีหรือไม่ ผมมองว่าการที่ทั้งสองกลุ่มเข้ามาพบกับคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) นี้ ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีเพราะทั้งกลุ่ม กปปส.และกลุ่ม นปช. เขาต่างก็เห็นว่าต้องมีการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าจุดร่วมของแต่ละฝ่ายที่จะกลายเป็นเอ็มโอยูนั้นจะอยู่ในประเด็นอะไรบ้าง และเรื่องอะไรที่เขาเป็นเห็นต่างกันตรงนี้ต้องมีการพูดคุยกัน - คิดอย่างไรกับคำว่าทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ผมไม่อยากให้เขาเป็นคู่ขัดแย้งด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เวลานี้เขากลับถูกกล่าวหาว่าเป็นอีกหนึ่งคู่ขัดแย้ง ฉะนั้นทหารก็ควรจะต้องไม่ทำตัวให้เป็นคู่ขัดแย้ง เป็นกลาง ไม่เข้ากับข้างใดข้างหนึ่งด้วย ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะเป็นแบบนั้นหรือไม่ -ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งการเมืองไทยที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนว่าฝ่ายคู่ขัดแย้งจะมีจุดร่วมเหมือนกัน อาทิกลุ่ม กปปส.กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นว่าต้องมีการปฏิรูป แต่ยังไม่เคยมีการคุยกันเลย หากย้อนไปสมัย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสมานฉันทน์ฯที่ถูกตั้งขึ้นในสมัยเดียวกัน และผมก็เป็นประธานที่ปรึกษาในตอนนั้นก็เคยส่งเอกสารนำเรียนไปถึง คุณอภิสิทธิ์ ในขณะนั้นว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นจะต้องมาจากการเจรจากันให้ตกผลึกไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการนิรโทษกรรม เพราะถ้าหากนิรโทษกรรม โดยไม่ได้มาพูดคุยกัน ปัญหาก็คงยังไม่จบ ย้อนไปในสมัยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ที่มี อเนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ผมเคยเป็นประธานที่ปรึกษา ก็ได้พูดชัดเจนว่าถ้าหากจะคุยเรื่องปรองดอง อย่าเริ่มต้นด้วยนิรโทษกรรม เพราะจะคุยกันไม่จบ ฝั่งหนึ่งถูกกระทำ ฝั่งหนึ่งเป็นผู้กระทำ ฝั่งที่ถูกกระทำก็จะตั้งคำถามว่านิรโทษกรรมแล้วจะได้อะไรขึ้นมา เพราะพวกเขาตายไปตั้งเยอะแยะ ดังนั้นสรุปว่าถ้าชูเรื่องนิรโทษกรรมขึ้นมาก่อนจะทำให้เกิดปัญหาทันทีเพราะ 2 ฝ่ายจะมีความพึงพอใจที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องมีการเจรจากันก่อน แล้วถึงจะตามมาด้วยการให้อภัยกัน ส่วนจะอภัยแค่ไหนนั้น ก็ควรจะให้อภัยให้กับชาวบ้านตาดำๆที่เข้ามาชุมนุมก่อน แล้วจึงมาว่าการออกฎหมายนิรโทษกรรมตามกรอบที่แต่ละฝ่ายได้ให้ข้อตกลงร่วมกัน ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผมก็ออกมาพูดโดยตลอดว่าอย่าไปนิรโทษกรรมแบบสุดซอย เอาแค่นิรโทษกรรมแบบที่ วรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เสนอมาก็เพียงพอแล้ว แต่พอเปลี่ยนมาเป็นการนิรโทษกรรมแบบสุดซอย ผมก็เตือนว่ามันจะเรียกแขก แล้วมันก็เรียกแขกจริงๆ - นอกเหนือจากปัจจัยการสร้างความปรองดองที่กล่าวมาแล้ว อะไรจะเป็นอุปสรรคการสร้างความปรองดอง อุปสรรคอย่างที่ 1.ก็คือที่ผ่านมาเราไม่เริ่มทำการเจรจากัน 2.ไม่ได้มีกลุ่มของผู้ที่เป็นคู่ขัดแย้งอยู่ในกลุ่มของกรรมการที่จะมาเจรจากัน ซึ่งผมรอให้ถึงเวลานั้น แต่มันก็ไม่มาถึงเสียที 3. ในการเจรจากัน จะต้องพูดถึงปัญหาที่เป็นปัญหาดั้งเดิมที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งมาพูดถึงกัน ซึ่งปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องของรัฐธรรมนูญปี 2550 ในสมัยที่ คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ก็มีการหาเสียงว่าเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วจะแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ให้เป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้อง แต่พอคุณสมัคร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้แค่ไม่นานก็เกิดกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาต่อต้าน ออกมาขับไล่ หลังจากที่เอาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญออกมาพูดถึง ซึ่งตรงนี้ทางคณะกรรมการฯก็มองว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นเป็นปัญหาอย่างหนึ่งเช่นกัน จึงได้มีการเสนอเรื่องนี้ไปยังรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ ด้วย เพราะฉะนั้นในวันนี้มีการเจรจากันในคณะกรรมการ ป.ย.ป. นอกเหนือจากการสร้างความปรองดองแล้ว ผมก็อยากจะให้เจรจาโดยพูดไปถึงเรื่องกรอบการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศด้วยว่า เมื่อเราจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว เราจะต้องทำให้ระบบการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ จะต้องพัฒนาคน พัฒนาลูกหลานให้มีความรู้เรื่องประชาธิปไตยในหลักการที่ถูกต้อง จากนั้นก็ต้องปฏิรูประบบราชการด้วย ในหลายหน่วยงาน เพราะเรามีปัญหาเรื่องการทุจริต ซึ่งที่มาของการทุจริตนั้นไม่ได้มาจากวงการการเมืองอย่างเดียว แต่ในระบบราชการก็มีการทุจริตเกิดขึ้นด้วยไม่ใช่น้อย ต่อมาก็ต้องปฏิรูปในด้านของกระบวนการยุติธรรมด้วย ซึ่งกระบวนการยุติธรรมนั้นแทรกอยู่ในทั้งเรื่องระบบราชการและระบบการเมือง และอีกส่วนหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งต้องมีการปูพื้นฐานให้กับประชาชนรุ่นหลังให้รู้จักวัฒธรรมประชาธิปไตยที่เหมาะสม และก็ยอมรับในกติกาของบ้านเมืองด้วย เพื่อไม่ให้กลับมาสู่วังวนความขัดแย้งอีกครั้งหนึ่ง - การปฏิรูปที่พูดมานั้น จะใช้เวลาเท่าไร อะไรสามารถปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งได้ ข้อเสนอของผมคือทั้งการดำเนินการปฏิรูประบบราชการและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ว่ามานั้นสามารถดำเนินการไปพร้อมกับวิธีการเจรจาเพื่อสร้างความปรองดองได้เลย และก็ไม่ใช่สิ่งที่จะใช้เวลายาวนานเลย ในการทำให้เสร็จ เพราะถ้าเปิดการเจรจากันอย่างจริงใจ ผมว่าไม่เกิน 3 เดือนเสร็จ เพราะประเด็นหลักๆจริงๆมีไม่กี่ประเด็น ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ผมขอพูดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าหากเปรียบเทียบว่าเป็นคน ก็ถือว่าเป็นคนที่ดูดีดูสวยไปหมด แต่กลับมีปัญหาอยู่แค่จุดเดียว ก็คือตรงที่หัวใจ ซึ่งเป็นโรคหัวใจรั่ว ซึ่งคนเป็นโรคหัวใจรั่วนั้นจะตายเร็ว หัวใจของรัฐธรรมนูญก็คืออะไร ก็คือเรื่องของอำนาจ อำนาจนั้นต้องมาจากประชาชน ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมไปถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้พูดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมีปัญหาในส่วนเรื่องของที่มาของอำนาจอยู่ ซึ่งต้องแก้ไข โดยเฉพาะในส่วนของ ส.ว.ในระยะเปลี่ยนผ่านที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งมีระยะเวลาถึง 5 ปี ส่วนเรื่องจะทำก่อนเลือกตั้งหรือหลังเลือกตั้งนั้น ผมคิดว่ากระบวนการทั้งหมดสามารถทำก่อนก่อนเลือกตั้งได้เลย และทำไปได้เลยโดยพร้อมกัน แต่ว่ากระบวนการว่าด้วยการปฏิรูป และการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นสามารถจะทำหลังจากการเลือกตั้งได้หรือจะก่อนก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมคิดว่าอย่างไรต้องทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งก็คือกระบวนการว่าด้วยวิธีการสร้างความปรองดอง และการเจรจา ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าเราเสียเวลาหาข้อมูลเพื่อสร้างความปรองดองเยอะเกินไปด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมาก็มีการหาข้อมูลไว้อยู่แล้ว สามารถนำมาใช้ต่อได้เลย แต่ที่มันไม่สามารถดำเนินการไปได้ เพราะว่าไม่มีการเจรจากันเกิดขึ้น ทั้งนี้พอเสร็จสิ้นจากการเจรจาร่วมกันแล้ว รัฐบาลก็จะสามารถจัดทำเอ็มโอยูเพื่อนำไปสู่ความปรองดองต่อไปได้ หลังจากนั้นพอเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ก็ยอมรับในเสียงเลือกตั้งนั้นและให้เขาบริหารประเทศต่อไป ถ้าเขาบริหารไม่ดี ประชาชนก็ลงโทษเอง เลือกตั้งใหม่เขาก็ไม่เลือกกลับเข้ามาแล้ว นี่คือกลไกสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตยที่สำคัญ และทุกฝ่ายจะต้องยอมรับผลของการเลือกตั้งและยอมรับกติกานั้นด้วย ซึ่งสิ่งที่ผมพูดอาจจะไปคล้ายกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) แต่นี่ก็คือหลักของประชาธิปไตยสำคัญที่เป็นสากลทั่วโลก ซึ่งผมก็ยอมรับว่าบางอย่างนายสุเทพ นั้นพูดถูก - แต่เรื่องการแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นถือว่าแก้ไขได้ยากมาก ผมคิดว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมีการพูดคุยกันจากทุกฝ่าย และทำคำมั่นกันว่าจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้มีที่มาของอำนาจมาจากประชาชน อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ทำคำมั่นว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามาเมื่อเขาแก้รัฐธรรมนูญแล้ว จะไม่มีการออกมาเดินขบวนกันอีก ผมคิดว่าถ้าทำแบบนี้ ร่างรัฐธรรมนูญแม้ว่าจะแก้ยาก แต่ก็แก้ไขได้ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดในโลกที่แก้ไม่ได้ เช่นสหรัฐอเมริกาเขามีรัฐธรรมนูญแค่ฉบับเดียว แต่เขาก็แก้ไขกันมา 30 กว่าครั้งแล้ว - ขณะนี้มีการไล่ดำเนินคดีนักการเมืองหลายคดี จะส่งผลต่อการสร้างความปรองดองหรือไม่ ถ้าหากไล่ดำเนินคดีในส่วนของคดีอาญา ในส่วนที่เป็นความผิดซึ่งๆหน้า ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นปัญหา แต่เวลานี้มันมีเรื่องการไปไล่เก็บภาษีกรณีหุ้นชินคอร์ป ที่ถูกคนวิพากษ์จารย์ว่าอยู่มาตั้งนานแล้วทำไมไม่ทำ ทำไมจึงมาทำตอนนี้ ทำตอนนี้ก็กระทบกับเรื่องการสร้างความปรองดอง ในส่วนตัวผมนั้น ผมเห็นว่าหากทำตามวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่มีอคติ ตรงนี้คงไม่เกิดปัญหากระทบกับความปรองดอง แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากทำโดยมีอคติ คงจะกระทบกับความปรองดอง เพราะว่าเวลาที่มีการเจรจา จะมีการเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพูดบนโต๊ะเจรจาด้วย และผมก็ไม่อยากให้นำเอากฎหมายพิเศษรวมไปถึงมาตรา 44 มาใช้ดำเนินการในกรณีนี้ เพราะถ้าใช้เป็นกฎหมายพิเศษเมื่อไหร่ ผู้ที่เฝ้าดูอยู่เขาจะมองได้ว่าเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อความปรองดองด้วย ตามคำว่าถ้าความเป็นธรรมไม่มี ความสามัคคีในชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้ - แล้วกระบวนการที่ว่านั้น ถ้าหากดำเนินการล่าช้าจะส่งผลต่อประเทศตั้งแต่ระดับประชาชนอย่างไร ผมขอย้อนไปพูดถึงปัจจัยของมนุษย์ก่อน มนุษย์ทุกคนนั้นมีสิ่งที่ต้องการก็คือความมีอิสรภาพ และความอยู่ดีกินดี ไม่ว่าจะอยู่ในการปกครองรูปแบบใด มนุษย์ก็ต้องการในสิ่งเหล่านี้ ถ้าหากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็พอประคับประคองให้ปกครองประเทศไปได้อยู่ แต่ถ้าหากขาด 2 อย่างพร้อมกัน รับรองว่ากลียุคจะเกิดขึ้นแน่ ที่ผมเป็นห่วงในตอนนี้ก็คือไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลจะขับเคลื่อน ซึ่ง 4.0 คืออะไร มันคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลก ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะเป็นการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว อาทิโทรศัพท์มือถือที่สมัยก่อนเราไม่มี มีแค่โทรเลข โทรศัพท์บ้าน แต่ตอนนี้เรามีมือถือสมาร์ตโฟนที่สามารถถ่ายรูปได้ ทำได้หลายอย่าง นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง ยังมีตัวอย่างอื่นๆอีก อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม แต่ก่อนก็ใช้คน ซึ่งก็มีปัจจัยเรื่องคน บางทีคนก็ขี้เกียจ ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าส่งตามต้องการได้ ในตอนนี้ก็มีการคิดค้นให้ใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์ ให้ทำได้ทุกอย่าง ซึ่งการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีนี้จะส่งผลกับประเทศไทยหมดทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมและความมั่นคง ในตอนนี้โลกเขารู้แล้วว่าการปกครองแบบอิสรภาพเสรีคือระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่สามารถจะสร้างเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นทั่วโลกก็จะต่อต้าน ประเทศที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการ ดังจะเห็นได้จากการรัฐประหารในครั้งหลังนั้น เราถูกทั่วโลกเข้ามาต่อต้านเรา ทำให้กระทบกับเศรษฐกิจด้วย เพราะว่ารายได้จากรัฐทั้งหมดที่นำมาบริหารประเทศ มาจากภาษีร้อยละ 75 และอีกร้อยละ 25 มาจากการค้าขายกับประชาชนอีกร้อยละ 20 และอีกร้อยละ 5 มาจากการบริจาค ซึ่งคงจะน้อยลงอีกเพราะประชาชนไม่มีเงิน ถามว่าภาษีนั้นจะมาได้จากใคร ภาษีก็ได้จากภาคเอกชน ก็คือได้จากประชาชนนั่นเอง ถ้าเปรียบโครงสร้างเศรษฐกิจ รัฐบาลก็คือส่วนหัว ระบบราชการคือโครงกระดูก เอกชนคือกล้ามเนื้อ ในตอนนี้เราเป็นอย่างไร ในตอนนี้การส่งออกของเราก็ติดลบ ส่งออกไม่ได้ ระบบราชการก็ยังมีความล่าช้า กฎหมายช้า มีระบบใต้โต๊ะ ไม่เหมาะกับการทำธุรกิจ ก็สร้างกล้ามเนื้อไม่ได้ ครั้นพอจะกู้เงิน ก็คงกู้กันไม่จบไม่สิ้น แล้วพอสร้างกล้ามเนื้อไม่ได้ ประเทศนี้ก็จะผอมแห้ง มีแต่กระดูกเท่านั้น ถ้าผอมแห้ง ประเทศนี้ก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้นหัวก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะทำให้เรามีกล้ามเป็นมัดๆ สามารถอยู่ได้ ดังนั้นจึงต้องปรับระบบราชการให้เอื้อกับระบบธุรกิจ และต้องคิดว่าเมื่อโลกมันกระทบกับเราในเรื่องการเมือง ก็ต้องมาคิดว่าจะปรับตัวอย่างไรเข้าหาในสิ่งที่โลกเขาไม่ต่อต้านเรา เราก็ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด เพื่อโลกจะได้ไม่มาต่อต้านเรา เราจะได้ทำมาค้าขายได้ “ รัฐบาลที่เป็นส่วนหัวเองก็ต้องทำหน้าที่ ตาจะต้องมองให้ไกล หูก็จะต้องรับฟังในสิ่งที่นานาประเทศเขาวิจารณ์เรา และปากก็ต้องพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศไม่ให้เขามาต่อว่าเราได้ ขอเรียนว่าในปัจจุบันนั้นโลกเราไม่ยอมรับระบอบเผด็จการอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม ดังนั้นเราจึงควรก้าวสู่กระบวนการให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด”