นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่พบปะประชาชน จ.นครพนม ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และกิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเนินน้ำคำ ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร วันนี้ (27 มี.ค.60) เวลา 07.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี อาทิ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี (กำกับเขตตรวจราชการจังหวัดนครพนม) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตลอดจน พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และพลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานนครพนม ตำบลโพธิ์ตาก อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยเครื่องบิน บ.ล.15 ก. (Airbus ACJ320) เพื่อตรวจราชการจังหวัดนครพนม พร้อมพบปะและรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน รวมทั้งหารือกับภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยเฉพาะการพัฒนาการเกษตรและอาหาร การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริหารจัดการน้ำ ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน การตรวจเยี่ยมติดตามและผลักดันนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนมอย่างยั่งยืน เมื่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เดินทางถึงท่าอากาศยานนครพนม ได้เดินทางไปต่อยังโรงเรียนบ้านนาโดนใหม่ ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ ข้าราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มพลังมวลชนจังหวัดนครพนม จำนวน 3,000 คน รวมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล บ้านสวย เมืองสุข และกิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเนินน้ำคำ ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร ประกอบด้วย การนำเสนอการดำเนินชีวิตหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ได้แก่ การทอผ้า การสาธิตการทำขนมจีน ผลิตภัณฑ์ไหมพรม ข้อมูลของคณะกรรมการหมู่บ้าน และผลงานคณะกรรมการหมู่บ้าน โล่รางวัล ประกาศนียบัตรต่าง ๆ การแสดงผลิตผลทางการเกษตรของเกษตรกร เช่น ข้าวอินทรีย์ ไรซ์เบอรี่ พืชผักสวนครัว ฯลฯ โครงการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ "ร่วมสร้างสังคมสูงวัยน่าอยู่...เพื่อคนทุกวัย" การส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่จังหวัดนครพนม เป็นต้น พร้อมรับชมการแสดงชุดรำพื้นเมือง จากนักเรียนโรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล รวมถึงนายกรัฐมนตรี ได้ปลูกต้นกันเกราซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนครพนมไว้เป็นที่ระลึกด้วย โดยมี นายสมชาย วิทย์ดำรง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครพนม ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ทั้งนี้ บ้านเนินน้ำคำ ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร ถือเป็นหมู่บ้านที่มีการพัฒนาจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์และได้รับรางวัลต่าง ๆ เช่น โล่พระราชทานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ปี 2556 หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ดีเด่นระดับอำเภอ ปี 2555 โรงเรียนศูนย์เรียนรู้ทางไกลเศรษฐกิจพอเพียง หลักสูตรการดำเนินชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ระยะเวลา 35 สัปดาห์ ตามโครงการพัฒนาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (เริ่มดำเนินการ สิงหาคม 2557) และโรงเรียนผู้สูงอายุนครพนม 6 (ของสำนักงาน พม จ.นครพนม) โดยมีวิสัยทัศน์ของหมู่บ้าน คือ “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เคียงคู่เกษตรอินทรีย์ มากมี OTOP” ​พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้กล่าวรายงานว่า จังหวัดนครพนม มีจุดแข็ง 3 ด้าน คือ 1) การเป็นเมืองหน้าด่านในการเดินทางไปยังลาว เวียดนาม และจีน 2) เป็นเมืองที่มีสภาพภูมิประเทศอุดมสมบูรณ์ ภัยพิบัติต่าง ๆ มีน้อยมากเมื่อเทียบกับจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออื่นๆ 3) เป็นเมืองที่มีแหล่งสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างมาก เช่น พระธาตุพนม พระธาตุประจำวันเกิด และมีวัฒนธรรมชนเผ่าที่เข้มแข็ง อาทิ ชนเผ่าผู้ไทยเรณูนคร สำหรับผลงานของจังหวัดที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเฉพาะที่สำคัญ ๆ เช่น 1) การบริหารงบประมาณตามโครงการสำคัญของรัฐบาล ได้แก่ โครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) จำนวน 1,880 โครงการ งบประมาณ 483,771,680.23 บาท และโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ หมู่บ้านละ 250,000 บาท จำนวน 1,200 โครงการ งบประมาณ 282,000,000 บาท สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ 100% ทั้ง 2 โครงการ ประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า 200,000 ครัวเรือน 2) การส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ข้าวหอมมะลิ จำนวน 15 แปลง พื้นที่ 36,000 ไร่ และมีข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลข้าวหอมมะลิอินทรีย์ (EU) 3) การส่งเสริมการท่องเที่ยว กำหนดแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนในเป้าหมายทิศทางเดียวกัน คือ การรักษาความเป็นเมืองน่าอยู่นำไปสู่เมืองแห่งความสุข ตามสโลแกน "นครพนม ชม 3 ที่สุด" คือ (1) ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด: พระธาตุพนม (2) สวยที่สุด: สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม - คำม่วน) (3) งามที่สุด: ทิวทัศน์ริมฝั่งโขง อันจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนชาวนครพนมได้โดยตรง 4) การบริหารจัดการน้ำ จังหวัดนครพนมมีลุ่มน้ำสำคัญ คือ แม่น้ำโขงยาว 174 กิโลเมตร มีลุ่มน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขง คือ ลุ่มน้ำสงคราม ลุ่มน้ำยาม ลุ่มน้ำก่ำ ในเขตชลประทานเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำโขง โดยโครงการขุดลอกเพิ่มพื้นที่แก้มลิงและขนมครกต่าง ๆ อีกจำนวนมาก นอกเขตชลประทานเพิ่มการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพและเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การขุดเจาะบ่อบาดาล การใช้พืชน้ำน้อย เป็นต้น 5) การส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นครพนมอยู่ในระยะที่ 2 มีความพร้อมในการรองรับนักลงทุนอย่างสูง สำหรับปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการขยะ ซึ่งขณะนี้บางพื้นที่ทางโซนใต้ของจังหวัดนครพนมมีปัญหาเรื่องการบำบัดขยะ หากสามารถให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำแผนและมีอำนาจในการบริหารจัดการวิธีกำจัดขยะในท้องที่ได้ด้วยตนเองจะสามารถแก้ไขปัญหาในท้องที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) ภาคการเกษตรมีประชากรภาคการเกษตรมากกว่า 60% แต่รายได้ภาคการเกษตรต่ำเพียง 31% ของภาพรวมทั้งหมด ดังนั้น การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของราษฎรภาคการเกษตรให้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณ คุณภาพ และราคาของสินค้าภาคการเกษตรให้สูงขึ้นจะทำให้รายได้ภาคการเกษตรสูงขึ้น ​โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาพบปะกับประชาชนชาวจังหวัดนครพนม และได้มารับทราบถึงความเป็นอยู่ การเดินทางมาเยี่ยมเยือนประชาชนวันนี้ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยที่รัฐบาลมีต่อประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อร่วมกันหาแนวทางพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจังหวัดนครพนมให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้มีศักยภาพในการเชื่อมโยงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวจังหวัดนครพนมมีแหล่งมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีภูมิทัศน์ริมฝั่งโขงที่สวยงาม ประชากรมีความหลากหลายในชาติพันธุ์ มีประเพณีวัฒนธรรม และวิถีการดำรงชีวิตที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ในอำเภอเรณูนครแห่งนี้ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าผู้ไท จึงขอชื่นชมประชาชนที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้เป็นอย่างดี นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ด้วยศักยภาพดังกล่าวทำให้มองเห็นโอกาสด้านการท่องเที่ยวที่สามารถเชื่อมโยงธรรมชาติ ประเพณีศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ตลอดจนวัฒนธรรมของสองฝั่งแม่น้ำโขงเข้าด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด ในการพัฒนาการท่องเที่ยว 3 ธรรม ได้แก่ ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม เพื่อให้จังหวัดนครพนมแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง อันเป็นเอกลักษณ์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย ประเทศเพื่อนบ้านและชาวต่างชาติ ให้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดนครพนม และสร้างรายได้สู่ชุมชนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ได้แก่ พระธาตุพนม และพระธาตุบริวาร พระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน ซึ่งกระจายกันอยู่ในหลายอำเภอ รวมทั้งอำเภอเรณูนครแห่งนี้ ที่เป็นที่ตั้งของพระธาตุเรณู สำหรับผู้ที่เกิดวันจันทร์ นับเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวลาวที่ได้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ตลอดจนการมี Landmark องค์พญาศรีสัตตนาคราช ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวนครพนมและประชาชนที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำโขง นอกจากนี้ ยังมีประเพณีที่สำคัญที่ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ทั้งการจัดงานนมัสการพระธาตุพนม เป็นจุดร่วมเชื่อมความศรัทธาของประชาชนในแถบพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง งานประเพณีไหลเรือไฟ ซึ่งเป็นงานประเพณียิ่งใหญ่ที่ได้ร่วมกันจัดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนาน ถือเป็นแบบอย่างอันดีในการส่งเสริมประเพณีเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางสังคม พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชนนำศักยภาพที่จังหวัดนครพนมมีอยู่มาพัฒนาและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประชาชนเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ขณะเดียวกันขอให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ทั้งการอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูกให้เพียงพอกับความต้องการ การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ปริมาณน้ำ ตลอดจนการทำเกษตรแปลงใหญ่ด้านต่าง ๆ ทั้งการเพาะปลูกพืช ปศุสัตว์ การทำประมง ฯลฯ รวมทั้งการพิจารณาในการปลูกพืชเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น การปลูกมันญี่ปุ่น เป็นต้น อีกทั้ง จังหวัดนครพนมยังสามารถใช้ศักยภาพความได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัด โดยเฉพาะ การเป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายถนนในการขนส่งสินค้าและบริการระหว่างประเทศไปสู่ประเทศลาว เวียดนาม และจีน โดยมีระยะทางสั้นที่สุดเมื่อเทียบกับด่านอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยผ่านเส้นทางสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) เส้นทาง R12 ของลาว เส้นทาง National Highway R1A และโฮจิมินห์ Road ของเวียดนาม และมีระยะทางจากนครพนม – หนานหนิงของประเทศจีน ประมาณ 1,029 กิโลเมตร ซึ่งหลังจากเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เป็นผลให้มูลค่าด้านการค้าชายแดน ด้านการท่องเที่ยวมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สะพานแห่งนี้จึงถือเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งใหม่ของภาคอีสาน ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการท่องเที่ยวของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ​นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม โดยขณะนี้ได้กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ทั้งการกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการเป้าหมาย และเงื่อนไขของกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม 10 ประเภทกิจการ และเพิ่มเติมกิจการเป้าหมายอีก 13 กลุ่มกิจการ การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุนและด้านแรงงาน (OSS) เปิดให้บริการแล้ว โดย OSS ด้านการลงทุน จัดตั้ง ณ อาคารเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 อันจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถด้านการค้า การลงทุนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น สำหรับแผนงานโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การก่อสร้างอาคารด่านศุลกากรนครพนมแห่งใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2561 การก่อสร้างถนนจากท่าอากาศยานนครพนม – สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม – คำม่วน) การก่อสร้างศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม เพื่อรองรับการขนส่งระหว่างประเทศไทย – ลาว – เวียดนาม - จีน การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 (นครพนม-ท่าอุเทน) และการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร - นครพนม เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ชีวิตของประชาชนมีคุณภาพมากขึ้น นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์ในการลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม และการสร้างโอกาสเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เศรษฐกิจมีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมีกลไกการบูรณาการประชารัฐทั้งในระดับอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน อปท. ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ซึ่งในส่วนกลางโดยรัฐบาลมีหน้าที่คิดกำหนดนโยบาย และภาคท้องถิ่นต้องดำเนินการปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ขณะเดียวกันการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยทุกคนต้องรู้จักคิดวิเคราะห์เป็นและมีหลักคิดที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย ทุกคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างได้แต่ต้องไม่มีการบาดเจ็บและสูญเสีย รวมทั้งไม่มีอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อันจะส่งผลต่อสังคมและความเชื่อมั่นของต่างประเทศ และเพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข รวมทั้ง รัฐบาลมีความมุ่งมั่น ที่จะทำให้ประชาชนความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยจะทำควบคู่กันไปทั้งการแก้ปัญหาพื้นฐานที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน และการทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างมียุทธศาสตร์ที่เป็นกรอบกำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างชัดเจน เป็นระบบ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ให้สามารถพึ่งตนเองได้ และมีภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคเอกชน ที่มีความตั้งใจและทุ่มเทในการพัฒนาจังหวัดนครพนมร่วมกัน และขอให้ประชาชนเป็นกำลังใจในการทำงานกับคณะรัฐมนตรีและรัฐบาล เพื่อร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ​จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ได้เดินทางโดยรถยนต์ไปยังวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เพื่อสักการะองค์พระธาตุพนมเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งถือเป็นปูชนียสถานและโบราณสถานที่มีอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นต้นแบบของเจดีย์ศิลปะลาวที่ปรากฏขึ้นในดินแดนภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประดิษฐานบนเนินที่เรียกว่าภูกำพร้า โดยบรรจุพระอุรังคบรมธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมชมนิทรรศการนำเสนอการขอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นมรดกโลก