อาชีพการเลี้ยงโคนม เป็นอาชีพพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช รัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มและส่งเสริมให้พสกนิกรได้มีอาชีพที่ยั่งยืน เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ โดยปัจจุบันมีเกษตรกรเลี้ยงโคนม 18,341 ครอบครัว ในพื้นที่ 35 จังหวัดของประเทศไทย มีแม่โคนมทั้งหมด 596,747 ตัว เป็นแม่โคพร้อมรีดนม 272,635 ตัว มีปริมาณน้ำนมดิบเฉลี่ย 3,102.76 ตันต่อวัน และเป็นเกษตรกรที่เลี้ยงโคนมอยู่ในสังกัดสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกร จำนวน 102 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 62.79 ของปริมาณน้ำนมดิบทั้งประเทศ ซึ่งแนวโน้มปริมาณน้ำนมดิบของเกษตรกรประเทศไทย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาหลายประการ ที่สำคัญคือต้นทุนการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ไม่สอดคล้องกับรายได้จากการจำหน่ายน้ำนมดิบของเกษตรกรโคนม แต่ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรโคนมมีรายได้เพิ่มขึ้น คือ การบริหารจัดการสุขภาพโคนมในระยะให้นม และแม่โคแห้งนม ทั้งนี้ จากผลการวิจัยสำนักกองทุนสนับสนุนวิจัย ปี 2551 พบว่า โคนม ทั้งโคนมในระยะการให้นม หรือแม่โคแห้งนม มีพฤติกรรมที่ต้องการพื้นคอกที่มีความนุ่ม ซึ่งแม่โคส่วนใหญ่หลังกินอาหารจะชอบยืน นั่ง หรือนอนบนพื้นยางที่มีความนุ่มมากกว่าพื้นคอนกรีตที่มีความแข็งแรง เนื่องจากทำให้แม่โคนมรู้สึกสบาย โดยเฉพาะบริเวณเข่า และขา หรือเท้าทั้งสี่ข้างที่เกิดจากการนอน และการลุกขึ้นบนพื้นยางที่มีความนุ่ม อันจะส่งผลดีต่อสรีระร่างกายสัตว์ ตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) คือ ส่งผลให้สัตว์มีสุขภาพดี ซึ่งพื้นยางที่ปูคอกจะทำให้โคนมอยู่ในโรงเรือนอย่างสุขสบาย ทำให้แม่โคนมมีปริมาณการกินอาหารได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อไปยังอัตราการเจริญเติบโต และผลผลิตน้ำนมดิบของแม่โคนมที่เลี้ยงบนพื้นยาง จะสูงกว่ากลุ่มที่เลี้ยงบนพื้นคอนกรีต โดยแม่โคนมในกลุ่มที่เลี้ยงบนพื้นยาง สามารถกินอาหารได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 และผลผลิตน้ำนมดิบของแม่โคนมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.58 ทำให้เกษตรกรโคนมมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นวันละ 5.93 เปอร์เซ็นต์ นายประสาร อันโนนจารย์ สหกรณ์จังหวัดนครปฐม นายประสาร อันโนนจารย์ สหกรณ์จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2559 (การจัดหาแผ่นยางพาราปูคอกโคนม) โดยอุดหนุนเงินจ่ายขาด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนจัดหาแผ่นยางพาราปูพื้นคอกโคนมให้กับสหกรณ์ที่รวบรวม หรือแปรรูปน้ำนมโค จำนวน 20 แห่ง วงเงิน 19,831,500 บาท โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครปฐม คัดเลือกสหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 991,575 บาท และสหกรณ์ฯ สมทบเพิ่ม 100,425 บาท เป็นทุนในการจัดหาซื้อแผ่นยางพาราปูพื้นคอกโคนม เพื่อพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงโคนมของสหกรณ์ฯ สู่มาตรฐานฟาร์ม GAP ส่งเสริมสุขภาพโคนมที่ดี เพื่อผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพ “อย่างไรก็ดี หากวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โคนมเมื่อเจ็บกีบ การกินจะลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ หากแม่โคให้นม 15 กก./ตัว/วัน ปริมาณน้ำนมจะลดไป 3 กก./ตัว/วัน ซึ่งราคารับซื้ออยู่ที่ 17.50 บาท/กก.ก็จะสูญเสียรายได้ 52.50 บาท/ตัว/วัน และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโคเจ็บกีบ โดยปกติอัตราค่ารักษารวมค่ายาข้างละประมาณ 1,000 บาท ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว นอกจากเป็นการพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงโคนมของสหกรณ์ เกษตรกรยังเข้าใจถึงประโยชน์การใช้แผ่นยางพาราปูพื้นคอกโคนม ลดการใช้ยาปฏิชีวนะของเกษตรกร ในแม่โครีดนมและแม่โคแห้งนม รวมทั้งสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร พร้อมพัฒนาฟาร์มสมาชิกของสหกรณ์ให้เข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม GAP เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อีกด้วย” ทั้งนี้ สหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจังหวัด นครปฐม จำนวน 10 ราย ได้ขอจัดตั้งเป็นสหกรณ์ โดยได้รับการจดทะเบียนเป็นประเภทสหกรณ์บริการ เมื่อ วันที่ 1 กรกฎาคม 2514 ต่อมาได้รับเงินสนับสนุนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนจากจังหวัด จำนวน 100,000 บาท ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2538 ที่ประชุมใหญ่สามัญของสหกรณ์ฯ ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ให้สหกรณ์ฯ เปลี่ยนประเภทเป็นสหกรณ์การเกษตร นางสาวสังวาลย์ ทิมหอม ผู้จัดการสหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด ด้าน นางสาวสังวาลย์ ทิมหอม ผู้จัดการสหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อจัดซื้อยางพาราให้กับสมาชิก 265 ฟาร์ม เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา เพื่อนำไปปูพื้นคอกโคนม ซึ่งสามารถช่วยเสริมสุขภาพโคนมให้ดีขึ้น เช่น กีบโคนนมไม่เจ็บ ลดการบาดเจ็บของโคนมเนื่องจากการล้ม ส่งผลให้ผลผลิตน้ำนมดิบมีคุณภาพ และมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยจากเดิมสหกรณ์ฯ รวบรวมผลผลิตน้ำนมดิบ ปริมาณ 27.5 ตัน/วัน เป็น 32.5 ตัน/วัน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศด้วย หากมีสภาพภูมิอากาศที่ดี ผลผลิตน้ำนมดิบอาจมีปริมาณที่สูงขึ้นกว่านี้ นอกจากนี้ สหกรณ์ฯ ยังได้มีการจัดโครงการพัฒนามาตรฐานฟาร์ม เพื่อส่งเสริมสมาชิก ทั้ง 265 ฟาร์ม มีการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน เพื่อสามารถผลิตน้ำนมโคที่มีคุณภาพ โดยผลผลิตน้ำนมโคที่ที่สหกรณ์ฯ รวบรวมจากสมาชิก จะนำส่งให้กับบริษัท ดัชมิลล์ จำกัด 10 ตัน/วัน และปริมาณที่เหลือ นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นม ได้แก่ นมสด (พาสเจอร์ไรส) นมพาสเจอร์ไรส์ นมพาสเจอร์ไรส์ผสมวุ้นมะพร้าว "นาต้ามิลค์" และไอศกรีมนมสด