รายงาน: โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เดินหน้าต่อเนื่องขยายผลสำเร็จโครงการฯ สู่ราษฎร รวมผลิต รวมขาย ผลิตปุ๋ยปลูกพืชผักเอง ลดต้นทุนการผลิต พร้อมเปิดร้ายขายไม่มีพ่อค้าคนกลาง สร้างรายได้มั่นคงต่อเนื่องแม้ช่วงโควิด-19 ระบาด แม้ได้น้อยแต่ทุกคนอยู่ได้ไม่กระทบ นายอนุรักษ์ บัวคลี่คลาย ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นผลให้ต้องมีการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดด้วยการเว้นระยะห่างและหยุดการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นเวลาร่วม 3 เดือนที่ผ่านมานั้น พบว่าเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายของโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ จะมีปัญหาเกี่ยวกับการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน “หลังจากที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ลงพื้นที่พบปะตลอดถึงแนะนำการปรับวิถีชีวิตของตัวเองโดยเฉพาะการทำการผลิตเพื่อดำรงชีวิต ส่งผลให้เกษตรกรสามารถปรับตัวได้ และร่วมกันทำการเพาะปลูกพืชอายุสั้นเพื่อการบริโภค กำหนดปริมาณพื้นที่และจำนวนการปลูกให้น้อยลง เช่น พริก มะเขือ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ก็ใช้เวลาช่วงนี้หาประสบการณ์เพิ่มเติม พัฒนาตัวเองเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยในการเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 เพื่อรองรับการเดินทางเข้าศึกษาดูงานจากเกษตรกรและประชาชน หลังจากทางรัฐบาลเปิดให้มีการเดินทางเข้าออกนอกพื้นที่ได้ ซึ่งเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา มีประชาชนเดินทางเข้าศึกษาเรียนรู้ในศูนย์ฯ กว่า 2 แสนคน” นายอนุรักษ์ บัวคลี่คลาย กล่าว ทางด้าน นางสาวสายใจ เรืองเทศ สมาชิกกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายขยายผลโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ จ.ราชบุรี กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่ได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อร่วมกันผลิตและรวมกันขาย เนื่องจากเมื่อก่อนประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะปลูกอ้อยเพื่อส่งขายโรงงานแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ราคาอ้อยตกต่ำ ผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มทุน ต้นทุนในการผลิตสูงเพราะต้องใช้สารเคมีในการบำรุงดินและใช้แรงงานมาก ทั้งการปลูก การบำรุงรักษาและการเก็บเกี่ยว ภายหลังจากทางโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ นำผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองมาขยายผลให้เกษตรกร โดยเฉพาะการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อทำการเพาะปลูกได้ ทำให้สามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิด เช่น กล้วย มะนาว ฝรั่ง โดยเฉพาะจำพวกพืชผัก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรแบบรายวันและรายเดือนเป็นอย่างดี ส่วนปัญหาเรื่องการขยายผลผลิต หากต่างคนต่างขายก็จะทำให้ทุกคนขายได้ยาก จึงได้ใช้กลุ่มมาเป็นกลไกในการบริหารจัดการ โดยทางศูนย์ฯ เปิดสถานที่บริเวณหน้าโครงการฯ สร้างเป็นร้านจำหน่าย โดยเกษตรกรในกลุ่มจะจัดสรรเวลามาดูแล ส่วนผลผลิตก็รับมาจากสมาชิกกลุ่มมาวางจำหน่าย ซึ่งกลุ่มจะมีการวางแผนการเพาะปลูกแบบเหลื่อมเวลากันทั้งชนิดพืชผักและปริมาณการปลูก เพื่อให้มีผลผลิตออกมาจำหน่ายในร้านอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตทั้งหมดจะปลูกด้วยระบบอินทรีย์ไม่มีการใช้สารเคมี จึงปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค มีการผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง และมีแนวทางการดำรงชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทางศูนย์ฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนด้วยการไม่ลงทุนทำการผลิตเกินตัว การลงทุนจะนำรายได้ที่เหลือจากการใช้จ่ายในครัวเรือนมาดำเนินการ และไม่กู้สร้างหนี้ “ตอนนี้ทุกคนรู้สึกดีมากต้องขอบคุณทางโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทำให้ทุกคนมีเงินใช้ทุกวันแม้ไม่เยอะแต่เพียงพอ และยังสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มรวมกันผลิต รวมกันขาย พร้อมนำทุกคนเข้าอบรมให้ความรู้ในการปรับปรุงบำรุงดิน การเพาะปลูกพืชตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ทำให้สามารถปลูกพืชได้อย่างหลากหลายผลผลิตสมบูรณ์ ทำให้มีกินมีใช้มีรายได้ แม้ในยามเกิดเหตุการณ์สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทุกคนไม่ออกจากบ้าน ทุกคนในพื้นที่ก็ยังอยู่ได้ไม่กระทบกับการใช้ชีวิต ยังสามารถทำการเพาะปลูกและมีรายได้เช่นเดิม แม้จะลดน้อยลงบ้างแต่ก็ไม่เดือดร้อน” นางสาวสายใจ เรืองเทศ สมาชิกกลุ่มเกษตรกรฯ กล่าว