สตูล/...เหยื่อแชร์ลูกโซ่สตูล 40 ราย ทยอยแจ้งความหลังถูกลวงให้ลงทุน อสังหาริมทรัพย์ บ้าน และทอง ก่อนจะเผ่นหนี สอบพบมีเหยื่อกระจายทั่วไทยถึง 400 รายลงทุนในชื่อบ้านเลขที่ 5 มูลค่าเงินลงทุน 160 ล้านบาท ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล เหยื่อผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ ในชื่อ บ้านเลขที่ 5 เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.ทัตธงสักก์ ภู่พันธัชสีห์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล เพื่อร้องเรียนเพิ่มเติมหลังก่อนหน้านี้มีเหยื่อทยอยเข้าแจ้งความ ที่ สภ.เมืองสตูลแล้วขณะนี้กว่า 40 รายแล้วนั้น ซึ่งทางตำรวจเชื่อว่าน่าจะมีเหยื่อมากกว่านี้ โดยเหยื่อรายหนึ่ง นามสมมุติ เอ ซึ่งได้รับความไว้วางใจในช่วงแรกจาก นางสาวณิชชภัทร ภัทรธาดา ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยวัยเรียน ได้เริ่มชักชวนและล่อลวง เล่าว่า ตนได้รับว่าจ้างให้ทำบัญชีการลงทุนในครั้งนี้จากนาง ณิชภัทร ภัทรธาดา เดือนละ 3,000 บาท แต่ผู้ว่าจ้างอาศัยอยู่ที่นครปฐม และเนื่องจากเป็นเพื่อนสมัยวัยเรียนที่ จ.สตูล โดยตนก็ลงหุ้นเล่นด้วย เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจคนสนิท และเห็นความเปลี่ยนแปลงของเพื่อน จากโปรไฟล์ที่อัพในเฟซบุ๊ค ก่อนชักชวนคนใกล้ตัวมาร่วมลงทุนและเป็นเครือข่ายกัน ด้วยการหลงเชื่อจากการจ่ายผลตอบแทนในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 จากวงเงินที่ชักชวนให้มาร่วมลงทุนอสังหาริมทรัพย์ บ้าน ทอง และตราสาสน์หนี้ โดยใช้เฟซบุ๊ค เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร สร้างเป็นกลุ่มเฉพาะ ชื่อ กลุ่มบ้านเลขที่ 5 ทำให้ดูเหมือนจับต้องได้จริง มีการเปิดลงทุนในแต่ละ สัปดาห์ ตั้งแต่หลักหมื่น ถึง หลักล้านบาท และมีการโอนเงินจ่ายจริงในเวลาอันใกล้เพียงแค่ลงทุนใน 1 สัปดาห์ ทำให้เหยื่อที่มีทั้งทุนหนา บางรายระดมเงินทุนคนในครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง และเครือญาติเพียงครอบครัวเดียวสูงถึง 7 ล้านบาท ในการลงทุนในการครั้งนี้ เพื่อหวังผลตอบแทนที่เห็นว่าได้ดอกเบี้ยสูงกว่า ธนาคารที่จ่ายให้ และเหยื่อไม่ได้ทำเฉพาะในพื้นที่ จ.สตูล ยังพบว่ามีเหยื่ออยู่ในหลายพื้นที่ร่วม 400 ราย มีมูลค่าความเสียหายถึงแล้ว 160 ล้านบาท ด้าน พล.ต.ต.ทัตธงสักก์ ภู่พันธัชสีห์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ระบุว่า ขณะนี้ยังมีผู้เสียหายทยอยเดินทางมาแจ้งความแล้วกว่า 40 ราย และเชื่อว่ายังมีเหยื่ออีก และขอให้รีบมาแจ้ง เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดี ฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นคดีต่างกรรมต่างวาระ เข้าใจว่าบางคนเกรงกลัวว่าจะกระทบกับครอบครัว หน้าที่การงาน เพราะหากมีการจับกุมแล้วขั้นตอนกฎหมายมีกระบวนการของมันในการยึดทรัพย์ที่เชื่อว่าได้มาจากการฉ้อโกงนำขายทอดตลาดและจะมีการนำเงินมาเฉลี่ยให้กับเหยื่อผู้เสียหาย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกหมายเรียกในตัวผู้ต้องหา หากยังไม่มาก็จะออกหมายจับ