นายพลกร สุวรรณรัฐทักทายพูดคุยกับนักเรียน ถามสารทุกข์สุกดิบผู้ที่มารอคอยกันพอสมควรแล้วองคมนตรีรับฟังข้อมูลอย่างสรุปถึงผลดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตามแนวพระราชดำริโครงการพัฒนาเกษตรที่สูงบ้านห้วยหยวกป่าโซตั้งแต่เริ่มดำเนินการ แล้วได้เยี่ยมชมตัวอย่างผลสำเร็จ จากนั้นร่วมปลูกต้นไม้คือต้นมั่งมีศรีสุขท่ามกลางสวนชาที่ปลูก ณ ไหล่เชา จากนั้นองคมนตรีและคณะเดินทางไปที่แปลงนา ณ ตรงนี้มีฝนโปรยปรายลงมาพอดี องคมนตรีพลากรต้องเป็นประธานเปิดกรวยถวายบังคมพระบรมฉายาลักษณ์ท่ามกลางสายฝน และต้องไปยืน ณ โปรเดียมที่ตั้งไว้กลางแจ้งยืนรับฟังการกล่าวรายงานก็ขณะฝนกำลังตก ฯพณฯก็ไม่ได้ชะลอพิธีการและไม่ให้คนไปกางร่มด้วย จากนั้นได้ร่วมลงมือการทำนาดำตามขั้นตอน โดยนายพลากร สุวรรณรัฐลงคราดนาด้วยควายพักหนึ่งพอได้ลิ้มรสถึงความยากลำบากในขั้นตอนทำนากว่าจะได้ข้าวมากิน ละจากคราดนาไปลงแปลงดำนาด้วยข้าวพันธุ์ขาหยี่ (ข้าวเจ้า) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านเลิกทำนาแบบข้าวไร่มาเป็นนาดำแทนเนื่องจากได้ผลผลิตสูงกว่า โดยคาดว่าจะให้ผลผลิตถึง ๔๐๐-๔๕๐ กิโลกรัม/ไร่มากกว่าทำแบบข้าวไรเยอะทีเดียว คณะที่ร่วมอย่างรองเลขาธิการกปร.นายดนุชา สินธวานนท์ก็ลงดำนา นางศศิพร ปาณิกบุตรก็ลงดำนา พร้อมด้วยชาวบ้าน นักเรียนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมดำนา เป็นการดำนาที่มีความสุขสนุกสนานดูเหมือนจะไม่เหน็ดเหนื่อย แต่จริงๆเหนื่อยเจ้าของนานายลีกุ จะแส ใช้พื้นประมาณ ๕ งาน หรือ ๑ ไร่ ๑ งาน จากพื้นที่ทั้งหมดจำนวน ๑๖ งาน (๔ ไร่) ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ผลผลิต๓๕๐ – ๓๗๐ กิโลกรัม/ไร่ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ห้วยหยวกป่าโซ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๖ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างผสมผสานกลมกลืน โดยใช้หลักการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน และให้ดำเนินการปลูกต้นไม้ฟื้นฟูสภาพต้นน้ำ โดยเน้นการปลูกต้นนางพญาเสือโคร่ง เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง จากการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆร่วมกับราษฎรในพื้นที่สามารถพัฒนาป่าไม้แหล่งน้ำและคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการดำเนินงานในพื้นที่ ๘,๕๐๐ ไร่ แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓ เขต คือเขตที่ ๑ พื้นที่ป่าสมบูรณ์ ประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่ เขตที่ ๒ พื้นที่ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ประมาณ ๔,๔๐๐ ไร่ ซึ่งได้ดำเนินการฟื้นฟูป่าให้กลับสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ไปแล้ว ๔,๔๐๐ ไร่ ควบคู่กับการสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน จำนวน ๗๓๐ แห่ง ในเวลา ๑๐ ปี สร้างฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร จำนวน ๑๐ แห่ง ในเวลา ๘ปี รวมทั้งสร้างฝายต้นน้ำแบบถาวร จำนวน ๑ แห่ง ทำให้ช่วยชะลอการไหลของน้ำ ลดความรุนแรงและชะล้างพังทลายของดิน กักเก็บตะกอน กักเก็บน้ำ ทำให้แหล่งน้ำมีน้ำเพิ่มขึ้นรวมทั้งระยะเวลาการไหลของน้ำนานขึ้น คุณภาพน้ำใสมากขึ้น ทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อทำการเกษตร รวมทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของน้ำแม่คำอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้จัดทำพื้นที่แปลงเกษตรสาธิต ทำการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ แบบอนุรักษ์ดินและน้ำ อย่างเข้มข้น ประมาณ ๑,๖๐๐ ไร่ ดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตร ปลูกพืชผัก ไม้ผลเมืองหนาว พืชสมุนไพร เลี้ยงแกะ ม้า โคนม สุกร ไก่ เป็ด ปลา และกบ สำหรับด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร จากการจ้างเป็นแรงงานภายในสถานีฯ ทำให้มีรายได้ นอกจากราษฎรมีความรู้ความเข้าใจในการทำการเกษตรแผนใหม่ สอนให้รู้จักการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีความลาดชัน การทำเกษตรอินทรีย์ เมื่อเกิดความชำนาญแล้วก็จะนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของราษฎรเอง โดยสถานีฯ เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และที่สำคัญได้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนระบบการปลูกข้าวของราษฎรจากการปลูกข้าวไร่ มาเป็นการทำนาดำ แบบขั้นบันได โดยมีเป้าหมายพื้นที่นาดำทั้งหมด ๑,๐๐๐ ไร่ เพื่อให้ได้ข้าวเพียงพอต่อการบริโภคของราษฎรบ้านห้วยหยวกป่าโซตลอดทั้ง ปี ปัจจุบันได้มีการปรับพื้นที่เพื่อเป็นพื้นที่นาดำไปแล้วทั้งหมด ๕๗๔ ไร่ ในพื้นที่นาของราษฎร จำนวน ๙๔ ราย ส่งผลสัมฤทธิ์จากรายได้ภายในชุมชนเดิมเฉลี่ยต่อครอบครัว ๑๕,๐๐๐ บาทต่อปี ปัจจุบันเพิ่มเป็น ๕๐,๐๐๐ – ๖๐,๐๐๐ บาทต่อปี มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เพียงพอในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคงโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติแต่ทำหน้าที่ในการปกป้องและรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะมาทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณ นำพระมหากรุณาธิคุณพระราชหฤทัยห่วงใยมาสู่ประชาชน ร่วมดำนากับชาวบ้านในครั้งนี้นับเป็นขวัญกำลังใจ และเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถมิได้ทรงละทิ้งราษฎรแม้ไม้อาจเสด็จฯมาทรงเยี่ยมเยียนด้วยพระองค์เองดังแต่ก่อน ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้องคมนตรีนำพระราชหฤทัยห่วงใย นำพระมหากรุณาธิคุณไปถึงประชาชน เฉพาะอย่างยิ่งการลงพื้นที่เน้นย้ำให้ชาวบ้านตระหนักการทำนาดำเพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าปรับเปลี่ยนวิถีจากนาไร่เป็นนาดำขั้นบันได เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตควบคู่ไปกับการเพิ่มพูลผืนป่า ในโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านห้วยหยวกป่าโซตำบลแม่สลองในสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างยั่งยืนสืบไป “ห้วยหยวกป่าโซ อำเภอแม่ฟ้าหลวง พี่น้องชาวบ้านอยู่ติดชายแดน อดีตมีปัญหาความมั่นคงความสงบ ชนหลายเผ่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร 20 ปีมาแล้วมีพระราชดำริที่จะทรงฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้แหล่งน้ำเป็นสถานีเกษตร ก็ไปลองสำรวจว่าจะมีพื้นที่ทำสถานีได้เป็นต้นแบบปลูกพืชบนที่สูงได้ทุกชนิด ไม้ผลต่างๆให้ประชาชนมีอาหารได้ทั้งปีเหลือก็ขายแลกเปลี่ยนกัน คณะสำรวจได้แล้วก็นำความกราบบังคมทูลก็เสด็จพระราชดำเนิน พระองค์ท่านเสด็จฯแล้วเกือบ 20 ปีก็สมบูรณ์อย่างที่เห็นวันนี้ เด็กๆหน้าตาแจ่มใส แล้วก็เข้าใจถึงระบบนิเวศแหล่งต้นน้ำ เมื่อคนเข้าใจอยู่กับป่าอย่างถูกต้องก็เท่ากับมีมือดูแลป่าทั่วประเทศ เพราะแค่ราชการไม่ไหวต้องมีชาวบ้านร่วม ก็เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถก็ทรงรับสนองมาดำเนินการ ที่ห้วยหยวกป่าโซนี่เป็นที่มั่นคงต้นแบบ” องคมนตรีพลากร สุวรรณรัฐกล่าว