รายงาน/ฤทัยรัตน์ เมืองกฤษณะ โรงงานหลวง อาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2523 ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นโรงงานแปรรูปผลผลิตมะเขือเทศแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำมูล ที่รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรจากกิ่งอำเภอเต่างอย โคกศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และขยายไปบริเวณจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครพนม มุกดาหาร หนองคาย ทำให้เกิดการพัฒนาอาชีพและเสริมรายได้ให้กับชาวบ้าน โดยนำผลผลิตที่ได้แปรรูปให้เกิดมูลค่านำผลิตภัณฑ์ที่ได้ขายสู่ท้องตลาด และเป็นโครงการนำร่องการแปรรูปผลผลิตมะเขือเทศและส่งเสริมการปลูกมะเขือเทศของภาคเอกชนอีกหลายแห่ง บริเวณรอบๆ โรงงาน มีพื้นที่การส่งเสริมให้ปลูกมะเขือเทศทำให้พื้นที่ตลอดฝั่งแม่น้ำมูลถูกเรียกขานว่า เส้นทางสายมะเขือเทศ พร้อมกับมีการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชไร่อย่างอื่นเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวโพดฝักอ่อน ไผ่ตง มะละกอ กระเจี๊ยบ ทับทิม ฝรั่ง เป็นต้น จากแนวพระราชดำริที่ทรงให้ตั้งโรงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) เมื่อปี พ.ศ. 2523 พื้นที่ดังกล่าวได้รับการพัฒนาไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น มีการสร้างศูนย์เด็ก สถานีอนามัย การจัดทำธนาคารข้าว การซ่อมและสร้างวัด ขุดบ่อบาดาล สร้างอ่างเก็บน้ำ มีการช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคให้ดีขึ้น และมีการพัฒนาอาชีพในระยะยาวสอนการปลูกมะเขือเทศ และพืชอื่น ๆ เพื่อส่งวัตถุดิบเข้าระบบอุตสาหกรรมเกษตร โดยโรงงานหลวงฯเป็นผู้ดูแลการแปรรูปและทำผลิตภัณฑ์ การดำเนินงานอยู่ภายใต้ความดูแลจากมูลนิธิโครงการหลวง มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อบริษัท ดอยคำ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ในปี พ.ศ.2537 โรงงานหลวงฯ ทุกแห่งในประเทศไทยอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในปีพ.ศ.2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงงานหลวง อาหาร สำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) ทอดพระเนตรเห็นความเสื่อมโทรมของโรงงาน จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ทำการ ปรับปรุงโรงงานหลวงฯ ขึ้นมาใหม่ โดยทรงใช้หลักแนวคิดที่ว่า “ชุมชนได้รับประโยชน์ และธุรกิจสามารถดำเนิน ต่อไปได้” เมื่อมีการพัฒนาโรงงานหลวงฯ ทำให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตมีเทคโนโลยี และเครื่องจักรเข้ามา ช่วยตามมาตรฐานโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูประดับสากล วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ทางคณะมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปเยี่ยมชมพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ที่ประทับทรงงานเพื่อราษฎร โดย ว่าที่ร้อยตรีทวี แพงยอด หัวหน้ากรมวัง ให้ข้อมูลว่า พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ สร้างขึ้นในบริเวณเทือกเขาภูพานในปี พ.ศ.2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงใช้เป็นที่ประทับในช่วงเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรและ ทรงติดตามโครงการพระราชดำริในภาคอีสานช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม และเป็นผู้ทรงเลือกพื้นที่สร้างพระตำหนักด้วยพระองค์เอง ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 1,950 ไร่ มีเจ้าหน้าที่และลูกจ้างประมาณ 152 คน ที่ดูแลพระตำหนักฯ “บริเวณที่ตั้งพระตำหนักฯ ที่ประทับทรงให้รักษาสภาพพื้นที่ป่าไว้อย่างสมบูรณ์ มีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก เป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ไม้หลากหลายสายพันธุ์ และรอบนอกพระตำหนักทรงให้มีการปลูกต้นไม้เนื้อแข็ง ซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ ไม้มะค่า ไม้แดง ไม้จันทร์หอม เป็นต้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดให้สร้าง “เรือนคำหอม” สำหรับประทับทรงงานและทอดพระเนตรการประกวดงานศิลปาชีพทุกปี ต่อมาในปี 2535 ทรงนำกวางมาเลี้ยงในเขตพระราชฐานชั้นนอกในพื้นที่ป่า 50 ไร่ จะปล่อยให้กวางปรับตัวกับสภาพป่าและคอยปล่อยสู่ป่าอุทยานแห่งชาติภูพาน ในปัจจุบันพระตำหนัก ภูพานราชนิเวศน์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสกลนครทำการเปิดให้เข้าชมชั้นนอกตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.” หัวหน้ากรมวังกล่าว จากนั้นคณะได้เดินทางต่อไปที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริแบบจำลองของการพัฒนาภาคอีสาน บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ฟังการบรรยายถึงความเป็นมาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ โดย นายณรงค์ ณ ทองหลาง นายช่างชลประทานอาวุโส หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า ปีพ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีสาน ทรงได้เห็นถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร สภาพผืนดินแห้งแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทรงศึกษาสภาพพื้นที่ด้วยพระองค์เอง พบว่า บริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เดิมเป็นป่าโปร่งมีการตัดไม้นำไปใช้ ป่าถูกทำลายทำให้พื้นที่ไม่มีน้ำในหน้าแล้ง น้ำไหลแรงในหน้าฝน ทำให้เกิดการชะล้างหน้าดินจนบางลงและเกลือที่อยู่ใต้ดินขึ้นเป็นหย่อมๆ ดินบริเวณดังกล่าวจะเป็นดินทราย ดินเค็ม ขาดน้ำมีลักษณะคล้ายกันเกือบทั้งภาคอีสาน “พระราชทานพระราชดำริในปี 2525 เกี่ยวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เป็นครั้งแรก ทรงให้พิจารณาการจัดหาน้ำสนับสนุนเพื่อศึกษาทดลองงานพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การพัฒนาป่าไม้ การเกษตรต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้และราษฎรนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง และทรงให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตาดไฮใหญ่พื้นที่ประมาณ 1,800 ไร่ เพื่อสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรบริเวณบ้านนานกเค้า ทรงคัดเลือกที่จัดตั้งศูนย์ฯ ด้วยพระองค์เองเนื่องจากสภาพพื้นที่สามารถเป็นที่เรียนรู้และเป็นตัวแทนของภูมิภาคทั้งหมดได้เพราะสภาพธรรมชาติแวดล้อมและวงจรชีวภาพที่คล้ายคลึงกับพื้นที่ภาคอีสานโดยทั่วไป” นายช่างชลประทานอาวุโสกล่าว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากรพระราชดำริ มีพื้นที่ทั้งหมด 13,300 ไร่ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่สาธิตเพื่อการเกษตรกรรม 2,300 ไร่ พื้นที่พัฒนาป่าไม้ 11,000 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่า ภูล้อมและป่าภูเพ็ก และมีการปลูกข้าว รวมพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ จำนวน 22 หมู่บ้าน พร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาวิธีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการประมงศึกษาทดลองและพัฒนาประมงน้ำจืด เป็นสถานที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาปศุสัตว์ 3 ดำมหัศจรรย์ ได้แก่ วัวดำ หมูดำ ไก่ดำ สัตว์เศรษฐกิจ 3 ดำ ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับจังหวัดสกลนคร มีการส่งเสริมวิชาชีพสำหรับครัวเรือนที่หลากหลายสาขา ทำให้ประชาชนจำนวนมากมีการสร้างรายได้อย่างดีที่มาศึกษาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติต่อในพื้นที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นพระมาหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้