“ขยะ”ปัญหาที่อยู่คู่กับกรุงเทพมหานครมายันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นเรื่องท้าทายและส่งเสียงเรียกร้องจากประชาชนตลอดทุกยุคทุกสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าฯกทม. และจากการสำรวจความต้องการของประชาชนว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่ต้องการให้เร่งแก้ไขในยุคผู้ว่าฯพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก็พบว่าปัญหาขยะยังคงได้รับเสียงเรียกร้องให้แก้ไขไม่ต่างจากปัญหาจราจร และน้ำท่วม แน่นอนว่าที่ผ่านมา กทม.มีความพยายามจะลดปริมาณขยะ ส่งเสริม รณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะ ลดใช้ถุงพลาสติก ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารที่เหลือ เพื่อให้ปริมาณขยะจากครัวเรือนลดน้อยลง แต่กระนั้นก็ยังมีเสียงร้องเรียนจากประชาชนตามบ้านเรือนว่ายังคงมีขยะตกค้าง รถขยะไม่เข้ามาตามวันเวลาที่กำหนด บางครั้งเก็บขยะไม่หมด ขยะบางอย่างถูกเก็บแต่ขยะบางอย่างกลับไม่เก็บ แต่ถ้าเป็นขยะที่มีมูลค่าจะเก็บไปไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก จึงเกิดความสงสัยว่าหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บขยะของกทม.ของทั้ง50เขตแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร ขยะอะไรบ้างที่เขตจะไม่เก็บ หรือนัดวันเวลาสถานที่จัดเก็บเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.อดีตเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขต เล่าแนวทางการทำงานในเรื่องนี้ให้ฟังว่า ในสมัยที่เป็นผอ.เขตนั้นในเรื่องหลักเกณฑ์การจัดเก็บขยะทั้งตามถนนสายหลักและตามบ้านเรือนตนให้นโยบายชัดเจนว่า หากมีขยะวางอยู่ข้างถังขยะ เจ้าหน้าที่ประจำรถขยะต้องเก็บขนทั้งหมด แต่หากเป็นขยะที่ไม่สามารถอัดใส่ในรถขยะได้เนื่องจากไฮโดริกส์อัดขยะจะเสียหาย จะต้องประสานรถเก็บขนหรือกระบะมาเก็บไปไม่ให้ปล่อยทิ้งไว้ ซึ่งก็สามารถลดปัญหาการร้องเรียนขยะตกค้างได้ รองผู้ว่าฯ ชี้ หลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติของทุกเขตนั้นไม่ต่างกัน หากยึดตามนโยบายรักษาความสะอาดและการเก็บขนมูลฝอยของกทม. แต่หากพบขยะที่นอกเหนือและไม่เป็นการลำบากและเกิดความเสียหายอะไรเจ้าหน้าที่ก็จะเก็บไปให้ แน่นอนว่าเป็นการเพิ่มงานให้ เพราะขยะบางชนิดตามหลักเกณฑ์จะไม่เก็บ เช่น อุปกรณ์เศษวัสดุที่เหลือจากการก่อสร้าง กิ่งไม้หรือท่อนไม้ใหญ่ ซึ่งขยะเหล่านี้ประชาชนต้องเสียค่าธรรมเนียมเก็บขน และเพื่อให้การเก็บขนขยะของทั้ง50เขต เป็นไปตามนโยบายกทม.อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ออกหนังสือสั่งการที่ กท.1007/272 ตั้งแต่ 16 ม.ค.60 เพื่อรวบรวมหนังสือสั่งการและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดและการเก็บขนมูลฝอย ที่เคยออกไปก่อนหน้านี้เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานใหม่ ให้ทันกับยุคสมัยเพื่อให้ทั้ง50เขตปฏิบัติ โดยหลักมีดังนี้ 1.กำหนดเวลาทิ้งและจัดเก็บ แยกเป็นถนนสายหลัก สายรอง กำหนดเวลาให้ประชาชนทิ้งขยะตั้งแต่เวลา 20.00-03.00 น. และต้องเก็บให้เสร็จภายในเวลา 05.30น. 2.บริเวณชุมชน ตรอก ซอย เขตจะบริการจัดเก็บไม่ให้เกิดขยะตกค้าง สำหรับชุมชนที่รถขยะเข้าไม่ถึง เขตต้องจัดหาอาสาสมัครชักลากขยะรวบรวมไว้ ณ จุดที่กำหนดเพื่อรอรถขยะเข้าเก็บทุกวัน 3.กำหนดความถี่การจัดเก็บขยะตามประเภท ขยะรีไซเคิล จัดเก็บเฉพาะวันอาทิตย์ เช่นเดียวกันกับขยะชิ้นใหญ่ที่เขตจะประชาสัมพันธ์เพื่อนัดทิ้ง ขยะเศษอาหาร จัดเก็บทุกวัน ขยะอันตรายจัดเก็บทุกวันที่ 1และ15ของเดือน หรือตามที่เขตกำหนด ขยะทั่วไปเก็บทุกวันหรือวันเว้นวันตามประเภทของสถานที่ สำหรับขยะกิ่งไม้ใบไม้จากการตัดแต่งให้ตัดสับเป็นชิ้นเล็กๆรวบรวมใส่ถุง มัดปากถุงให้เรียบร้อย วางในจุดทิ้งขยะเพื่อรอรถมาเก็บ แต่หากเป็นกิ่งขนาดใหญ่เกินไป ประชาชนอาจจะต้องโทรประสานให้เจ้าหน้าที่เข้ามาเก็บและเสียค่าธรรมเนียมตามข้อบัญญัติกทม. พ.ศ.2543ซึ่งก็ไม่ได้ราคาแพง ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์การเก็บต่างๆ นั้นแยกวันเวลาประเภทขยะชัดเจน แต่ในความเป็นจริงเราผลิตขยะเกือบทุกประเภทในทุกวันและมีข้อจำกัดในการพักขยะไว้รอเขตเข้ามาเก็บ จึงจำเป็นต้องทิ้งขยะรวมกัน ซึ่งถ้าประชาชนแยกขยะเป็นส่วนๆ ใส่ถุงก็จะจัดเก็บได้ง่ายขึ้น ส่วนประเด็นที่ประชาชนคัดแยกแต่กทม.นำไปทิ้งรวมกันในรถคันเดียวนั้น รองผู้ว่าฯ เผยความจริงไม่ถูกไปทั้งหมด เพราะนอกจากมาตรการการนัดทิ้งตามวันเวลา รถเก็บขยะของกทม.ได้ออกแบบพื้นที่เฉพาะสำหรับการจัดเก็บขยะรีไซเคิลและขยะอันตรายระหว่างตัวรถไว้ การเทรวมนั้นก็เพื่อแยกขยะอันตราย ขยะรีไซเคิล หรือวัสดุแหลมคม จึงจำเป็นต้องคัดแยกออกไว้ก่อน จึงฝากประชาสัมพันธ์คัดแยกขยะไว้ให้ชัดเจนเพื่อง่ายต่อการจัดเก็บ ซึ่งคงไม่ใช่เป็นการโยนภาระให้ประชาชน แต่เป็นเรื่องการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบร่วมกัน... นารีนาฎ ภัยวิมุติ