“พระบารมีปกเกล้าฯ” วันทรงดนตรี ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ด้วยวันที่ ๖ กันยายนของทุกปีเป็นวันทรงดนตรี และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ กระผมขอนำเรียนทุกท่านเกี่ยวกับพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสและพระราชอัจฉริยภาพในการทรงดนตรี รวมทั้งกล่าวถึงความสำคัญของวันดังกล่าว โดยได้รับความสนับสนุนด้านข้อมูลจากหนังสือคำพ่อสอน จัดทำโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์และโครงการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทด้วย “ความรักและความดี” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมทั้งข้อมูลจากหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฆลกรุงเทพฯดังนี้ครับ พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการประกวดเพลงแผ่นเสียงทองคำ ศิลปิน นักแสดง นักวิชาการประกวดภาพยนตร์ คณะกรรมการจัดงานประกวดภาพยนตร์ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ความตอนหนึ่งว่า “...ศิลปะการดนตรี การเพลง การแสดงนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับบุคคลทุกคนจะเป็นในประเทศไทยหรือต่างประเทศที่ไหนก็ตาม ก็ถือว่าดนตรีคือการแสดง ถือว่าเพลงเป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นการแสดงออกมาซึ่งจิตใจที่มีอยู่ในตัว จิตใจนั้นจะมีอย่างไร เพลงหรือการแสดงดนตรี หรือการแสดงภาพยนตร์ แสดงละคร ก็ได้แสดงออก ซึ่งความคิด หมายถึงความดีที่มีอยู่ในตัวได้ทั้งนั้น...” พระราชดำรัสในโอกาสที่คณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยฯ เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน เพื่อสมทบทุน “โครงการพัฒนาตามพระราชประสงค์” ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๔ ความตอนหนึ่งว่า “...ดนตรีนี้มีอานุภาพสูงมาก ทั้งไม่ต้องเสียสตางค์อะไรเท่าไร คือว่าขีดเขียนไปนิดหน่อยแล้วก็เล่นไปก็ทำให้คนเขาเกิดความปิติยินดีเกิดความพอใจได้ ความรู้สึกได้ บางทีก็ปลาบปลื้มจนขนลุกก็มี แต่ในที่สุดก็แสดงว่าถ้าเราทำไปๆ ก็อาจจะล้างสมองเขาได้ อาจจะทำให้จิตใจเขาเปลี่ยนไปได้ ฉะนั้นการดนตรีนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปที่ไม่ได้เล่นดนตรี ไม่ได้แต่งเพลง ไม่ได้ร้องเพลงแต่ก็ฟังเพลงก็ถึงจิตใจของเขาได้ เท่ากับทำให้จิตใจเขามีความเบิกบานก็ได้ ความเศร้าหมองก็ได้ ความตื่นเต้นก็ได้ ชักจูงต่างๆ ได้ นี่คือความสำคัญของการดนตรี ซึ่งเหนือศิลปะอื่นๆ... ฉะนั้น การดนตรีจึงมีความสำคัญสำหรับประเทศชาติสำหรับสังคม ถ้าทำดีๆ ก็ทำให้คนเขามีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานการ ก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมาได้ คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่งทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะดึงให้กลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้นดนตรีนี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง...” พระอัจฉริยภาพในด้านดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี พระราชนิพนธ์เพลง และเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิด และทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วยพระองค์เอง รวมทั้งทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่างๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญาว่า “อัครศิลปิน” พระราชประวัติการทรงดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงเรียนเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และสเกลต่าง ๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค ต่อมา ทรงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊สและทรงดนตรีสากล โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟนกับเพลงจากแผ่นเสียงของวงดนตรีที่มีฝีมือ จนทรงมีความชำนาญจึงทรงเป่าสอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี ทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz มาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องดนตรีได้ดี หลายชนิด เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต ทรัมเปต รวมทั้งเปียโนและกีตาร์ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลงและเพื่อทรงดนตรีร่วมกับ วงดนตรีส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลง เมื่อมีพระชนมพรรษาได้ ๑๘ พรรษา และทรงพระราชนิพนธ์เพลง “แสงเทียน” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกและจนถึงปัจจุบัน มีเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น ๔๘ เพลง ทุกเพลงมีทำนองไพเราะ ประทับใจผู้ฟัง สอดคล้องกับเนื้อร้อง และมีคตินานัปการ เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยความเป็นมาของวันทรงดนตรี “วันทรงดนตรี” เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่คณาจารย์และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๐๐ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เพื่อถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ประสูติเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๐ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งกับนายสันทัด ตัณฑนันทน์ หัวหน้าวงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาฯ สมัยนั้นว่า จะนำวงลายครามมาบรรเลงที่จุฬาฯ งานวันทรงดนตรี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๐๑ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นอกจากจะทรงดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานข้อคิดแก่นิสิตจุฬาฯ และพระราชทานความเป็นกันเอง สร้างบรรยากาศอันอบอุ่น สนุกสนานและประทับใจเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทรงดนตรีที่จุฬาฯ ระหว่างปี ๒๕๐๑ – ๒๕๑๖ แต่ด้วยทรงมีพระราชภารกิจเพิ่มขึ้น จึงไม่ได้เสด็จฯ มาทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยอีก ต่อมานายสันทัด ตัณฑนันทน์ นิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และครุศาสตร์ อดีตประธานชมรมดนตรีสากล จุฬาฯ สมาชิกวง ICU Band กล่าวถึงที่มาของการจัด “งานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี” อย่างเป็นทางการไว้ในบทความเรื่อง “กว่าจะเป็นวันที่ระลึกวันทรงดนตรี” ว่า เพื่อรณรงค์ให้ชาวจุฬาฯ ตระหนักถึงความผูกพันและความสำคัญของงานวันทรงดนตรี และมูลนิธิอานันทมหิดลซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมหาวิทยาลัยได้มีส่วนในการจัดงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕ ที่ศาลาพระเกี้ยว และย้ายมาจัดที่หอประชุมจุฬาฯ เมื่อปี ๒๕๔๖ ต่อมาในปี ๒๕๔๗ จุฬาฯได้กำหนดไว้ในปฏิทินกิจกรรมของมหาวิทยาลัยว่าวันที่ ๒๐ กันยายนเป็นวันที่ระลึกวันทรงดนตรี จากนั้น มหาวิทยาลัยก็ได้จัดงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน