เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม เวลา 07:18 น. ยานสำรวจดาวอังคาร “เทียนเหวิน-1” ได้ทำการลงจอดพื้นผิวดาวอังคารบริเวณพื้นที่ที่ได้กำหนดไว้บนที่ราบ ยูโทเปีย พลานิเตีย  (Utopia Planitia) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ในภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน หลังจากปล่อยยานสำรวจได้สำเร็จเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2020 เป็นต้นมา ยานสำรวจดาวอังคาร “เทียนเหวิน-1” เข้าสู่ขั้นตอนการเดินทางไปยังดาวอังคารได้สำเร็จและเคลื่อนเข้าสู่ห้วงอวกาศลึก ทั้งยังได้ดำเนินการปรับวิถีวงโคจรถึง 4 ครั้ง และในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2020 ได้ตรวจพบตำแหน่งของดาวอังคาร พร้อมเคลื่อนที่เข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารได้สำเร็จ พร้อมเป็นดาวเทียมที่โคจรรอบดาวอังคารดวงแรกของจีนที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ ยานสำรวจ “เทียนเหวิน-1” ได้ทำการชะลอความเร็วเพื่อเข้าใกล้ดาวอังคารเป็นครั้งที่ 3 และเข้าสู่วงโคจรพักรอบนทางโคจรชั่วคราว (Parking orbit) เพื่อเตรียมย้ายวงโคจร โดยใช้เวลา 2 วันในการโคจรครบหนึ่งรอบ พร้อมดำเนินการสำรวจดาวอังคารแบบระยะไกล (Remote sensing) และได้ดำเนินการตรวจสอบตำแหน่งพื้นที่การลงจอดบนดาวอังคารที่ได้กำหนดไว้ ทั้งยังทำการสำรวจและวิเคราะห์ลักษณะพื้นผิว สภาพอากาศพายุทรายของดาวอังคารอย่างละเอียด เพื่อเตรียมการลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร การลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับการเดินทางสู่ดาวอังคารในครั้งนี้ ความยากในการลงจอดครั้งนี้เปรียบได้กับการตีกอล์ฟจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ให้ลอยไปลงหลุมที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นได้พอดิบพอดี ดังนั้นขั้นตอนขณะลงจอดเป็นช่วงที่มีความอันตรายที่สุด ถือได้ว่าเป็น “9 นาทีแห่งความน่ากลัว” ที่ทำให้ใจหายใจคว่ำอกสั่นขวัญหายเลยทีเดียว ปัจจุบันอัตราความสำเร็จภารกิจสำรวจดาวอังคารของมนุษยชาติมีเพียงประมาณ 50% เท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะล้มเหลวในขั้นตอน “การเข้าสู่ดาวอังคาร การลดระดับความสูง และการลงจอดบนพื้นผิว” (Entry, Descent, Landing หรือ “EDL”) ถึงแม้ก่อนหน้านี้จีนจะมีประสบการณ์การลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์มาแล้วก็ตาม แต่ภารกิจการลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคารของยานสำรวจ “เทียนเหวิน-1” ให้นุ่มนวลได้นั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายและยากลำบากยิ่งกว่า สาเหตุแรกก็คือ บรรยากาศบนพื้นผิวดาวอังคาร (มีความหนาแน่นประมาณ 1% ของบรรยากาศโลก) ดังนั้นสภาพแวดล้อมบนพื้นผิวของดาวอังคารมีความซับซ้อนมากกว่าของดวงจันทร์ และสาเหตุที่สองก็คือ ดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกไกลมากกว่าดวงจันทร์ ทำให้การรับส่งสัญญาณไปยังดาวอังคารมีความล่าช้า (Delay) ถึง 20 นาทีโดยประมาณ จึงไม่สามารถควบคุมขั้นตอนการลงจอดด้วยมนุษย์ได้ จึงต้องให้ยาน “เทียนเหวิน-1” ทำการลงจอดแบบอัตโนมัติ การสำรวจดาวอังคารไม่เพียงเป็นความก้าวหน้าของโครงการสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาล ยังเป็นความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ (Planetary science) การเดินทางไปสำรวจดาวอังคารได้แบกรับภารกิจที่สำคัญไปด้วย 5 ประการ ซึ่งภารกิจทั้ง 5 จะเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยสภาพแวดล้อมห้วงอวกาศ ลักษณะพื้นผิว และโครงสร้างชั้นผิวดินของดาวอังคารเป็นต้น และ 1 ใน 5 ภารกิจที่สำคัญได้แก่การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภาพอากาศ ซึ่งเป็นภารกิจการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิ ความกดอากาศ ความเร็วและทิศทางลมของบรรยากาศบนพื้นผิวดาวอังคาร อีกทั้งยังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสนามแม่เหล็กและแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารอีกด้วย การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ได้ไขข้อสงสัยของผู้คนจำนวนมากเกี่ยวกับคำถามที่ว่า “สภาพอากาศของดาวอังคารนั้นจริง ๆ แล้ว เป็นอย่างไรกันแน่”