ข่าวการสรรหา “อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ปีนี้ ดูจะ “แปลก” ยังไงชอบกล ที่ว่าแปลกไม่เหมือนที่อื่นๆ ก็คือ ไม่มีอาจารย์คนในสมัครเป็นอธิการบดีสักคน? ในเดือนตุลาคม 2560 ปีนี้ อธิการบดีปัจจุบันอยู่ครบ 2 วาระ อยู่ต่อไม่ได้ มีแต่ “รศ.เกศินี วิทูรชาติ” รองอธิการบดีหลายตำแหน่ง ทีมเดียวกับผู้บริหารชุดปัจจุบันรับไม้ต่อประกาศตัวอาสาเป็นผู้นำ ตามข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาอธิการบดีธรรมศาสตร์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 27 คน เป็นผู้ลงคะแนนด้วยการ vote ลับชี้ขาดว่าผู้ใดสมควรดำรงตำแหน่งคณบดีหรืออธิการบดี ที่มาของ กก.สภามหาวิทยาลัย มีสามทางใหญ่ๆ คือ เป็นกลุ่มผู้บริหารของมหาวิทยาลัยคัดเลือกกันเอง เป็นกรรมการโดยตำแหน่งเช่นประธานสภาอาจารย์ ประธานสภาพนักงาน และเป็นกก.ผู้ทรงคุณวุฒิที่คัดเลือกและแต่งตั้งโดยผู้บริหามหาวิทยาลัย “เมธาวุฒิ พีรพรวิทูร” อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมา 12 ปี ไม่ค่อยมีผู้อาสา เพราะรู้ว่าการได้โหวตเป็นอธิการบดี หรือคณบดีเป็นเรื่องยาก หาก “ไม่ได้รับพร” จากใครบางคนที่ตึกโดม แค่คนสองคนเท่านั้น แต่คุมเสียงข้างมากในสภามหาวิทาลัยและองคาพยพเกือบทั้งหมดในธรรมศาสตร์ ผู้ที่มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง ไม่สะดวกใจในการยกมือตามคำขอ ไม่อยู่ในอาณัติ ไม่ใช่คนในเครือข่าย ต่างรู้ซึ้งถึงก้นบึ้ง จึงไม่เสนอหน้า มาเป็น “ไม้ประดับ” รองรับความชอบธรรมเทียมๆ ของระบบสรรหาที่เป็นอยู่ อย่างเช่น “คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี” ที่ถูกกระทำซ้ำๆ ในการสรรหาคณบดีมาหลายสมัย จนสุดท้าย ไร้ผู้กล้าอาสาเป็นคณบดี จึงมีเพียง “ทายาท” จากตึกโดมเท่านั้น อดีตผู้บริหารท่านหนึ่งบอกผมว่า เขาลาออกหลังดำรงตำแหน่งไม่นาน เพราะรำคาญที่มีคนสั่งให้โหวตตามคำขออยู่เรื่อยๆ “รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร” อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอดีตประธาน TDRI ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "ยิ่งกว่านั้นในการสรรหาคณบดีหลายคณะ มหาวิทยาลัยไม่เลือกคณบดีที่บุคลากรสายต่างๆ ของคณะเป็นผู้เสนอมา" เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ รศ.ดร.นิพนธ์ สรุปว่า
อาจารย์ธรรมศาสตร์มีความเชื่อว่าถ้าตนสมัครเข้าชิงตำแหน่งอธิการบดี ก็คงมีโอกาสริบหรี่มาก เพราะแม้ในทางหลักการกระบวนการสรรหาจะดูเหมือนเป็นระบบเปิดที่เป็นประชาธิปไตย แต่ในทางความเป็นจริง อาจารย์จำนวนมากรู้ว่าคนที่อยู่นอกกลุ่มผู้บริหารชุดปัจจุบันคงไม่มีโอกาส เมื่อไม่มีโอกาสก็ไม่ควรเปลืองตัวลงสมัคร
คงหายแปลกใจว่า ทำไมไม่มีคนนอกกลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยชุดปัจจุบันอาสามาเป็นอธิการบดีเลย จากการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ท่านแรก “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชา คุณธรรมดี” ประธานสภาอาจารย์ และเป็นคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีโดยตำแหน่ง ปัจจุบันหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาฯ เสร็จสิ้นแล้ว เนื่องจากได้เสนอรายชื่อผู้ตอบรับการสรรหาฯ ต่อสภามหาวิทยาลัยแล้วสองคน คือ ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธุ์ และ รองศาสตราจารย์ เกศินี วิทูรชาติ ในฐานะกรรมการสรรหา จะไม่มีสิทธิ์ในการเข้ารับตำแหน่งบริหารภายใต้อธิการบดีที่ตนเองได้สรรหา ดังนั้น จึงไม่มีความขัดแย้งในผลประโยชน์ การให้ข้อมูลและความเห็นนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะจากมุมมองของผู้ที่ทำหน้าที่โดยอิสระ - กระบวนการสรรหา ต่อจากนี้เป็นอย่างไร กระบวนการสรรหาอธิการบดีเสร็จสิ้นในชั้นคณะกรรมการสรรหาฯแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนของการลงมติของคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่จะคัดเลือกตามความเหมาะสม การแถลงนโยบายต่อสภา ประชาคมธรรมศาสตร์มีโอกาสรับฟังไหม เนื่องจากการลงมติของกรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องลับ กระบวนการดังกล่าวประชาคมธรรมศาสตร์จะไม่มีโอกาสได้รับฟัง อย่างไรก็ตาม ในชั้นคณะกรรมการสรรหาฯนั้น ถือได้ว่าประชาคมธรรมศาสตร์มีโอกาสอย่างเพียงพอ ที่จะรับฟัง แต่อาจถูกจำกัดเรื่องการซักถาม เพราะมีการกำหนดเวลาการซักถามไว้เพียง 20 นาทีทราบจากคนในว่า การสรรหาปีนี้ มีผู้ประกาศตัวอธิการบดีเพียงคนเดียว ข้อมูลนี้ถูกต้องหรือไม่ - ในฐานะปธ.สภาอาจารย์ มีความเห็นอย่างไร บุคคลที่เปิดตัวเองว่าจะสมัครและเข้าสู่กระบวนการสรรหาตั้งแต่ก่อนการเสนอชื่อ มีเพียงคนเดียวจริง ในฐานะประธานสภาอาจารย์ เห็นว่า ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีนั้น ธรรมศาสตร์ ไม่ได้สร้างผู้นำภายในเพื่อมาพัฒนาธรรมศาสตร์ ทำให้การสรรหาอธิการบดีครั้งนี้แทบไม่มีใครสนใจเท่าไรนัก ในขั้นตอนเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็นอธิการบดีโดยประชาคมธรรมศาสตร์ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อจำนวนกี่ท่าน กก.สรรหา ทาบทามใครบ้าง เพราะเหตุใด มีผู้ได้รับการเสนอชื่อจำนวน 40 กว่าคน กรรมการสรรหาฯทาบทามจำนวน 5 คน เนื่องจากเป็นไปตามข้อบังคับการสรรหาอธิการบดี จากการอ่านแนวทางบริหารของท้งสองท่าน เปรียบเทียบแนวทางบริหาร ในเรื่องสำคัญ ในภาพรวม หากอ่านเร็วๆ แนวทางบริหารของผู้ตอบรับการสรรหาทั้งสองท่านคล้ายกัน จุดที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญนั้น คือ ประเด็นการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในการพัฒนามหาวิทยาลัย ซึ่งผู้ตอบรับคนหนึ่งแถลงไว้อย่างชัดเจน ในขณะที่ผู้ตอบรับอีกคนหนึ่งจะเน้นการเพิ่มสวัสดิการเจ้าหน้าที่ เน้นการสร้างนักศึกษาให้เป็นผู้นำ ปัญหาสำคัญของธรรมศาสตร์จริงๆแล้วเป็นเรื่องของการที่ต่างคนต่างทำ หากสามารถรวมสรรพกำลังของคนธรรมศาสตร์ได้ จะมีพลังในการพัฒนาอีกมาก - การตอบคำถามในการแถลงนโยบาย ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาอาจารย์ เป็นอย่างไรบ้าง ในฐานะประธานสภาอาจารย์ เห็นอย่างไร จากสภาอาจารย์ ซึ่งเป็นมติของสภาอาจารย์ นั้น ถามเรื่อง จุดยืนของผู้ตอบรับการสรรหา เรื่องการหักเงินส่วนเพิ่มเงินเดือนของอาจารย์เจ้าหน้าที่ แล้วไปขึ้นให้กับผู้บริหาร ผู้ทำคุณประโยชน์ และโควตาพิเศษของหน่วยงาน (มหาวิทยาลัยหักเงินส่วนเพิ่มเงินเดือนของข้าราชการไว้ร้อยละ 0.36 ต่อปี และหักเงินส่วนเพิ่มเงินเดือนของพนักงานมหาวิทยาลัยไว้ร้อยละ 0.18 ต่อปี) ปัญหานี้เรื้อรังมากว่าหกปีนับแต่การเปลี่ยนจากการเลื่อนขั้น เป็นการขึ้นเงินเดือนแบบร้อยละ สภาอาจารย์เห็นปัญหานี้และพยายามจะส่งสัญญาณว่าปัญหานี้นำไปสู่ความไม่เป็นธรรม เนื่องจากความไม่เท่าเทียมขั้นพื้นฐาน ตามลักษณะงาน ตามการประเมินที่มีความแตกต่างกันมากตามแต่ละหน่วยงาน นอกจากนั้นข้อร้องเรียนมาที่สภาอาจารย์ มาที่ประธานสภาอาจารย์ เรื่องเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนไม่เป็นธรรมนั้น มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหนึ่งคือการที่มหาวิทยาลัยได้งบประมาณมาจากสำนักงบประมาณเป็นร้อยละ ตามฐานเงินเดือน และเกณฑ์การขึ้นเงินเดือนตามประกาศนั้น ไม่ได้มีที่ใดให้อำนาจผู้บริหารไว้ในการหักไว้ก่อนส่วนหนึ่งแล้วจึงจัดสรรให้กับหน่วยงาน และการสอบถามทั้งจากสภาอาจารย์ และประชาคมนั้น ก็สอบถามเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และความเป็นธรรม เพราะการรับรู้เรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหา ส่วนตัวผมเห็นว่า ถามได้ เพราะเป็นปัญหาของทุกคน นอกจากนั้น หากสังเกตปัญหาของสภาพนักงานฯ ก็พบว่าเป็นเรื่องสวัสดิการ เป็นเรื่องการบริหารกองทุนสวัสดิการฯ ซึ่งหมายถึง การบริหารที่ผ่านมาสมควรที่จะปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และการมีส่วนร่วมจะช่วยลดข้อสงสัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริหาร - มีอะไรจะฝากสื่อสารกับสังคมภายนอกบ้างครับ ผมคิดว่า การสรรหาอธิการบดี หรือผู้นำองค์กรทางด้านการศึกษานั้น สิ่งที่ควรเรียนรู้คือ “การศึกษา” เป็นกิจการประเภทหนึ่งที่จำเป็นต้องจัดการอย่างระมัดระวัง เพราะเกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก เกี่ยวพันกับวัฒนธรรม และความเป็นไปของชาติ การได้มาซึ่งอธิการบดีหรือผู้นำองค์กรด้านการศึกษา จึงต้องการคนที่เหมาะสม เป็นคนดี คนเก่ง ไม่ใช่คนที่จะเข้ามาโดยมีผลประโยชน์แอบแฝง หรือเป็นเกียรติภูมิส่วนบุคคล เพราะหากคนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งมีความไม่เหมาะสมแล้ว การคาดหวังให้การพัฒนาการศึกษาของชาติจะดีได้นั้น ก็เห็นว่าจะดูห่างไกลจากความเป็นจริง ขณะที่ “ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์” ทีมงานสืบค้นข้อมูลย้อนหลังไปในปี 2556 ปรากฏว่าไม่มีใครลงสมัครแข่งขันเป็นอธิการบดีเช่นกัน อธิการบดีคนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระ ได้เป็นอธิการบดีสมัย 2 โดยไร้คู่แข่ง ดูจากรายงานผลการเสนอชื่ออธิการบดี วันที่ 12 ก.ย.56 นอกจากทีมผู้บริหารปัจจุบันแล้ว ศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ ได้รับการเสนอชื่อมาเป็นลำดับที่ 2 และในปี 2560 ครั้งนี้ที่เพิ่งมีการเสนอชื่อไปเมื่อวันที่ 29 ส.ค.60 อาจารย์กำชัย ก็ได้รับการเสนอมาที่ 2 อีก ทั้งๆ ที่ทั้ง 2 ครั้ง ไม่เปิดตัว ไม่อาสาชิงตำแหน่งอธิการบดี - อยากทราบครับว่าทำไมปี 2556 และปีนี้ อาจารย์ไม่ลงแข่งขันเป็นอธิการบดี ทั้งๆ ที่เห็นได้ว่า นอกจากทีมผู้บริหารปัจจุบันแล้ว ชาวธรรมศาสตร์เขาเชื่อมั่นในตัวอาจารย์มาก ผมเห็นว่าพ้นเวลาผมไปแล้วครับ ขอขอบคุณประชาคมธรรมศาสตร์ที่ยังคิดถึงผมครับ -ไม่คิดจะกลับมาช่วยธรรมศาสตร์หรือ? ถ้ามีโอกาส ผมเกิดและเติบโตจากธรรมศาสตร์ ผมเต็มใจและยินดีมาก หากผมสามารถมาช่วยธรรมศาสตร์ได้ แต่ธรรมศาสตร์เปลี่ยนไปมากแล้ว และพ้นเวลา peak ของผมสำหรับธรรมศาสตร์ไปแล้วครับ - ช่วงที่ผ่านมา อาจารย์ไปทำอะไร หลังจากพ้นตำแหน่งผู้บริหารไปแล้ว ผมเคารพกติกา เมื่อพ้นหน้าที่ก็หันกลับมาทำหน้าที่อาจารย์เต็มตัว ยังคงช่วยงานคณะและมหาวิทยาลัยเต็มที่ เราอยู่ฐานะไหนก็ช่วยธรรมศาสตร์ได้ครับ ผมเป็นอาจารย์ก็รักษาหน้าที่อย่างดี ช่วยเป็นหัวหน้าสาขาวิชา ผู้อำนวยการโครงการ ทำวิจัย สอนหนังสือ ฯลฯ ผลการขึ้นเงินเดือนประจำปี ผมขึ้นบอร์ดดีมากดีเด่นหลายปีต่อเนื่องตลอด ปี 2560 นี้ก็เช่นกันครับ ในส่วนภายนอก มธ. ผมก็ไปช่วยงานหน่วยงานของรัฐต่างๆ เป็นที่ปรึกษาบ้าง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบ้าง ผู้เชี่ยวชาญบ้าง กรรมการบ้าง หลากหลายหน้าที่ เช่น กก.ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับและบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (ส.บ.น.) ตลาดหลักทรัพย์ กรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กสทช. กกต. ปปช. กสม. คปภ. กฤษฎีกา ฯลฯ การดำรงตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้นอกจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีประโยชน์อย่างมากในการสอนหนังสือทั้ง ป.ตรี ป.โท ด้วยครับ นักศึกษาที่เรียนกับผมจะตื่นเต้นและได้นำทฤษฎีไปปรับใช้กับกรณีศึกษาต่างๆ มากมาย - แล้วทำไมมาวันนี้ ไม่ปฏิเสธการทาบทามของ กก.สรรหา เดินไปแถลงนโยบายต่อสภามหาวิทยาลัย ผมเชื่อว่า หากท่านเป็นผม อยู่ในสถานะและบรรยายกาศที่ศิษย์เก่าและชาวธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ผมให้ความเคารพเรียกร้องและสนับสนุน หลายคนไม่เคยรู้จักกับผมเป็นการส่วนตัวเลย เขาเสียสละและยอมเปลืองตัว ผู้ใหญ่และชาวธรรมศาสตร์เหล่านี้เขารักมหาวิทยาลัย ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เขาเห็นว่าผมเป็นความหวัง ผมจะตัดสินใจเป็นอื่นได้อย่างไร การตัดสินใจครั้งนี้จึงไม่ใช่เพื่อส่วนตัว เป็นเรื่องส่วนรวม เพื่อธรรมศาสตร์ครับ - หากได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดี จะทำอะไรบ้าง ยกตัวอย่างสัก 2-3 เรื่อง ผมจะรวมพลัง คนในธรรมศาสตร์รู้กันดีว่าบุคลากรธรรมศาสตร์ที่เก่งๆ เรามีมาก ทั้งในสายสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศาสตร์ แต่โดยสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้พลังที่มีกระจัดกระจาย ไร้ impact ผมจะให้เกียรติ ผมจะเชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วม ผมจะเปลี่ยนแนวทางการบริหารงาน ธรรมศาสตร์เราจะเดินไปด้วยกัน ผมจะเพิ่มพลังธรรมศาสตร์โชคดี เรามีศิษย์เก่าอีกกว่า 300,000 คนที่รักและผูกพันกับแม่โดม ผมจะเชิญและเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่ากลับมาร่วมพัฒนา นอกจากนี้ผมจะต่อแขนต่อขา ประสานงานร่วมมือกับสถาบันทางวิชาการ องค์กรทางเศรษฐกิจ องค์กรมหาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน ฯลฯ สร้างความแข็งแกร่งไปด้วยกัน และธรรมศาสตร์ จะผลิตบัณฑิตให้รู้กว้าง รู้ลึก เก่งทั้ง hard skill soft skill มีคุณธรรมและจริยธรรม ธรรมศาสตร์จะน้อมนำเอาศาสตร์พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงานและดำเนินชีวิตที่เป็นต้นแบบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาถ่ายทอดปลูกฝังให้บัณฑิตธรรมศาสตร์มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน นอกจากนี้เราจะนำเอาองค์ความรู้ที่ทันสมัย บูรณาการและสามารถตอบโจทย์ประเทศได้ไปก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและประเทศชาติ โครงการธรรมศาสตร์เพื่อสังคม, TU Academic Festival, Healthy Campus, TU Anywhere Anytime Any device เป็นตัวอย่างรูปธรรม -มั่นใจว่าจะชนะในสภาหรือไม่ ผมทำหน้าที่ของผมดีที่สุดแล้ว และผมเคารพกติกาครับ ข่าวที่เกี่ยวข้อง