พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตผ่านครบ ๑ ปี หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันฉบับพิเศษ จำนวน ๑๒ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑๘-๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ เพื่อร่วมแสดงความอาลัย ตอนที่ ๘ ธ สถิตในดวงใจนิจนิรันดร์ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในช่วงระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 จัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ มหาราชผู้เกริกไกร เพื่อจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ถึงพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้น ที่ทรงมีต่อปวงพสกนิกรชาวไทย ตลอด 7 ทศวรรษแห่งการครองราชย์ บทความพิเศษ “ธ สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์” เรียบเรียงขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลโดยสังเขป เรื่องพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร ของพระมหากษัตริย์ ภายหลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วนั้นจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ แห่งใด เพื่อที่ปวงชนชาวไทยควรได้ศึกษา พึงรำลึกและกราบสักการบูชาต่อไป “...ตามประเพณีโบราณ พระบรมอัษฐิของเจ้าแผ่นดิน ย่อมบรรจุไว้ในพุทธสถานอย่างใดอย่างหนึ่ง นับถือว่าเปนเจดีย์วัตถุสำหรับพระนคร มีแต่พระองค์ละแห่งเดียว ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาจนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อถึงรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร จึงเกิดประเพณีรักษาพระบรมอัฐิไว้ในพระราชวัง ...พระบรมอัษฐิ ของพระเจ้าแผ่นดิน ที่บรรจุในเจดียสถานตามประเพณีโบราณ หรือที่ประดิษฐานไว้ในพระราชวัง ตามประเพณีในกรุงรัตนโกสินทรนี้ มีสภาพเปนของหลวง หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งก็เปนสมบัติของบ้านเมือง...” (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: อันเนื่องด้วยความตาย) การเก็บรักษาพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร ของพระมหากษัตริย์ นั้นมีมาแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งความตามหนังสือ “เสด็จสู่แดนสรวง” ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุ ในหัวเรื่องพระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ในสมัยรัตนโกสินทร์โดยสังเขป โดย ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ระบุถึงขั้นตอน การเก็บพระบรมอัฐิ ว่า “... เมื่อเสร็จสิ้นการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว รุ่งขึ้นจะเป็นการเก็บพระบรมอัฐิ และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลภายในพระเมรุมาศ ซึ่งมีขั้นตอนบางประการที่น่าสนใจ คือการสรงพระบรมอัฐิด้วยน้ำพระสุคนธ์แล้วจึง “แจงพระรูป” หมายถึงการเชิญพระบรมอัฐิหรือกระดูก รวมทั้งพระอังคารหรือเถ้าถ่าน ที่ถวายพระเพลิงเสร็จแล้วมาเรียงให้เป็นรูปคน โดยให้รูปศีรษะอยู่ทางทิศตะวันตก แล้วจึง “แปรพระรูป” โดยเรียงรูปใหม่ให้รูปศีรษะหันกลับมาทางทิศตะวันออก จากนั้นพระสงฆ์สวดสดับปกรณ์ แล้วจึงประมวลพระบรมอัฐิบรรจุลงในพระโกศพระบรมอัฐิ เมื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมอัฐิเสร็จแล้ว จึงเชิญพระโกศพระบรมอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง การอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวังนั้น แต่เดิมกระบวนอัญเชิญพระบรมอัฐิ และพระอังคารจะแยกกัน โดยจะอัญเชิญพระอังคารไปลอยยังวัดปทุมคงคา หรืออาจเป็นวัดยานนาวา แต่ในสมัยรัชกาลที่ 6การลอยพระอังคารนี้ได้ยกเลิกไปในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยรวมกระบวนพระบรมอัฐิ เชิญด้วยพระที่นั่งราเชนทรยาน และพระอังคาร เชิญด้วยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย เข้ากระบวนเดียวกันตามลำดับ แล้วเคลื่อนจากพระเมรุมาศไปยังพระบรมมหาราชวัง จากนั้นเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานบนบุษบก ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมอัฐิ อีกครั้ง ก่อนจะอัญเชิญไปประดิษฐานยังสถานที่อันควรสักการบูชาต่อไป
“...การลอยพระอังคารนี้ ได้ยกเลิกไปในพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว..”
สำหรับที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ ในพระบรมมหาราชวัง นั้นประกอบด้วย หอพระธาตุมณเฑียร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่พระมหามณเฑียร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ ของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาล ที่ 2 สมเด็จพระศรีสุลาลัยพระราชชนนี ในรัชกาลที่ 3 และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทั้ง 3 พระองค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทขึ้น โดยมีรูปแบบ เป็นอาคารแบบยุโรป แต่มียอดทรงปราสาทอย่างไทยประเพณีเรียงกัน 3 องค์ โดยยอดพระมหาปราสาทองค์กลาง ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิ พระบรมราชบุพการี คือพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ต่อมายังเป็นที่ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 ด้วย ในขณะที่ยอดพระมหาปราสาทองค์ตะวันตก เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ ส่วนยอดทิศตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร นอกจากนี้ ยังมีราชประเพณีในการบรรจุพระบรมอัฐิ หรือพระอังคารที่พระพุทธอาสน์ของพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถของพระอาราม ที่พระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาลทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นหรือที่ทรงมีพระราชอนุสรณ์สัมพันธ์กับพระอารามนั้น โดยราชประเพณี ดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่โปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานพระบรมอัฐิบางส่วน ของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1-3 ที่พระพุทธอาสน์ของพระพุทธรูปประธานในพระอารามสำคัญเนื่องในรัชกาลนั้นๆ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม และวัดราชโอรสาราม ตามลำดับ และยังได้ประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำแต่ละรัชกาล ไว้ที่ผ้าทิพย์หน้าพระพุทธอาสน์ ทำให้ถือกันว่าวัดดังกล่าวเป็นวัดประจำรัชกาล ในส่วนพระองค์เองนั้นมีรับสั่งไว้ว่าให้บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ ที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ต่อมามีการบรรจุพระบรมอัฐิ หรือพระอังคารของรัชกาลอื่นๆ ภายใต้พระพุทธอาสน์ ของพระพุทธรูปประธาน ในพระอารามหลวง ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับแต่ละรัชกาล ได้แก่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งบรรจุพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 วัดบวรนิเวศวิหารและวัดพระปฐมเจดีย์ บรรจุพระอังคารของรัชกาลที่ 6 วัดสุทัศนเทพวราราม บรรจุพระอังคารของรัชกาลที่ 8
“...ต่อมามีการบรรจุพระบรมอัฐิ หรือพระอังคารของรัชกาลอื่นๆ ภายใต้พระพุทธอาสน์ ของพระพุทธรูปประธาน ในพระอารามหลวง...”
๐ พระโกศพระบรมอัฐิ เมื่อพระบรมอัฐิของมหากษัตริย์ เปรียบดังสมบัติของบ้านเมือง สิ่งที่ใช้บรรจุย่อมต้องมิใช่ของธรรมดา พระโกศพระบรมอัฐิ สำหรับบรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระราชินีหรือพระประยูรวงศ์ นั้นมีมาแต่อดีต มักสร้างด้วยโลหะมีค่า เช่น ทอง เงิน หรือโลหะอื่นแล้วกะไหล่ด้วยทองประดับอัญมณี หรือรัตนชาติ เพื่อให้สมพระเกียรติ ตัวพระโกศเป็นทรงกระบอกหรือทรงกลม ปากผายและฝาสำหรับปิดส่วนบน ถ้าเป็นระดับสูงมักมียอดทรงมงกุฎ ประดับด้วยพุ่ม หรือฉัตรตามฐานันดรศักดิ์ ประดับตกแต่งให้สมพระเกียรติด้วยดอกไม้เอวที่ส่วนฐาน ดอกไม้เพชร หรือดอกไม้ไหวที่ส่วนฝาและเฟื่องพู่ระย้าที่ปากฝาพระโกศ ภายในบรรจุพระโกศศิลา ซึ่งทำด้วยศิลาสีขาว เป็นทรงกระบอกมีฝาเช่นเดียวกัน เพื่อใช้บรรจุพระบรมอัฐิ โดยพระโกศศิลาจะอยู่ชั้นในรองจากพระโกศทองด้านนอก สำหรับงานสร้างพระโกศพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แบ่งออกเป็น 4รูปแบบ คือพระโกศพระบรมอัฐิ ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระโกศพระบรมอัฐิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระโกศพระบรมอัฐิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระโกศพระบรมอัฐิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ดังภาพต้นแบบ พระโกศพระบรมอัฐิ รัชกาลที่ 9 ออกแบบเป็นพระโกศเก้าเหลี่ยมตลอดองค์เป็นครั้งแรก เพื่อให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ 9 ยอด ซึ่งแตกต่างจากแบบของพระโกศพระบรมอัฐิ ที่นิยมสร้างกันมาเป็นพระโกศแปดเหลี่ยม นอกจากนี้ แนวคิดยังสื่อถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระบรมราโชวาทของพระองค์ หรือ 9 คำพ่อสอน อาทิ ความเพียร ความซื่อสัตย์ ความดี คุณธรรม ความรู้ตัว ความพอดี โดยเฉพาะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระราชทานแก่คนไทย ถือเป็นประโยชน์น้อมนำมาปฏิบัติในการดำรงชีวิต ส่วนสำคัญ คือ ส่วนองค์พระโกศ เป็นลายกลีบบัวจงกลซ้อนขึ้นไปหาปากพระโกศ จำนวน 4 ชั้น ตรงกลางทำเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร.โดยพระนามาภิไธยย่อวางบนรัตนชาติ ส่วนฝาพระโกศทำเป็นยอดทรงมงกุฎเกี้ยวมาลัยทองเรียงลำดับขึ้นไปตั้งแต่ชั้นที่ 1,2,3 และ 4 ช่างศิลปะไทยโบราณเรียก “ทรงจอมแห” ส่วนยอดพระโกศสร้างสองแบบ ได้แก่ แบบพุ่มข้าวบิณฑ์ ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ประดับเพชร และแบบสุวรรณฉัตร ฉัตร 9 ชั้น ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ...พระโกศทองคำลงยาสีองค์นี้ ถือว่ามีความวิจิตรบรรจงด้วยว่า ประดับเพชรเจียระไนสีขาว อย่างอลังการเพื่อให้สมพระเกียรติ... ดังภาพต้นแบบพระโกศพระบรมอัฐิในหลวงรัชกาลที่ 9สำหรับทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระโกศจําหลักด้วยทองคําลงยา ประดับเพชร ฝาพระโกศทองจําหลักลงยา ประดับเพชร ปักดอกไม้เพชร ที่ชั้นเชิงบาตร3ชั้น ยอดปักพุ่มข้าวบิณฑ์ ดอกไม้เพชร ขอบฝาประดับเฟื่องอุบะ ดอกไม้เพชรทั้ง8เหลี่ยม ห้อยจากดอกไม้ทิศประดับเพชร8ดอก ฐานพระโกศพิเศษที่เป็นชุดหน้ากระดานฐานสิงห์ มีครุฑยุดนาค ที่ท้องไม้บัวเชิงบาตร ใต้บัวปากฐาน16ตัว ท้องไม้บัวเชิงบาตรหลังครุฑยุดนาคมีเฟื่องอุบะห้อยประดับอยู่จําหลักด้วยทองลงยา ประดับเพชร บนบัวปากฐาน ประดับช่อดอกไม้เพชร24ช่อ ในส่วนของหน้ากระดานฐานพระโกศนั้น จําหลักทองลงยา ความว่า “พระโกศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙” แต่ละเหลี่ยมมีโครงการในพระราชดําริ ในรัชกาลที่ 9เช่น โครงการแกล้งดิน, กังหันชัยพัฒนา พระโกศทั้งองค์ลงยาด้วยสีเหลือง, ขาว เป็นสีวันพระบรมราชสมภพ สีเขียว เป็นเดชของวันพระบรมราชสมภพ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9ประดิษฐานบนแท่นไม้ ปักฉัตรคันดาลทองคํา ลงยาขาว 9ชั้นกั้นถวาย สำหรับฉัตรพระโกศระบายจำหลักฉลุทอง สาบผ้าขาว ลงยาขาวใส ประดับเพชร
“...พระโกศทองคำลงยาสีองค์นี้ ถือว่ามีความวิจิตรบรรจงด้วยว่า ประดับเพชรเจียระไนสีขาว อย่างอลังการเพื่อให้สมพระเกียรติ...” พระบรมราชสรีรางคาร
“พระบรมราชสรีรางคาร” คือเถ้าถ่านที่ปะปนกับพระบรมอัฐิชิ้นเล็กชิ้นน้อย ของพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี และสมเด็จพระบรมราชบุพการี ที่เผาแล้ว ซึ่งอาจเรียกว่า “พระสรีรางคาร” ตามลำดับพระอิสริยยศของพระบรมวงศ์ และเรียกว่า “อังคาร” สำหรับสามัญชน ในการนี้ พระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะอัญเชิญไปประดิษฐานในพระถ้ำศิลา ที่ฐานชุกชีพระประธานพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และที่ฐานองค์พระพุทธชินสีห์ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้รับมอบหมายให้ออกแบบ “ผอบ” อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร องค์ใหม่ โดยได้ศึกษารูปแบบจากผอบองค์เดิมที่มีอยู่แล้ว และนำมาประยุกต์ออกแบบใหม่ให้มีรูปทรงและลวดลายชั้นเชิงต่างๆ งดงามสมพระเกียรติยิ่งขึ้น ผอบองค์นี้แบ่งส่วน3ส่วนได้แก่ ส่วนที่เป็นฐาน ส่วนตัวผอบ และส่วนที่เป็นฝา ซึ่งส่วนฐานจะมีชั้นหน้ากระดานบัวคว่ำ รองรับชั้นลูกแก้ว มีลวดและท้องไม้สลับคั่นระหว่างชั้นลูกแก้ว โดยลวดลายลูกแก้วหรือชั้นเกี้ยวตามโบราณราชประเพณีจะใช้ออกแบบเครื่องสูงสำหรับพระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในลวดลายประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ ส่วนตัวผอบเป็นทรงดอกบัวบาน มีลักษณะทรงกลม ลักษณะพิเศษของผอบองค์ใหม่มีกลีบบัวขนาดเล็กรองรับสลับกันไป ส่วนกลีบบัวของผอบจะมีขนาดเล็กกว่าองค์เดิมและมีเส้นเดินรอบกลีบ ด้านในกลีบเพื่อให้เกิดน้ำหนักและมิติของงานสลักดุน ตรงกลางกลีบบัวจะทำเป็นสันขึ้นมาเมื่อเวลาแสงตกกระทบจะทำให้เกิดแสงเงาที่สวยงาม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10นิ้ว ส่วนฝาเป็นลักษณะยอดทรงมัณฑ์ มีชั้นหน้ากระดานถัดขึ้นไป ถัดขึ้นมาใช้เป็นชั้นบัวคว่ำ 3 ชั้น ลักษณะบัวคว่ำชั้นแรกจะมีขนาดใหญ่ ชั้นถัดไปจะลดหลั่นไปตามสัดส่วนและรูปทรง โดยจะมีการสลักดุนเหมือนกับกลีบบัวที่ตัวผอบเพื่อให้เกิดมิติของแสงเงาเพื่อให้เกิดความสวยงาม ถัดจากชั้นกลีบบัวจะเป็นปลียอดและชั้นบนสุดจะเป็นลูกแก้ว หรือเม็ดน้ำค้าง โดยมีรูปทรงกลมและส่วนปลายจะเรียวแหลมเล็กน้อยลักษณะเป็นดอกบัวตูม การจัดสร้างผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารองค์ใหม่นี้ จัดสร้างขึ้น 2องค์โดยใช้วัสดุโลหะเนื้อเงินมาทำการขึ้นรูปเป็นวิธีการแบบช่างโบราณ โดยการกลึงหุ่นแบ่งเป็นส่วนฐาน ส่วนตัวผอบ และส่วนฝาผอบ หลังจากกลึงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำมาถอดพิมพ์ด้วยยางซิลิโคน เมื่อได้พิมพ์ยางซิลิโคนแล้ว จะนำเรซิ่นมาเทในพิมพ์ยางซิลิโคน เมื่อเสร็จจากขั้นตอนนี้ก็จะได้หุ่นเพื่อการเคาะขึ้นรูป โดยนำโลหะเงินมาหลอมรีดให้เป็นแผ่นมีความหนาตามที่ต้องการ จากนั้นเคาะให้เกิดรูปทรงตามหุ่นดังกล่าวแต่ละส่วนจนสำเร็จเป็นรูปทรง ส่วนฐาน ตัวผอบ และฝา จากนั้นช่างจะนำมาสลักดุนตามแบบและลวดลายที่ออกแบบไว้จนสำเร็จออกมา แล้วจึงนำแต่ละส่วนกะไหล่ทองจนสำเร็จแล้วทำการประกอบแต่ละส่วนเข้าด้วยกันจนสำเร็จเป็นผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร ทั้งพระโกศพระบรมอัฐิ และผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร จัดทำขึ้นงดงามสมพระเกียรติ ๐ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หนึ่งในพระอารามหลวงที่จะเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมราชสรีรางคาร ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และนับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ ทรงสร้างตามราชโบราณประเพณีที่มีการสร้าง “วัดประจำรัชกาล” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมา คือ เสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ ล้อมรอบอาณาเขตของวัด วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แห่งนี้ถือเป็นวัดประรัชกาลที่ 5 และเป็นสถานที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของเจ้านายในราชตระกูล โดยพระอุโบสถภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทยแท้ ประกอบด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์รูปเทพพนม ภายในเป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิค พระประธาน คือ “พระพุทธอังคีรส” ซึ่งฐานบัลลังก์บรรจุพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าหัวอยู่ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
“...วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แห่งนี้ถือเป็นวัดประรัชกาลที่ 5 และเป็นสถานที่บรรจุพระอัฐิ และพระสรีรางคาร ของเจ้านายในราชตระกูล...”
ทั้งนี้ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ยังมีเขตสุสานหลวง ซึ่งสร้างขึ้นภายหลังตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักรของวัด ด้านติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา ตลอดจนพระราชโอรส พระราชธิดาในพระองค์ และอนุสาวรีย์บางส่วนพระบรมวงศานุวงค์ ทรงสร้างขึ้นภายหลัง ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม และแบบโกธิค โดยตั้งอยู่ในสวนมีพรรณไม้นานาพันธุ์งดงาม พระพุทธอังคีรส สำหรับอนุสาวรีย์ที่สำคัญๆ ในสุสานหลวงแห่งนี้ เช่น สุนันทานุสาวรีย์ บรรจุพระสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ รังษีวัฒนา บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า รวมทั้งพระราชสรีรางคารของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี "สมเด็จย่า" ก็ได้รับการบรรจุเคียงคู่กับพระบรมราชชนกในรัชกาลที่ 9 ด้วย เสาวภาประดิษฐาน บรรจุพระสรีรางคาร พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง และสุขุมาลย์นฤมิตร บรรจุพระสรีรางครสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ๐ วัดบวรนิเวศวิหาร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แห่งนี้จะเป็นสถานที่สำคัญ บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9 กล่าวถึง พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวริวหาร(ฝ่ายธรรมยุต) แห่งนี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 3ทรงสร้างขึ้นเพื่อปลงศพเจ้าจอมมารดา (น้อย) ของพระองค์เจ้าดาราวดี พระราชชายา ระหว่าง พ.ศ.2367 และ พ.ศ.2375และวัดนี้อยู่ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาส ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2366 เมื่อ พ.ศ.2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎฯ มาครองวัดนี้ ขณะทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน) เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงปรับปรุงวางหลักเกณฑ์ความประพฤติปฏิบัติพระสงฆ์ ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย โดยมีพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระองค์เป็นอันมาก ในคราวที่พระองค์เสด็จมาครองวัดก็ได้นำการประพฤติปฏิบัตินั้นมาใช้ในการปกครองพระสงฆ์ ณ วัดบวรนิเวศฯ ด้วย ซึ่งในครั้งเดิมเรียกพระสงฆ์คณะนี้ว่า “บวรนิเวศาทิคณะ” อันเป็นชื่อสำนักวัดบวรนิเวศฯ ต่อมาได้ชื่อว่า “คณะธรรมยุติกนิกาย” แปลว่า คณะสงฆ์ผู้ซึ่งปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จึงถือว่าวัดบวรนิเวศฯ เป็นสำนักเอกเทศแห่งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเป็นวัดแรก พระพุทธชินสีห์ ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า วัดรังษีสุทธาวาส ซึ่งอยู่ติดกับวัดบวรนิเวศฯ นั้นมีสภาพทรุดโทรมมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมเข้าเป็นวัดเดียวกับวัดบวรนิเวศฯ เรียกว่า “คณะรังษี” และภายหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร มาบรรจุไว้ ณ ใต้บัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศฯ ทั้งนี้ วัดบวรนิเวศวิหาร มีความสำคัญในหลายแง่มุม ...เป็นจุดกำเนิดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เพราะเป็นที่สถิตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชอยู่ และทรงดำริเริ่มปรับปรุงวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ อันเป็นเหตุให้เกิดเป็นพระสงฆ์คณะธรรมยุต ในเวลาต่อมา ...เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช องค์ประมุขของคณะสงฆ์ไทยถึง4พระองค์ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ...เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ที่เสด็จออกทรงผนวชทุกพระองค์ นับแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตลอดถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ทรงผนวช เกือบทุกพระองค์ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศฯ เมื่อปี 2499 ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน เป็นเวลา 15 วัน ทรงได้รับสมญานามจากพระราชอุปัชฌาจารย์ว่า “ภูมิพโล”
...ทรงได้รับสมญานาม จากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า “ภูมิพโล”
...เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาซึ่งสร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไทย สมัยกรุงสุโขทัย สมัยเดียวกับพระพุทธชินราช พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ เคยประดิษฐานอยู่ด้วยกัน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทคู่บนศิลาแผ่นใหญ่ สมัยสุโขทัยและพระไสยา(พระนอน)ที่งดงามสมัยสุโขทัย ด้วย ที่สำคัญ ยังมีพระพุทธรูปสำคัญ2องค์ ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 9 คือพระพุทธสยามาภิวัฒนบพิตรภูมิพลนริศทสสหัส สทิวัลรัชการี ปัณณาสวรรษศรีอุภัย มหามงคล โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อในลีลาปางห้ามแก่นจันทน์ ขนาดเท่าพระองค์ เมื่อปี 2520และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้บนฐานชุกชี เบื้องพระหัตถ์ขวาพระพุทธชินสีห์ ภายในพระอุโบสถ และพระพุทธวิโลกนญาณบพิตรสิริกิติธรรมโสตถิมงคล ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปประจำพระชมนวาร (ปางรำพึง) ขนาดเท่าพระองค์ขึ้น เมื่อปี 2520 เช่นกัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้บนฐานชุกชีเบื้องพระหัตถ์ซ้าย พระพุทธชินสีห์ ภายในพระอุโบสถ นอกจากนี้ ยังมีสถานที่สำคัญที่ควรรู้ควรทราบกันก็เห็นจะเป็น พระสถูปเจดีย์ ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้ามุขด้านทิศตะวันออก ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ พระอัฐิ และพระราชสรีรางคารของพระบรมวงศานุวงศ์ หรือพระประยูรญาติผู้สืบสายตรงแห่งราชสกุลมหิดล จากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระบรมราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระสถูปเจดีย์แห่งราชสกุลมหิดล วัดปทุมวนาราม ๐ พระสถูปเจดีย์บรรจุพระสรีรางคารของแต่ละพระองค์ ดังนี้ พระทนต์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า บรรจุเมื่อปี 2472 พระราชสรีรางคารบางส่วนของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก บรรจุเมื่อปี 2472 พระทนต์ของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร บรรจุเมื่อปี 2481 พระบรมราชสรีรางคารส่วนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 บรรจุเมื่อปี 2538 พระอัฐิส่วนหนึ่งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สมเด็จย่า” บรรจุเมื่อปี 2538 พระทนต์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บรรจุเมื่อปี 2539 จึงกล่าวได้ว่า พระสถูปเจดีย์ ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เป็นสถานที่สถิตสุดท้ายแห่งราชสกุลมหิดล ภาพเทคนิคสีพลาสติค - นุชา ไกรสรรัตน์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือ ดวงใจของปวงชนชาวไทย ทรงเป็นพลังของแผ่นดิน ทรงสร้างความสุขสวัสดิ์แก่ประชาชนของพระองค์ มายาวนานถึง 7 ทศวรรษ จากวันมหาวิปโยค ปวงชนชาวไทยน้ำตานองทั้งผืนแผ่นดิน ความโทมนัสกล้ำกรายไปทุกแห่งหน แต่คล้ายกับมีสิ่งเตือนให้ระลึกถึงชีวิตและหน้าที่...หน้าที่ของประชาชนคนไทย จากความโศกเศร้าแปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่งความสมัครสมานสามัคคี และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ...เย็นศิระเพราะพระบริบาล...ก็ด้วย “ในหลวงในดวงใจ” นับจากนี้คือการตอบแทนคุณแผ่นดิน ทำหน้าที่ของคนแต่ละคน อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติสืบไป ขอน้อมศิระกรานสักการะ ธ สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์ Download:: สยามรัฐรายวันฉบับพิเศษ ตอนที่ ๘ ธ สถิตในดวงใจนิจนิรันดร์ ขอบคุณภาพชุด วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สุสานหลวง วัดบวรนิเวศวิหาร และพระสถูปเจดีย์ วัดปทุมวนาราม โดย พสุพล ชัยมงคลทรัพย์ ช่างภาพ นสพ.สยามรัฐ ขอบคุณ ศิลปิน - นุชา ไกรสรรัตน์ เป็นชาวอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นอดีตนักวาดโปสเตอร์หนังที่มีเทคนิคในการใช้สีพลาสติก ฝีมือดีหายากคนหนึ่ง "ผมชอบเขียนรูปในหลวงขอให้ได้พระบรมฉายาลักษณ์สวยๆ ของท่านมาก็เขียนหมด ส่วนมากเป็นรูปเหมือน และก็อยากให้ออกมาดูดี ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่าให้ดูหล่อ อันที่จริงภาพนี้ตั้งใจจะเขียนให้เต็มองค์ที่ท่านประทับพระหัตถ์วางบนพระอูรุ (ต้นขา) ให้เห็นถึงพระบาท แต่ที่เขียนออกมาก็ถือว่า ได้ตามที่ตั้งใจ" ข้อมูลอ้างอิง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ. (2551) อันเนื่องด้วยความตาย สูจิบัตรเนื่องในงานสัปดาห์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร. กรุงเทพฯ : เอราวัณการพิมพ์. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. (2560) “เสด็จสู่แดนสรวง” ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุ. กรุงเทพฯ : มรภ.สวนสุนันทา. นนทพร อยู่มั่งมี. (2553) ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ สุสานหลวง. กรุงเทพฯ : มติชน. http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=47372 เว็บบอร์ดลานธรรมจักร กระทู้พระสถูปเจดีย์แห่งราชสกุลมหิดล วัดปทุมวนาราม โพสต์วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2016 http://www.kingrama9.th/massmedia/ebookTH อีบุ๊กคู่มือสื่อมวลชน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันที่ 25-26 ตุลาคม 2560