สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งกระแสข่าวการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก เร่งให้เงินทุนไหลเข้าจับจองซื้อสินทรัพย์ระยะสั้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชีย ช่วง 7 วันที่ผ่านมาสูงถึง 4,631 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นจำนวน 162,085 ล้านบาท เงินทุนจากทั้งทั่วโลกไหลเข้าตลาดการลงทุนระยะสั้นทั้งในเอเชียและประเทศไทยอย่างรุนแรง เฉพาะประเทศไทย ในช่วง 7 วันทำการก่อนหน้าประเทศไทยจะหยุดยาวในช่วงเทศกาลวันสำคัญทางพุทธศาสนา มีเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหุ้นของไทย คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้นสูงถึง 18,000 ล้านบาท เป็นไปในทิศทางเดียวกับเอเชีย ซึ่งมีเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าลงทุนในเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียทั้งหมด ด้วยการซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่เจ็ดติดต่อกันเช่นกัน คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้นถึง 4,631 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นจำนวน 162,085 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้าลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยต่อเนื่องมา 2 วันติดต่อกัน ก่อนหน้าประเทศไทยจะหยุดยาวในช่วงเทศกาลวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 4,292.59 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าต่อเนื่องกันถึง 7 วันทำการทีเดียว และในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม ค่าเงินบาท หลุดระดับ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน ขึ้นมาซื้อขายที่ระดับ 34.98 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯในขณะนี้ หลังจากเมื่อเช้าวันนี้ แข็งค่าขึ้นแตะระดับแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 2 เดือนที่ระดับ มิหนำซ้ำ ยังส่งผลให้ดัชนีราคาหุ้นของไทย เมื่อวันศุกร์พุ่งขึ้นปิดระดับ 1,492 จุด สูงที่สุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดการลงทุนระยะสั้นของทั่วทั้งเอเชียและของไทยอย่างแรง ในช่วง 7 วันดังกล่าว นั่นก็คือ หนึ่ง การคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ)จะออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ(QE)ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดเพิ่มเติม ซึ่งคาดการณ์กันว่า จะเป็นเงินก้อนใหญ่มโหฬาร เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำของญี่ปุ่น จากการที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างแรง จนทำระดับสูงสุดหลุดระดับ 100 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯไปซื้อขายที่ระดับ 98 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯอเมริกา อันเป็นระดับที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบหลายปี อันเป็นปัจจัยที่กดดันให้การส่งออกของญี่ปุ่นมีปัญหามาโดยตลอด การคาดการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พรรคของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกแบบถล่มทลาย กลับมาครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้นายชินโซ อาเบะ สามารถออกมาตรการต่างๆได้โดยง่าย เนื่องจากคุมเสียงครบทั้งสองสภาเบ็ดเสร็จหมดแล้ว นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศชัดเจนภายหลังการเลือกตั้ง โดยระบุว่า จะใช้มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดเท่าที่มี กระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้กลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้ได้ ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ การคาดการณ์เช่นนี้ ทำให้เงินทุนทั่วทั้งโลกจึงไหลเข้าเก็งกำไรกับตลาดหุ้นต่างๆทั่วทั้งเอเชีย ก่อนที่ญี่ปุ่นจะพิมพ์ธนบัตรอัดฉีดเงินเข้าตลาด หรือดั่งที่สื่อต่างประเทศกล่าวในขณะนี้ว่า ก่อนที่ญี่ปุ่นจะปล่อยทิ้งเงินลงมาจากเฮลิคอปเตอร์อีกครั้ง เช่นเดียวกันกับปัจจัยที่สอง ก็คือ ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอังกฤษ(BoE)จะออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินออกมาด้วยการปั๊มเงินผ่านมาตรการ QE เข้าสู่ตลาดเพื่อพยุงเศรษฐกิจของตัวเอง ในช่วงที่กำลังเจรจาเพื่อลาออกจากสหภาพยุโรป และ BoE กล่าวเอาไว้ชัดเจนว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน จะเริ่มประกาศใช้ในการประชุมเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ เช่นเดียวกับการคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป(ECB)หลังจากเศรษฐกิจของยูโรโซน ยังไม่ฟื้นตัว และมีแนวโน้มสูงที่จะเผชิญปัญหาได้รับผลกระทบจากการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร มิหนำซ้ำ การเผชิญกับการก่อการร้ายเป็นครั้งที่ 3 เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา จากการที่ผู้ก่อการร้ายขับรถพุ่งชนฝูงชน ขณะที่กำลังฉลองวันชาติฝรั่งเศส สะท้อนสัญญาณถึงเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของยูโรโซนแห่งนี้ กำลังเผชิญกับการทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายอย่างเปิดเผย ยิ่งเป็นตัวเร่งเงินลงทุนจากยุโรปเข้าสู่เอเชีย นี่ยัง มิกล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบ จากการก่อการรัฐประหารในตุรกี ซึ่งภายหลังรัฐบาลตุรกีสั่งจับผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ร่วมด้วยเป็นจำนวนถึงกว่า 20,000 คน สะท้อนสัญญาณว่า เหตุการณ์ในตุรกี ไม่น่าจะสงบลงได้อย่างรวดเร็ว มิหนำซ้ำ รายงานของ ZEW อันเป็นสถาบันเพื่อสำรวจและทำวิจัยทางด้านเศรษฐกิจของเยอรมัน ได้ทำการสำรวจถึงความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและนักลงทุนในเยอรมันในเดือนกรกฎาคมนี้ ผลออกมาปรากฏว่า ความเชื่อมั่นลดลงแตะระดับติดลบคืออยู่ที่ -6.8 (ติดลบ)พอยท์ เปรียบเทียบกับเมื่อเดือนมิถุนายนก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ระดับ 19.2 พอยท์ และนับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2012 รวมทั้งยังผิดการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9.0 พอยท์ ตามโพลสำรวจนักวิเคราะห์ของรอยเตอร์ นักลงทุนต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาวะที่มีความไม่แน่นอน ภายหลังสหราชอาณาจักรตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป นั่นคือ เหตุผลสำคัญว่า ยุโรปมิใช่ภูมิภาคที่น่าลงทุน สำหรับตลาดการลงทุนระยะสั้น !