"ความหวาดกลัวในจิตใจ เป็นปมที่ทำให้บางคนมีพฤติกรรมเป็นไปในทางลบ ทำให้เกิดการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม เช่น การใช้กำลังข่มเหงรังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า เป็นข่าวให้เห็นอยู่เป็นประจำผู้ที่เป็นเหยื่อทางอารมณ์แน่นอนว่ามักจะเป็นผู้หญิงและเด็ก ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อก็ จะเกิดแผลใจไม่รู้จักจบสิ้น" เมื่อได้ยินคำว่า "แผล" ทำให้คิดถึงการบาดเจ็บทั้งเจ็บที่กายและเจ็บที่ใจ ในช่วงชีวิตของทุกคนคงเคยมีรอยแผลที่อาจจะลบเลือนหายไป หรืออาจจะทิ้งร่องรอยไว้ให้จดจำ นานไปเรียกว่า "แผลเก่า" หลายคนคงเคยได้อ่าน นวนิยายของ ไม้ เมืองเดิม ซึ่งได้นำมาเป็นบทละครที่ชวนติดตาม และชอบเรื่องนี้มากเช่นกันแต่ "รอยแผลเก่า" ในวันนี้จะพูดถึงบาดแผลในจิตใจ ที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า Trauma รอยแผลนี้มีด้วยกันทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง ความเศร้าโศกเสียใจ ความสูญเสียความทุกข์กายและทุกข์ใจทั้งหลายความเจ็บปวดรวดร้าว กลายเป็นแผลที่เกิดขึ้นในใจ ยากที่จะลบเลือน หลายคนอยากลืมเหตุการณ์ที่เจ็บปวดนั้น ทั้งที่พยายามลืม แต่กลับกลายเป็น "อยากลืมกลับจำ" อันเกิดจากการย้ำคิดของตนเอง บางครั้งอาจจะออกมาในรูปของความฝัน เป็นฝันร้ายที่เกิดจากรอยแผลในจิตใจ ทั้งหมดทั้งหลายจะมีผลต่อพฤติกรรม และการใช้ชีวิตของทุกคน เช่น เด็กที่เคยตกอยู่ในสถานการณ์สงคราม การสู้รบ การสูญเสียหรือพลัดพรากจากบุคคลที่รัก การประสบอุบัติภัยอย่างรุนแรง การเลี้ยงดูที่ขาดความรัก ความรุนแรงในครอบครัว การถูกทารุณกรรมทุกรูปแบบ ความอดอยากหิวโหย ไร้ที่พึ่ง หรือแม้แต่ความรุนแรงในโรงเรียน การถูกกลั่นแกล้งรังแก ล้วนแล้วแต่จะทำให้เกิดบาด แผลในใจที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพ และลักษณะนิสัยการอยู่ร่วมกันในสังคม จึงต้องมีความเข้าใจกัน เพราะแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัว (Trait) ซึ่งอาจจะเป็นภัยต่อคนรอบข้างได้ เช่น กรณีการกราดยิงที่ ลาสเวกัสเมื่อเร็วๆนี้ หรืออาจจะไม่เป็นภัยกับผู้ใด แต่บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงในบางขณะ เคยมีตัวอย่าง ข้าราชการชายคนหนึ่งมาขอคำปรึกษาด้วยเหตุที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเองอย่างมาก ข้าราชการชายคนดังกล่าวได้เล่าว่า วันหนึ่งเพื่อนสนิทที่มีตำแหน่งงานสูงกว่า และเป็นหัวหน้างานมาตรวจงานอย่างเป็นทางการ ข้าราชการผู้นี้จะต้องกล่าวคำรายงานในวันที่เพื่อนสนิทคนดังกล่าวมา ปรากฏว่าเกิดความประหม่า มือสั่น เสียงสั่น ในขณะที่อ่านรายงาน ทำให้รู้สึกอับอาย และเกิดความสงสัยในตัวเอง ทั้งที่นอกเวลาราชการ ต่างก็เป็นเพื่อนเที่ยวเตร่ดื่มกินด้วยกันมาเป็นประจำ จากเหตุการณ์นี้เมื่อถามประวัติครอบครัว จึงได้ทราบว่า บิดาของข้าราชการชายคนนี้ชอบใช้ความรุนแรง มักจะลงโทษลูกด้วยการทำร้ายร่างกาย เฆี่ยนตี ตบ เตะ ครบทุกรูปแบบ ตามแต่อารมณ์ในขณะนั้น การเติบโตมาด้วยความหวาดกลัวที่ฝังลึกในจิตใจ จึงเป็นที่มาของ "การกลัวผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า" รอยแผลใจที่เป็นแผลเก่านี้ ยากจะลบเลือน อาจจะเกิดขึ้นกับใครหลายๆ คนก็ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมและลักษณะนิสัยในหลากหลายรูปแบบทั้งเก็บตัว ก้าวร้าว ข่มขู่ วางอำนาจ ความหวาดกลัวในจิตใจ เป็นปมที่ทำให้บางคนมีพฤติกรรมเป็นไปในทางลบทำให้เกิดการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม เช่น การใช้กำลังข่มเหงรังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า เป็นข่าวให้เห็นอยู่เป็นประจำ ผู้ที่เป็นเหยื่อทางอารมณ์แน่นอนว่ามักจะเป็นผู้หญิงและเด็ก ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อก็จะเกิดแผลใจไม่รู้จักจบสิ้น ช่วงเวลาไม่นานมานี้ ได้มีข่าวเรื่องของครูหลายกรณี เป็นต้นว่า ครูปาถ้วยกาแฟเซรามิกใส่หน้านักเรียนหญิงจนหน้าเบี้ยวผิดรูป ครูตีเด็กจนเกิดบาดแผลตามร่างกาย ครูตีเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ จนกระดูกร้าว ครูตบเด็กจนฟันหัก ครูข่มขืนเด็ก ครูทำให้เด็กเกิดความอับอาย จนต้องกระโดดตึกฆ่าตัวตาย ฯลฯ นี่เฉพาะครูกับศิษย์ ที่ไม่เป็นข่าวก็มีอีกมาก ครูคือผู้ที่ผู้ปกครองและเด็กไว้วางใจมากที่สุดและมีโอกาสที่สร้างแผลใจให้กับเด็กมากที่สุดเช่นกัน แม้กระทรวงศึกษาธิการจะมีบทลงโทษครู ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แผลใจของเด็กในวัยเรียน โตขึ้นรอยแผลเก่าทับถมทวี ครูเป็นผู้ทำลายชีวิตน้อยๆ อย่างย่อยยับ ถึงเวลาหรือยัง ที่กระทรวง ศึกษาธิการ ควรจะมีการตรวจสอบ และประเมินสุขภาพจิตของครู เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตมนุษย์ ครูที่เปรียบเสมือนเรือจ้าง หากเรือลำนั้น คนพายเรือจิตผิดปกติ กว่าเรือจะถึงฝั่ง คนในเรือต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน มันไม่ยุติธรรม และเป็นผลร้ายต่อการพัฒนาเยาวชนต่อไปในอนาคต ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตทุกรูปแบบที่กล่าวมา ถ้านับเป็นแผลของแต่ละคนที่ประสบในรูปแบบต่างกัน กาลเวลาอาจจะทำให้ลืมเลือนไปได้บ้าง ซึ่งเป็นกลไกทางจิตที่ทำให้ลืมเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ (Survive) แต่บางคนมีรอยเก่าแผลที่ร้าวลึก ยากที่จะลืมเลือนไปได้ จำเป็นต้องประคองชีวิตให้ดีเพื่อมีชีวิตอยู่ในสังคมนี้ให้ได้ด้วยการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่นและมีเมตตาต่อกัน อย่าได้สร้างรอยแผล ให้เกิดกับใครอีกเลย มาร่วมกันสร้างสังคมให้สันติสุข แต่อย่าให้ถึงกับต้องไปตรวจสุขภาพจิตของทุกคนที่อยู่ร่วมกันเลยนะ เพราะไม่มีใครสมบูรณ์แบบ Nobody is perfect (ฝากข้อคิด: รอยแผลเป็นเกิดที่กาย รอยแผลเก่าเกิดที่ใจ) รศ.วันทนา จันทพันธ์ อดีตอนุกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรีฯ วุฒิสภา