​กระทรวงสาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง เตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพประชาชน เฝ้าระวังโรคที่พบบ่อยในฤดูหนาว อาทิ ไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสในเด็ก รวมทั้งโรคที่มากับน้ำท่วม แนะนำดูแลตนเองด้วย ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดี ร่วมกันแถลงข่าว “การดูแลสุขภาพประชาชนช่วงฤดูหนาว” ว่า ขณะนี้ ประเทศไทยสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว หลายพื้นที่มีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงและป่าไม้ ประชาชนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว ขณะเดียวกันบางพื้นที่ในภาคใต้มีฝนตกหนัก น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ทำให้มีโอกาสเกิดโรคติดต่อหลายชนิดเพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง เตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพประชาชน เฝ้าระวังโรคที่พบบ่อยในฤดูหนาว อาทิ ไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสในเด็ก รวมทั้งโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู นอกจากนี้ ในวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายนนี้ เป็นวันลอยกระทง อันตรายที่พบบ่อยคือการบาดเจ็บจากการจราจร การเล่นพลุ ประทัด และการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กและเยาวชน ซึ่งพบสูงสุดในรอบปี โดยเร่งประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ เพื่อลดโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อและภัยสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ​ ด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก หากเกิดโรคจะมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ดำเนินการควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด สำหรับสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยงภัยหนาวและอุทกภัย ให้เตรียมยา เวชภัณฑ์ ให้เพียงพอในการบริการประชาชน รวมทั้งส่งทีมหมอครอบครัวออกเยี่ยมบ้านกลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ ให้ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคที่พบบ่อยในช่วงหน้าหนาวนี้ ขอให้ประชาชนดูแลร่างกายให้อบอุ่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่ดื่มเหล้าแก้หนาว หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หากเป็นหวัด ให้นอนพักอยู่ที่บ้าน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค มีไข้สูง กินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วันให้พบแพทย์ สำหรับให้รีบพบแพทย์รับการรักษาทันที ป้องกันภาวะแทรกซ้อนเช่นปอดบวม สำหรับเทศกาลลอยกระทงให้หน่วยงานในสังกัดจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เตรียมหน่วยแพทย์ปฏิบัติการรองรับผู้บาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุหมู่หรืออุบัติเหตุที่รุนแรง ขอให้ประชาชนระมัดระวังดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการจมน้ำ และการบาดเจ็บจากการเล่นพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟที่พบสูงในช่วงเทศกาลนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ออกประกาศเรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย โดยสถานการณ์โรคที่พบบ่อยของสำนักระบาดวิทยา พบว่าฤดูหนาวที่ผ่านมา ตั้งแต่พฤศจิกายน 2559 – กุมภาพันธ์ 2560 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 51,231 ราย โรคมือเท้าปากในเด็ก 14,454 ราย สำหรับในปี 2560 ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 165,851 ราย เสียชีวิต 43 ราย โรคมือ เท้า ปาก 34,346 ราย เสียชีวิต 3 ราย และโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 195,090ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งจากการสำรวจพบว่าร้อยละ 40-50 เป็นการติดเชื้อโรตาไวรัสและมีแนวโน้มพบมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขตสุขภาพ ได้จัดทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (Situation Awareness Team : SAT) ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และออกสอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในกรณีที่พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน สำหรับภัยสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในหน้าหนาวคือ อุบัติเหตุจากการจราจรในพื้นที่หมอกน้ำค้าง หรือหมอกหนา บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ยานพาหนะ อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย รวมทั้งภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ที่อาจมีใช้ในที่พักบางแห่งในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะเผาไหม้ออกซิเจนเพื่อทำความร้อน ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ออกมา เมื่อสูดดมเข้าไปจะทำให้เม็ดเลือดแดงจับออกซิเจนได้น้อยลง ร่างกายขาดออกซิเจน ทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึม หมดสติ และเสียชีวิตได้ จึงควรตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และการบํารุงรักษาเครื่องทําน้ำอุ่นที่ใช้ระบบแก๊ส และจัดให้มีช่องหรือพัดลมระบายอากาศที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การดูแลสุขภาพในช่วงหน้าหนาวตามหลักการแพทย์แผนไทย ประชาชนสามารถนำภูมิปัญญาไทยและสมุนไพรไทย มาใช้ด้วยตนเองอย่างง่ายๆ เช่น รับประทานอาหารรสเผ็ดร้อน ซึ่งจะช่วยสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย เช่น แกงส้มผักรวม แกงส้มดอกแค ต้มยำ เพิ่มผักต่าง ๆ จำพวกมะเขือเทศ ยอดมะกอก ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดมะขาม ยอดกระเจี๊ยบแดง มะละกอ มะเขือขื่น มะเขือพวง ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน ผักชีฝรั่ง ผักชีหอม ผักชีลาว โหระพา ผักตั้งโอ๋ ตะลิงปลิง มะรุม และผลไม้รสเปรี้ยว มะนาว มะเฟือง มะไฟ สับปะรด ลางสาด มะม่วงดิบ กระท้อน ระกำ มะยม มะเม่า ซึ่งผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงจะช่วยต้านหวัด ขับเสมหะได้ดี รวมทั้งดื่มน้ำสมุนไพร เช่น น้ำกระเจี๊ยบที่ช่วยสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารรสเย็น รสหวาน รสมัน และรสเค็ม เพราะอาจทำให้มีเสมหะมาก นอกจากนี้ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีร่างกายผอม ไขมันน้อย อาจมีปัญหาเรื่องผิวหนังแห้ง แตก ทำให้คัน หรือติดเชื้อได้ง่าย ควรใช้สบู่ ครีม หรือสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาผิวให้ชุ่มชื้น เช่น ชะเอม เทศ ชะเอมไทย เปลือกกล้วยหอม ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ว่านนางคำ เป็นต้น ควรใช้สบู่อ่อน ๆ และใช้ครีมโลชั่น หรือน้ำมันงา น้ำมันมะพร้าวทาผิวหลังอาบน้ำ