ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย จำกัด ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ร่วมทุนยางพาราไทยจำกัด เปิดเผยว่า บริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด มีเงินลงทุนร่วม 1,200 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อยางในราคาชี้นำตลาด โดยราคาที่บริษัทฯ ซื้อจะสูงกว่าตลาดตั้งแต่ 50 สตางค์ไปจนถึง 2 บาท เพื่อประโยชน์จะตกที่เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยตรงที่ได้รับเงินไป เพราะการเข้าซื้อของบริษัทฯ เป็นการซื้อจากตลาดกลางยางพารา ของ กยท. ที่มีเกษตรกรนำยางมาขาย โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้ใช้เงินลงทุนไปแล้วประมาณกว่า 600 ล้านบาท ฉะนั้น การทำงานของบริษัท จะเป็นลักษณะการซื้อมาขายไป เงินที่เข้าซื้อยางเมื่อขายยางได้จะกลับหมุนเวียนเพื่อซื้อยางจากเกษตรกรต่อไป ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การเข้าซื้อยางของบริษัท ร่วมทุนฯ ในตลาดกลางยางพาราทั้ง 6 แห่งของ กยท. ที่หมุนเวียนกันไป คำนึงถึงความเหมาะสมของราคาและจังหวะเข้าซื้อ เพื่อกระตุ้นแรงซื้อและพยุงราคาให้อยู่ในระดับที่ดี นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติให้ขนย้ายยางเก่าออกจากตลาดภายในสัปดาห์ และต่อไปจะปฏิบัติตามระเบียบตลาดกลาง กยท ในการขนยางออกจากตลาดภายใน 1 วัน หากไม่สามารถดำเนินการได้จะต้องเสียค่าปรับตามอัตราของตลาดกลางวางไว้ เพื่อยืนยันว่ากระบวนการจากนี้จะชัดเจน และไม่เป็นภาระเรื่องสต๊อกที่คงค้างในตลาดทุกที่ต่อไป ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า ความไม่เข้าใจของบางกลุ่มว่าการที่บริษัทฯ เข้าซื้อยางในราคาที่สูงนั้น ส่งผลให้ผู้ซื้อรายอื่นไม่มีกำลังซื้อมากพอจะเข้าซื้อยางในตลาด จนชะลอการซื้อ ทำให้เกิดปัญหาราคาตก และเรียกร้องให้ บริษัทร่วมทุนฯ หยุดเข้าซื้อยางในตลาด พบว่า ในระยะ 3 วันที่บริษัทฯ ชะลอการเข้าตลาด ราคายางจาก 51.50 บาท วันนี้ปิดตลาดที่ 46.50 บาท ซึ่งราคาตกลงมา 6 บาท สะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมาบริษัทร่วมทุนฯ ได้สร้างกำลังซื้อในตลาด และมีความตั้งใจจะทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางราคา และอนาคต จะมีการทบทวนผลการดำเนินงานและการปรับกลยุทธ์บางอย่างตามหลักการของกองทุนทั่วไป เจตนาของบริษัทฯ อยากให้ตลาดเดินหน้าซื้อขายต่อไปได้ “บริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด คือ ผู้ซื้อรายหนึ่งในตลาด เพียงแค่ไม่ได้เป็นผู้ซื้อที่มุ่งหวังผลกำไรสูงสุด มีเป้าหมายเพื่อพยุงราคายางให้ดีขึ้น และเพื่อจูงใจให้ตลาดปรับราคาสูงขึ้นอย่าลืมว่ากลไกของตลาดกลางไม่ใช่ทั้งหมดของประเทศ ตลาดกลางยางพาราเป็นเพียงตลาดชี้นำ เพราะฉะนั้น การที่เราต้องการจะมีราคากลางที่ดีขึ้นและการเข้าซื้อเพื่อให้เกิดราคาสูง เพื่อให้เป็นราคาอ้างอิง ทั้งเกษตรกรและโรงงานในทุกพื้นที่นำไปใช้ในการตกลงราคาได้เช่นกัน” ดร.ธีธัช กล่าว