ปัจจุบันโรคสมองเสื่อมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในผู้สูงอายุไทย ซึ่งนพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์เผย การดูแลกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความยากลำบาก ทำให้เครียดทั้งผู้ดูแล -ครอบครัว หรือเจ้าหน้าที่ เนื่องจากไม่สามารถให้การดูแลที่เหมาะสม อีกทั้งมีปัญหาพฤติกรรมของผู้ป่วยที่เป็นภาระผู้ดูแล ครอบครัว เกิดผลกระทบที่มีต่อชุมชนหรือเศรษฐกิจ การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมจำเป็นที่ทั้ง เจ้าหน้าที่ ครอบครัวหรือผู้ดูแล ต้องอาศัยทักษะและองค์ความรู้เฉพาะเพื่อรับมือกับอาการทางพฤติกรรมและจิตที่แปรปรวนและเสื่อมถอยลง ดังนั้น จึงมีการดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูด (Humanitude) ซึ่งเน้นการดูแลที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการรู้คิด ความจำ หรือผิดปกติทางพฤติกรรม สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ยึดหลักการดูแลผู้สูงอายุด้วยความเคารพ-เข้าใจในความเป็นมนุษย์ ดูแลด้วยความรัก ความเข้าใจ เอาใจใส่ ให้ความอบอุ่น อ่อนโยน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี หลักการที่สำคัญคือ 1) การพูด 2) การสบตา 3) การสัมผัส และ 4) การจัดท่าทางแนวตั้งตรง ซึ่งเหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมโดยเฉพาะ นพ.ประพันธ์ พงศ์คณิตานนท์ ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุเผย กรมการแพทย์ สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชฯได้ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย จัดอบรม “การดูแลผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อมด้วยการดูแลแบบฮิวแมนนิจูด ครั้งที่ 2” จากที่ครั้งแรกได้ผลตอบรับอย่างดี มีบุคลากรสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก ครั้งนี้ได้เพิ่มฝึกปฎิบัติจริง เพื่อได้ฝึกทักษะ-เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจัด14-17 พ.ย.นี้ ที่ กรมการแพทย์ และฝึกปฎิบัติจริง ที่สถาบันประสาทวิทยา ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้พัฒนาปรัชญาฮิวแมนนิจูดชาวฝรั่งเศสและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มทักษะดูแลผู้สูงอายุแบบมีระบบ พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น