วานนี้ (16 พ.ย.60) พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี พ.ศ. 2560 ภายใต้แนวคิด “สร้างครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์” อันมีคำขวัญ "หยุด! คำร้าย...ทำลายครอบครัว" รณรงค์ให้ครอบครัวและสังคมมีการสื่อสารเชิงบวกเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ซึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพการจัดงาน โอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ พรชัย มูลพฤกษ์ รองคณบดี และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รณชัย คงสกนธ์ รองคณบดีฝ่ายการคลังและการพัสดุ และผู้อํานวยการศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว (กสค.) ร่วมแถลงข่าว ณ บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล สำหรับ
ประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี”
และนับจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 พม. และ หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อมวลชน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวทั่วประเทศตลอดทั้งเดือน มุ่งแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นำ “ริบบิ้นสีขาว” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลที่แสดงออกถึงการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรี” มาใช้ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวด้วย เนื่องจากความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในหลายมิติของสังคม ส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนคติและค่านิยมที่เลือกปฏิบัติโดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวที่ยังมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมระหว่างบุคคลในครอบครัว และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของครอบครัว และต่อสุขภาพกายและจิตของบุคคลในครอบครัวอีกด้วย
จึงต้องเริ่มที่ครอบครัวต้องมีการสื่อสารเชิงบวกต่อกัน ให้เกียรติกันทั้งทางกายและวาจา ก็จะช่วยลดการเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้ เพราะการสื่อสารต่อกันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดีในการทำให้อีกฝ่ายมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และการสื่อสารในเชิงให้กำลังใจจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้มีความผูกพันรักใคร่ และครอบครัวมีความเข้มแข็งกันมากยิ่งขึ้น" พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าว ซึ่ง พม. โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ทำแบบสำรวจความคิดเห็น 10 คำดีที่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว พบว่า อันดับ 1 เหนื่อยไหม ร้อยละ 20.2 อันดับ 2 รักนะ ร้อยละ 16.1 อันดับ 3 มีอะไรให้ช่วยไหม ร้อยละ 15.2 และ 10 คำร้ายที่ไม่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว พบว่า อันดับหนึ่ง คือ ไปตายซะ/จะไปตายที่ไหนก็ไป ร้อยละ 20.4 อันดับ 2 คำด่า (เลว/ชั่ว) ร้อยละ 19 และอันดับ 3 แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย ร้อยละ 16.5 สุดท้าย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า
ความรุนแรงถือเป็นปัญหาสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และปัญหาด้านความรุนแรงไม่ใช่งานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องให้ความสำคัญมีส่วนร่วมช่วยกัน เพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี พ.ศ. 2560 ตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด สำหรับการจัดกิจกรรมรณรงค์ในส่วนกลาง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เขตจตุจักร ถือเป็นการรวมพลังครอบครัว และพลังทางสังคมในการร่วมแสดงออก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สื่อมวลชน และศิลปินดารา ที่จะมาร่วมรวมพลังในการแสดงออกถึงการยุติความรุนแรงฯ และส่งเสริมให้เกิดพลังทางสังคมให้เกิดแนวทาง “สร้างครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์” กับแนวคิดดี ๆ “หยุด! คำร้าย ...ทำลายครอบครัว” อีกด้วย