สัมภาษณ์พิเศษ/ณัฐพล ศรีภิรมย์...“จิรุตม์ วิศาลจิตร”อธิบดีเจ้าท่าป้ายแดง ผลักดันขนส่งทางน้ำเทียบเท่าอินเตอร์ การเดินทางที่เรียกได้ว่า “สะดวก รวดเร็ว ประหยัด” โดยเฉพาะในช่วงโมงเร่งด่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ ณ เวลานี้ประชาชนใช้บริการเดินทางมากที่สุด คือการเดินทาง “ทางน้ำ” โดย ณ เวลานี้ หน่วยงานที่กำกับดูแลเส้นทางคมนาคมทางน้ำ “กรมเจ้าท่า” ได้ผู้บริหารรุ่นใหม่มาขับเคลื่อนพัฒนาการเดินทางทางน้ำของประชาชน และการขนส่งสินค้าทางน้ำ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ “จิรุตม์ วิศาลจิตร” อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดใจถึงนโยบายในการขับเคลื่อนกรมเจ้าท่าให้เป็นหน่วยงานที่พร้อมในการบริการประชาชน และยกระดับการขนส่งทางน้ำให้เป็นที่ยอมรับในระบบนานาชาติว่า กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานที่สังกัดในกระทรวงคมนาคมหน่วยงานหนึ่งที่รับผิดชอบในเรื่องของการขนส่งทางน้ำ ซึ่งมีขอบเขตในการรับผิดชอบกว้างขวางมาก ถ้าเปรียบเทียบกับทางบก กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ดูแลในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนกรมการขนส่งทางบก ดูแลในเรื่องของผู้ใช้ถนน ขณะที่กรมเจ้าท่าเหมือนได้รวมหน่วยงานเหล่านั้นมารวมกันไว้ในการขนส่งทางน้ำ คือ ต้องดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล เช่น เขื่อนป้องกันตลิ่ง ท่าเรือ และการขุดลอกร่องน้ำเพื่อการสัญจรทางน้ำ และดูแลการสัญจรของเรือ เช่น เรือที่ใช้สัญจรต้องดูแล สำหรับเรื่องค่าโดยสารจะมีการดูแลให้เป็นไปตามระบบต้นทุนที่แท้จริง โดยสิ่งที่มีเป็นผลกระทบหลักคือราคาพลังงานเชื้อเพลิง ดังนั้นการกำหนดอัตราค่าโดยสารจะพิจารณาถึงราคาพลังงานเชื้อเพลิงว่าเป็นอย่างไร ถ้าราคาพลังงานเชื้อเพลิงขึ้น ค่าโดยสารก็ขึ้น ถ้าราคาพลังงานเชื้อเพลิงลดลง ค่าโดยสารก็ต้องลดลง เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งผู้ประกอบการ และประชาชนให้เกิดความปลอดภัย และสะดวกในขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ให้ได้รับความสะดวกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่เรื่องท่าเรือโดยสารในแม่น้ำ ซึ่งรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม เร่งรัดพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจุดที่จะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบทางบก หรือระบบราง โดยจะพัฒนาท่าเรือสาธรให้เป็นโมเดลการเชื่อมโยงหมวดการขนส่งอื่นๆ เพราะเวลานี้มีประชาชนมาใช้บริการท่าเรือสาธรในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก และจะมีการสร้างท่าเรือเช่นนี้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือที่สร้างขึ้นโดยกรมเจ้าท่า หรือภาคเอกชนสร้างนั้น หัวใจสำคัญคือการพัฒนาพื้นที่หลังท่า และระบบเชื่อมต่อ โดยประชาชนจะให้ความสำคัญกับการเดินทางทางน้ำหามีระบบบการเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะที่ดี ส่วนเรื่องความปลอดภัย กรมเจ้าท่าให้ความสำคัญ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานอย่างท่าเรือ ซึ่งเรือจะต้องเทียบท่าตลอดเวลา ฉะนั้นมาตรฐานท่าเรือจะต้องมีความมั่นคง แข็งแรง ต้องมีอุปกรณ์ในความปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่ประจำท่า มีป้ายบอกความจุบนท่าเรือ ขณะที่การสัญจรทางน้ำก็ได้ให้ความสำคัญโดยเรือจะต้องมีการตรวจสอบเรือ และผู้ประกอบการก็ต้องตระหนักในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งกรมเจ้าท่าก็จะเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จิรุตม์ กล่าวต่อว่า เรื่องเทคโนโลยีที่จะนำมากำกับการสัญจรทางน้ำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะทางทะเล เนื่องจากบางแห่งมีการเดินเรือสูงมาก เช่น ศรีราชา แหลมฉบัง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบการช่วยเหลือการเดินเรือโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยไม่ว่าจะเป็นระบบ AIS (Automatic Identification System)หรือ UAIS (Universal Automatic Identification System)เป็นระบบหรืออุปกรณ์แสดงตนอัตโนมัติที่ใช้สำหรับในกิจการ เดินเรือภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ หรือ เครื่องเรดาร์ตรวจการณ์ประจำเรือ (Marine Radar) เพื่อไม่ให้เรือชนกัน และเกิดความไม่ปลอดภัย ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาระบบเหล่านี้ให้เกิดความทันสมัย ทั้งนี้ประสิทธิภาพในการขนส่งทางน้ำไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) หรือ กรมเจ้าท่า วิเคราะห์แล้วว่า การขนส่งทางน้ำเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนถูกที่สุดในระบบโลจีสติกส์ทั้งหมด และที่ผ่ามมาการดูแลในเรื่องการขนส่งทางน้ำขาดการดูแลมานาน สมควรที่จะต้องส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มากขึ้นทั้งผู้โดยสาร และสินค้า โดยเฉพาะสินค้าการลดต้นทุนโลจิสติกส์เป็นเป็นหมายที่สำคัญของรัฐบาล และการขนส่งทางน้ำก็สามารถที่จะลดต้นทุนเรื่องของโลจิสติกส์ได้ ดังนั้นการสัญจรทางน้ำโดยการโหลดสินค้าลงเรือในประเทศจะสัญจรในแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสำคัญ ซึ่งก็จะต้องมีการพัฒนาร่องน้ำ และโครงสร้างพื้นฐาน ให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวกมากขึ้น ส่วนทางทะเลการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และในอนาคตการขนส่งชายฝั่งที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ เช่น การขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบัง ลัดจากอ่าวไทยมุ่งหน้าลงภาคใต้ หรือการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือบางสะพาน สิ่งเหล่านี้จะต้องให้ความสำคัญ และต้องเกิดขึ้นให้ได้ เพราะจะประหยัดต้นทุน และระยะเวลาในการขนส่งสินค้าให้เร็วมากขึ้น จิรุตม์ กล่าวว่า นอกจากนี้กรมเจ้าท่ายังต้องรับผิดชองกับกฎหมายหลายฉบับ โดยกฎหมายหลัก คือ กฎหมายการเดินเรือในหน้าน้ำไทย พ.ศ.2456 เป็นกฎหมายที่เก่าแก่มาก และมีการแก้ไขหลายครั้ง ,พระราชบัญญัติเรือไทย และกฎหมายอื่นๆที่ได้รับการอนุมัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เพราะเรื่องการเดินเรือเป็นเรื่องที่ไม่ใช้เป็นเรื่องภายในประเทศ แต่จะต้องเกี่ยวข้องกับหลายๆประเทศ เพราะฉะนั้นจะต้องมีมาตรฐานหลัก และองค์กรระหว่างประเทศที่กำกับดูแลเรื่องนี้ คือ International Maritime Organization (IMO) ฉะนั้นการดำเนินการต่างๆ ต้องมีมาตรฐาน มีหลักเกณฑ์ ที่ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น การเข้ามาของเรือ การตรวจสอบเรือ มาตรฐานเรือต่างๆ เพราะ IMO จะมาตรวจสอบกรมเจ้าท่าในปี 2563-2564 เช่น การออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การยกระดับมาตรฐาน การตรวจเรือและท่าเรือ และการตรวจแรงงานบนเรือ เพราะฉะนั้นงานที่สำคัญจะต้องมีการปรับตัวเอง และยกระดับงานของกรมเจ่าท่าให้เทียบเท่าหลักสากลให้ได้ในช่วงระยะเวลาที่จะถึงนี้ อีกเรื่องที่สำคัญ และกำลังติดตาม คือ เรื่องกฎหมายการกำกับดูแลสิ่งลุกล้ำลำน้ำ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และเมื่อกฎหมายใหม่กำลังจะมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้ ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดต้องขออนุญาต มีการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับทางราชการ ซึ่งต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ และชัดเจน โดยจะต้องมีผลประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม จิรุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องIllegal Unreported and Unregulated Fishing (IUU) หรือ การทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม โดยกรมเจ้าท่าเข้าไปเกี่ยวข้องในการทำประมงแบบยั่งยืน ซึ่งจะต้องมีการกำกับดูแลชาวประมง หรือ ธุรกิจประมง อยู่ในกรอบที่สะท้อนถึงความยั่งยืน เช่น จำนวนที่จะจับปลาได้จะต้องเหมาะสมกับจำนวนสัตว์น้ำที่เจริญพันธุ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะควบคุม คือควบคุมระบบประมง โดยจะควบคุมเรือประมงให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และบังคับใช้กฎหมายในเรือที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะตรวจสอบในเรื่องของทะเบียนเรือที่มีความชัดเจน นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการจดทะเบียนเรือ การตรวจสอบเรือจะต้องมีความชัดเจน การบันทึกข้อมูลเรือต่างๆ จะต้องไม่มีเรือผิดกฎหมาย เรือสวมทะเบียน เรือดัดแปลงจากขนาดเล็ก เป็นขนาดใหญ่ เพื่อที่จะทำประมงเกินขอบเขตที่ตนเองได้รับอนุญาต อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวได้มีความก้าวหน้าไปได้มาก ในเรื่องการควบคุมและกำกับดูแล และหวังว่าการชี้แจงต่อสหภาพยุโรป (EU) น่าจะสามารถทำได้ เพื่อให้เห็นถึงการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงในระบบการกำกับดูแลเรือประมงของกรมเจ้าท่า ซึ่งคาดว่าทางEU จะประเมินในเรื่องของใบเหลืองที่ประเทศไทยติดอยู่ ในเดือนมีนาคมปีหน้า เช่นเดียวกับเรื่องที่สำคัญ คือ การทำประมงแบบยั่งยืนในอนาคต ทั้งในส่วนของการอนุญาตทำประมง จำนวนเรือที่ใช้ในการทำประมง เพราะในปีหนึ่งจำนวนเรือประมง กับใบอนุญาตทำประมงสอดคล้องกัน สัตว์น้ำจะเจริญพันธุ์ตามรอบก็จะทำให้การทำประมงไทยเป็นไปแบบยั่งยืน